โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ทารกแรกเกิดก็เป็นโรคหัวใจได้
ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพเด็ก
บทความโดย : นพ. สรนนท์ ไตรติลานันท์
หัวใจ คืออวัยวะส่วนที่สำคัญที่สุด ทำหน้าที่สูบฉีดโลหิตเพื่อไปฟอกที่ปอดและสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย หากมีความผิดปกติหรือหัวใจพิการแต่กำเนิด ก็อาจทำให้ทารกแรกเกิดเสียชีวิตตั้งแต่หลังคลอด หรือเมื่อโตขึ้นไม่อาจมีชีวิตได้อย่างปกติได้ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดหลีกเลี่ยงได้ยาก และมีความรุนแรงหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษา ดังนั้นการคอยสังเกตอาการความผิดปกติต่างๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ปกครองไม่ควรมองข้าม เพื่อทำการรักษาได้ทันหากพบว่าทารกแรกเกิด หรือเด็กเล็กมีความเสี่ยง เพราะการที่ได้รับการวินิจฉัยล่าช้า อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนและเป็นสาเหตุให้เกิดการเสียชีวิตได้
รู้จัก...โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด?
โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจหรือหลอดเลือดใกล้หัวใจตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา โดยปกติหัวใจของทารกในครรภ์จะเริ่มสร้างเมื่อทารกมีอายุครรภ์ได้ 5 สัปดาห์ และเสร็จสมบูรณ์เมื่ออายุครรภ์ประมาณ 12 สัปดาห์ การสร้างหัวใจจะถูกกำกับด้วยสารทางพันธุกรรมเรียกว่ายีน อาจแสดงอาการตั้งแต่แรกเกิดหรือเพิ่งเริ่มสังเกตเห็นอาการเมื่อเริ่มโตขึ้น โรคนี้แบ่งออกได้ 2 ชนิด ได้แก่
- ชนิดเขียว: หัวใจและหลอดเลือดผิดปกติทำให้เลือดแดง และเลือดดำผสมกัน จนลำเลียงออกซิเจนไม่ได้ ทำให้อวัยวะต่างๆ ไม่ได้รับออกซิเจนในเลือดเพียงพอ ส่งผลให้เด็กที่เกิดมามีผิวสีเขียวคล้ำ โดยเฉพาะปลายมือ ปลายเท้า ริมฝีปาก จะเห็นได้ชัดขณะที่เด็กดูดนม หรือขณะกำลังร้อง
- ชนิดไม่เขียว: เป็นภาวะที่เลือดมีออกซิเจนเพียงพอแต่กลับไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงร่างกายได้อย่างที่เหมาะสม และหัวใจมีการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ได้น้อยลง เช่น โรคผนังกั้นห้องหัวใจรั่วทั้งบนและล่าง โรคลิ้นของเส้นเลือดไปปอดตีบ โรคเส้นเลือดเกิน ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงมากได้เหมือนคนปกติ ในวัยทารกจะมีอาการเหนื่อยง่ายขณะดูดนม หากโตขึ้นมีการทำกิจกรรมที่หนักอย่างต่อเนื่องอาจทำให้ร่างกาย และสมองขาดออกซิเจน เป็นลมหมดสติได้ง่าย
ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
ส่วนใหญ่ยังไม่ทราบสาเหตุ แต่สันนิษฐานว่าเกิดได้จากหลายปัจจัย ได้แก่
- โรคทางพันธุกรรมบางชนิด ความผิดปกติของพันธุกรรมสามารถส่งผลต่อกระบวนการสร้างหัวใจ ทำให้หัวใจไม่สมบูรณ์ เช่น ดาวน์ซินโดรม เกิดจากการที่เด็กมีโครโมโซมคู่ที่ 21 เกินมา พบว่าประมาณร้อยละ 40 จะทำให้มีความผิดปกติของหัวใจ และ เทอร์เนอร์ซินโดรม เกิดจากการที่โครโมโซมเพศหายไป 1 ตัวในเด็กหญิง พบว่าประมาณร้อยละ 30 มีความผิดปกติที่ลิ้นหัวใจและเส้นเลือดตีบ
- ปัจจัยเสี่ยงของแม่ขณะตั้งครรภ์ เช่น การมีโรคประจำตัวเบาหวาน การเจ็บป่วยและได้รับเชื้อขณะตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก เช่น หัดเยอรมัน ไข้หวัดใหญ่ รวมไปถึงการได้รับยาหรือสารแคมีต่างๆ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
อาการของเด็กหัวใจพิการแต่กำเนิด
อาการของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของความผิดปกติ โรคนี้ไม่ได้พบแค่ในทารกแรกเกิดเท่านั้น แต่ยังสามารถพบได้ในเด็กเล็ก สำหรับเด็กที่ไม่ได้เป็นโรคนี้อย่างรุนแรงอาการอาจจะไม่แสดงออก แต่สามารถสังเกตอาการได้ในภายหลัง โดยมีลักษณะ ดังนี้
- อาการเขียว ในเด็กแรกเกิดจะสามารถสังเกตได้จากบริเวณเยื่อบุบริเวณริมฝีปาก ลิ้น เยื่อบุตา หรือใต้เล็บ ในเด็กเล็กที่เริ่มมีอาการเขียว อาจเห็นว่าปลายนิ้วมือมีสีแดงม่วงกว่าส่วนอื่น
- เสียงหัวใจเต้นผิดปกติ ซึ่งสามารถตรวจโดยแพทย์เฉพาะทาง
- มีเหงื่อออกมากโดยเฉพาะบริเวณศีรษะ โดยไม่ได้สัมพันธ์กับเสื้อผ้าที่หนา หรืออากาศร้อน
- เหนื่อยง่าย ในเด็กแรกเกิดสังเกตได้จากการดูดนมใช้เวลานานกว่าปกติ ในเด็กโตขึ้นจะมีอาการเหนื่อยง่ายเวลาออกกำลังกาย หายใจหอบ หรือต้องนอนศีรษะสูง
- ตัวเล็ก เลี้ยงไม่โต น้ำหนักไม่ขึ้นตามเกณฑ์ หรือพัฒนาการทางกล้ามเนื้อช้า
- หน้ามืด เป็นลม
- หัวใจเต้นเร็วและแรงกว่าปกติ มีการกระเพื่อมของหน้าอกซ้ายด่านล่าง แถวๆ ใกล้ราวนม คล้ายกลองที่ถูกตี
การตรวจวินิจฉัยหัวใจพิการแต่กำเนิด
การตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจในเด็กโดยกุมารแพทย์โรคหัวใจสามารถทำได้หลายวิธี โดยขั้นตอนการตรวจจะเริ่มจากการตรวจร่างกายเบื้องต้น เช่น การตรวจร่างกายฟังเสียงหัวใจ การวัดปริมาณออกซิเจนในร่างกายที่มือและเท้าทั้ง 2 ข้าง สามารถใช้ตรวจคัดกรองโรคหัวใจในเด็กได้ตั้งแต่แรกเกิด หลังจากนั้นกุมารแพทย์โรคหัวใจจะพิจารณาการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เช่น การทำเอกซเรย์ทรวงอกและปอด เพื่อดูขนาดหัวใจ และดูลักษณะของเส้นเลือดในปอด การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) เพื่อดูจังหวะการเต้นของหัวใจความผิดปกติของขนาดห้องหัวใจ การอัลตราซาวด์หัวใจ และการสวนหัวใจ เป็นการสอดท่อขนาดเล็กเพื่อตรวจดูการทำงานของหัวใจ เป็นต้น
โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดรักษาอย่างไร
การรักษาขึ้นอยู่กับอาการ และความรุนแรงของผู้ป่วยด้วย ได้แก่
- การรักษาด้วยยา จะเป็นการรักษาเพื่อประคับประคองการทำงานที่ผิดปกติของหัวใจในรายที่หัวใจมีความผิดปกติไม่มากและหายเองได้ ได้แก่ กลุ่มยารักษาภาวะหัวใจล้มเหลว เพื่อควบคุมอาการทางหัวใจ เช่น ในกรณีที่มีผนังกั้นห้องหัวใจด้านล่างรั่ว ซึ่งเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดที่พบบ่อยที่สุด
- การรักษาด้วยการสวนหัวใจ สามารถรักษาโดยการใส่อุปกรณ์พิเศษเพื่อปิดรูรั่ว ใช้รักษาโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดมีรูรั่วระหว่างผนังกั้นห้องหัวใจด้านล่าง และด้านบน โรคหัวใจที่มีเส้นเลือดแดงเกินผิดปกติระหว่างปอดและหัวใจ การใส่บอลลูนเพื่อขยายลิ้นหัวใจและหลอดเลือดที่ตีบ และใส่ขดลวดเพื่อขยายส่วนที่ตีบได้ ในโรคลิ้นหัวใจเส้นเลือดไปปอดตีบ ลิ้นหัวใจเส้นเลือดไปร่างกายตีบ เส้นเลือดไปปอดตีบ เป็นต้น
- การรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อแก้ความผิดปกติ ในกรณีเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดเขียว หรือ การผ่าตัดปิดผนังกั้นห้องหัวใจด้านล่างที่รั่ว
โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดเป็นได้ตั้งแต่ไม่มีอาการจนถึงอาการรุนแรง การตรวจเช็คว่าลูกน้อยเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดหรือไม่จึงมีความสำคัญ เด็กที่สงสัยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดควรได้รับการตรวจวินิจฉัยและการดูแลรักษาอย่างถูกต้องและรวดเร็วโดยกุมารแพทย์โรคหัวใจ เพื่อให้ผู้ป่วยเด็กกลุ่มนี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
บทความทางการแพทย์ศูนย์สุขภาพเด็ก