โรคไหลตาย ภัยเงียบที่ซ่อนเร้น ทำให้เสียชีวิตฉับพลันขณะนอนหลับ

ศูนย์ : ศูนย์หัวใจ

บทความโดย : พญ. พัชรี ภาวศุทธิกุล

โรคไหลตาย ภัยเงียบที่ซ่อนเร้น ทำให้เสียชีวิตฉับพลันขณะนอนหลับ

โรคไหลตาย การนอนหลับพักผ่อนที่ทำให้คุณไม่มีวันตื่น เป็นภาวะเสียชีวิตฉับพลันโดยไม่ทราบสาเหตุขณะนอนหลับ เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ถูกถ่ายทอดมา ทำให้ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะขั้นรุนแรงและสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ได้ไม่เพียงพอ จึงทำให้เสียชีวิตกะทันหันได้ มักพบในผู้ชายบ่อยกว่าผู้หญิง ในช่วงอายุ 25-50 ปี และพบได้แม้จะมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง หรือไม่เคยเป็นโรคใดๆ มาก่อนก็ตาม


โรคไหลตาย เป็นอย่างไร

โรคไหลตาย เป็น โรคทางกรรมพันธุ์ที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น โดยทางการแพทย์เรียกภาวะนี้ว่า กลุ่มอาการบรูกาดา (Brugada Syndrome) เกิดขึ้นจากความผิดปกติทางพันธุกรรมของการนำเกลือแร่โซเดียมเข้าออกเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจทำงานผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะขั้นรุนแรง ทำให้การสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ได้ไม่เพียงพอแบบกะทันหัน มักเกิดขึ้นในระหว่างนอนหลับ ส่งผลให้หมดสติและเสียชีวิตในระยะเวลาอันรวดเร็ว

โดยโรคไหลตาย สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ผู้ป่วยที่มีพันธุกรรมโรคไหลตาย มีโอกาสเกิดอาการมากขึ้น ได้แก่

  • ภาวะร่างกายขาดแร่ธาตุโพแทสเซียม
  • การขาดสารอาหารที่เป็นวิตามินบี 1 อย่างรุนแรงเฉียบพลัน
  • มีภาวะไข้สูง
  • การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • การใช้ยานอนหลับเป็นประจำ

อาการแสดงของโรคไหลตาย

โรคไหลตายมักจะเสียชีวิตฉับพลันขณะหลับในเวลากลางคืนโดยไม่ทราบว่ามีอาการผิดปกติ แต่ในบางรายอาจจะมีอาการนำมาก่อน โดยหากผู้ป่วยที่ยังรู้สึกตัวหรือคนใกล้ตัวพบเห็นอาการผิดปกติ คือ อาการหมดสติ เป็นลม แล้วนอนๆ อยู่หมดสติไป อาจจะมีอาการเกร็งของแขนและขา หายใจเสียงดัง หรือมีเสียงเฮือกขึ้นมาเหมือนหิวอากาศ อาจคล้ายๆ กับการกระตุก หรือลมชัก แต่ในความเป็นจริงแล้วอาจจะเกิดจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และอาจมีอาการปัสสาวะและอุจจาระราด ใบหน้าและริมฝีปากเขียวคล้ำ ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด


ใครบ้างเสี่ยงเกิดโรคไหลตาย

  • ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเสียชีวิตเฉียบพลันก่อนวัยอันควร หรือเคยมีอาการที่บ่งชี้ว่ามีโอกาสเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ผู้ที่เป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะตั้งแต่กำเนิด
  • ผู้ที่ตรวจพบคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติชนิดบรูกาดา

การตรวจวินิจฉัยโรคไหลตาย

ผู้ที่มีความเสี่ยงควรเข้ารับการซักประวัติโดยแพทย์ ตรวจร่างกายเบื้องต้น พร้อมด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) เพื่อดูลักษณะคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่บ่งชี้กลุ่มอาการบรูกาดาหรือไม่ รวมไปถึงการตรวจพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติม ตามแพทย์พิจารณา เช่น

  • การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (echocardiography) เพื่อตรวจดูโครงสร้างของหัวใจว่าปกติหรือไม่
  • การตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ เป็นการตรวจระบบไฟฟ้าในหัวใจโดยการใส่สายเข้าไปตรวจภายในหัวใจ ในรายที่สงสัยว่ามีอาการบรูกาดา
  • การติดเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพกติดตัว (Holter Monitoring) ตลอด 24 ชม.เป็นการตรวจติดตามภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • การตรวจทางพันธุกรรม (Genetic testing)เพื่อดูการกลายพันธุ์ในสารพันธุกรรมที่บ่งชี้ความเสี่ยงในการเกิดโรคไหลตาย

สามารถรักษาโรคไหลตายได้ย่างไร

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคนี้ แต่จะมุ่งเป้ารักษาผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะแทน เพื่อไม่ให้เกิดโรคไหลตาย ได้แก่

  1. การผ่าตัดฝังเครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้า (Implantable Cardioverter Defibrillator: ICD) โดยฝังเครื่องไว้บริเวณหน้าอกด้านซ้ายซึ่งเครื่องนี้ทำงานด้วยการส่งกระแสไฟฟ้าไปกระตุ้นให้หัวใจเต้นกลับมาเป็นปกติ เมื่อมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะเกิดขึ้น
  2. การจี้ด้วยไฟฟ้าผ่านคลื่นเสียงความถี่สูง (Electro Physiologic Study and Radiofrequency Ablation) รักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะโดยไม่ต้องผ่าตัด ไม่มีแผลจากการผ่าตัด ไม่ต้องใช้ยาสลบและไม่เจ็บตัวขณะที่ทำการรักษา
  3. การใช้ยาควบคุมการเต้นของหัวใจ ขึ้นอยู่กับแพทย์เป็นผู้พิจารณา โดยอาจใช้เป็นการรักษาเสริมหลังผู้ป่วยผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจแล้ว
ทั้งนี้ โรคไหลตายมักจะเสียชีวิตแบบเฉียบพลันขณะหลับในเวลากลางคืนโดยที่ไม่เคยมีอาการผิดปกติใดๆ เตือนมาก่อน และคนรอบข้างไม่ทันรู้ตัว ฉะนั้นการป้องกันการเกิดโรคไหลตายจึงเป็นสิ่งสำคัญ หากผู้ใดมีความเสี่ยง มีอาการที่น่าสงสัย หรือมีประวัติครอบครัวเป็นโรคดังกล่าว ควรเข้ารับการปรึกษาแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจตรวจวินิจฉัย ประเมินความเสี่ยงต่างๆ รวมไปถึงการรักษาที่เหมาะสมต่อไป



พญ.พัชรี ภาวศุทธิกุล
แพทย์อายุรศาสตร์/อายุรศาสตร์โรคหัวใจ
ศูนย์หัวใจ






ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย




Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย