โรคเรื้อรัง ปัจจัยเสี่ยงที่อาจนำไปสู่ “โรคหัวใจ”
ศูนย์ : ศูนย์หัวใจ
บทความโดย : นพ. ศิรพัชร์ พูนวุฒิกุล
เนื่องจากปัจจุบัน พฤติกรรมการใช้ชีวิตในแต่ละวันได้เปลี่ยนแปลงไป ทั้งเรื่องอาหารการกิน การดื่มแอลกอฮอล์มาก การออกกำลังกายน้อย ความเครียดจากการทำงาน ทำให้สุขภาพร่างกายถูกทำลายไปเรื่อยๆ ส่งผลให้เกิดโรคเรื้อรังต่างๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน โรคอ้วน และโรคไต ซึ่งหลายคนอาจมองว่าโรคเรื้อรังเหล่านี้ไม่ร้ายแรง แต่รู้หรือไม่ว่าโรคเรื้อรังเหล่านี้ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการเกิดโรคหัวใจในอนาคต และอาจเสี่ยงต่อภาวะรุนแรงที่ส่งผลถึงขั้นเสียชีวิตเฉียบพลันได้
ความดันโลหิตสูง
โรคความดันโลหิตสูง ไม่เพียงแต่เกิดขึ้นกับวัยสูงอายุเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นในวัยผู้ที่มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ ที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกต้อง โดยโรคความดันโลหิตสูง นั้นสามารถกระตุ้นให้กระบวนการสะสมไขมันที่ผนังหลอดเลือดเกิดขึ้นได้เร็ว อีกทั้งยังทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น เนื่องจากต้องสูบฉีดโลหิตแรงขึ้นสำหรับไปหล่อเลี้ยงให้ทั่วร่างกาย ซึ่งเมื่อมีความดันโลหิตที่ผิดปกติส่งผลให้หัวใจโต หลอดเลือดหัวใจหนาและแข็งตัวขึ้น ผู้ป่วยจะเกิดอาการเจ็บหน้าอกจากภาวะหัวใจขาดเลือดได้
ไขมันในเลือดสูง
พฤติกรรมการรับประทานอาหารประเภทไขมันสูง ไขมันทรานส์ คอเลสเตอรอลสูง เช่น เค้ก เบเกอรี่ เนื้อสัตว์ติดมัน ชีส อาหารสำเร็จรูป ฟาสต์ฟู้ด ขาหมู หมูสามชั้น หนังสัตว์ทอด แกงกะทิต่างๆ และอาหารปิ้งย่าง เมื่อรับประทานอาหารประเภทนี้เข้าไปในปริมาณมาก และต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้เกิดการสะสมคอเลสเตอรอลในหลอดเลือดหัวใจ ยิ่งมีในปริมาณที่มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสพัฒนา และเติบโตของโรคหัวใจมากขึ้น จนไปอุดตันในหลอดเลือดหัวใจทำให้หลอดเลือดตีบและอุดตัน และเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้
เบาหวาน
ผู้ที่เป็นเบาหวานมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่าหรือรุนแรงกว่าผู้ที่เป็นโรคอื่นเนื่องจาก การมีระดับน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นทำให้เกิดความเสื่อมของผนังหลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย ภาวะเบาหวานทำให้มีสารบางชนิดเพิ่มสูงขึ้นในเลือด สารต่างๆ ทำให้เกิดหลอดเลือดแดงเสื่อมได้เพิ่มขึ้น ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 อาจจะมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน และมักจะมีปัจจัยเสี่ยงร่วมด้วย เช่น ภาวะไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูงและมีโรคอ้วน การแข็งตัวของเลือดผิดปกติระดับอินซูลินในเลือดสูง ส่งผลทำให้หลอดเลือดมีโครงสร้างและหน้าที่ผิดปกติไป หลอดเลือดต่างๆ ที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจเกิดอักเสบ มีโอกาสปริแตกทำให้มีลิ่มเลือดอุดตันอย่างฉับพลันได้
โรคอ้วน
โรคอ้วน โดยเฉพาะผู้ที่อ้วนลงพุงมีสะสมของไขมันบริเวณช่องท้องมากเกินไป มีอัตราเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังและเป็นอันตรายต่อการทำงานของหัวใจเป็นอย่างมาก ตั้งแต่ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน และโรคหลอดเลือดหัวใจ เนื่องจากระดับของไขมัน คอเลสเตอรอล และดัชนีมวลกาย ที่สูงกว่าปกติ ล้วนมีผลต่อผนังหลอดเลือดที่หนาขึ้น หลอดเลือดแดงจึงตีบแคบ เกิดหลอดเลือดอุดตัน กลายเป็นภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย กระทั่งหัวใจขาดเลือด และเสียชีวิตอย่างกะทันหันได้
โรคไต
ผู้ป่วยที่เป็นโรคไตเป็นระยะเวลานานจนไตเสื่อม ไม่สามารถขับของเสียและสารพิษออกจากร่างกายได้ จนนำไปสู่ภาวะมีของเสียคั่งค้างในร่างกาย เป็นสาเหตุที่ทำให้หัวใจทำงานไม่ปกติ จนเกิดเป็นโรคหัวใจได้ และที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่เป็นโรคไตมานาน มักจะเกิดภาวะ ความดันโลหิตสูงซึ่งถ้าไม่ได้รับการควบคุมที่ดีจะนำไปสู่การเกิดภาวะหัวใจโต
การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อควบคุมโรคเรื้อรังที่เป็นอยู่ไม่ให้รุนแรงไปกว่าเดิม ก็เท่ากับว่าได้ป้องกันการเกิดโรคหัวใจ รวมทั้งการปรึกษาแพทย์ตรวจร่างกาย ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เพื่อที่จะได้มีร่างกายที่แข็งแรงห่างไกลจากโรคหัวใจ
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์หัวใจ