3 โรคสำคัญในผู้ใหญ่ คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ป้องกันด้วยวัคซีน Tdap
ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพนครธน
บทความโดย : พญ. ณัฐกา กาญจนพนัง
ส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า ผู้ใหญ่ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนอีก เพราะตอนเป็นเด็กฉีดวัคซีนครบแล้ว ร่างกายก็คงมีภูมิคุ้มกันโรคอยู่แล้ว แต่มีเหตุผลหลายประการที่วัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ยังคงต้องรับวัคซีนบางชนิด โดยเฉพาะวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก อย่างเช่น โรคไอกรน ซึ่งเป็นโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจจากแบคทีเรียเมื่อเกิดในผู้ใหญ่ อาจแพร่เชื้อไปยังเด็กเล็กได้ ซึ่งอาการมักจะรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ โดยการได้รับวัคซีนจะเป็นการป้องกันที่ได้ผลดีและป้องกันการระบาดของโรคได้
3 โรคติดต่อผู้ใหญ่ ที่ต้องระวัง
โรคคอตีบ (Diphtheria)
เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ติดต่อได้ง่ายจากการสัมผัสถูกสารคัดหลั่งหรือละอองฝอยที่อยู่ในน้ำลาย เสมหะ หรือน้ำมูกของผู้ป่วยหรือพาหะ หากมีการหายใจ ไอ จามรดกัน ซึ่งเชื้อนี้มีระยะฟักตัวประมาณ 1-7 วัน เมื่อมีการติดเชื้อแล้วจะทำให้ลำคออักเสบรุนแรง เกิดเป็นพังพืดอุดกั้นทางเดินหายใจ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน อาจทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและประสาทอักเสบได้ อุบัติการณ์ของคอตีบพบมากในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่ได้จากการฉีดวัคซีนในวัยเด็กลดลง
อาการโรคคอตีบ
เมื่อติดเชื้อจะมีไข้ต่ำ ๆ ปวดศีรษะ ครั่นเนื้อครั่นตัว เจ็บคอ กลืนลำบาก ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอโต คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลียมาก ถ้ามีอาการอักเสบของกล่องเสียง จะมีอาการไอ เสียงแหบ บางรายหากอาการรุนแรงอาจมีอาการหายใจลำบากและเสียชีวิตได้
โรคไอกรน (Pertussis)
เป็นโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ที่เรียกว่า เชื้อไอกรน ซึ่งมีอยู่ในคอของผู้ป่วยที่เป็นโรคในระยะแรก มีการแพร่กระจายโดยการสัมผัสกับสารคัดหลั่งโดยตรงจากผู้ที่ป่วย ทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุทางเดินหายใจ โดยมีระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน ทำให้มีอาการไอมาก จนหายใจลำบาก
อาการโรคไอกรน
อาการช่วงแรก คล้ายไข้หวัด มีไข้ต่ำ ๆ จาม มีน้ำมูก จากนั้นจะมีการไอเป็นชุด ๆ ซึ่งอาการไอมักรุนแรงต่อเนื่องเกิน 3 สัปดาห์ จนผู้ป่วยรู้สึกเหนื่อยและเพลียมาก อาจพบหลอดเลือดดำที่คอโป่งพองจนมองเห็นได้ชัด หรือมีเส้นเลือดในตาขาวแตกหรือปัสสาวะเล็ดได้ สำหรับผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนหรือได้รับไม่ครบตามกำหนด อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนถึงชีวิตได้
โรคบาดทะยัก (Tetanus)
โรคบาดทะยักเป็นโรคที่เกิดจากสารพิษจากแบคทีเรียที่ชื่อว่าบาดทะยัก ซึ่งถือว่ามีความรุนแรงและก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดต่อผู้ป่วย ที่ส่งผลต่อระบบประสาททำให้กล้ามเนื้อบริเวณกรามและคอมีอาการกระตุก เมื่อสารพิษเข้าสู่ระบบประสาทจะใช้เวลาหลายเดือนในการฟื้นตัวจากการติดเชื้อบาดทะยัก โดยหลังจากที่แบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผล จะเริ่มแสดงอาการตั้งแต่สองสามวันแรกและอาจกินระยะเวลาหลายสัปดาห์ ระยะฟักตัว 5 วัน - 15 สัปดาห์ แต่พบมากระหว่าง 6-15 วัน
อาการโรคบาดทะยัก
อาการโรคบาดทะยัก ได้แก่ เริ่มแรกจะมีอาการปวดและเกร็งกล้ามเนื้อเป็นระยะ ภาวะกรามติด กล้ามเนื้อคอแข็ง ปัญหาการกลืน กล้ามเนื้อท้องแข็ง การเกร็งของกล้ามเนื้อในร่างกายที่สร้างความเจ็บปวดและกินเวลาหลายนาที โดยเฉพาะการเกร็งของกล้ามเนื้อช่วยหายใจ จะทำให้หายใจลำบากและสียชีวิตได้ การกระตุกของกล้ามเนื้อจะถูกกระตุ้นด้วยการกระตุก เสียงดัง การสัมผัส หรือแสงจ้า เหงื่อออก ความดันโลหิตสูง และหัวใจเต้นเร็ว
วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก (Tdap)
ปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ชนิดไร้เซลล์ Tdap หรือ TdaP เป็นวัคซีนมาตรฐานที่เด็กทุกคนจะต้องได้ฉีด แต่หลังจากที่ได้รับวัคซีนครบ 5 เข็ม เมื่ออายุครบ 10 ปี ภูมิคุ้มกันจะเริ่มลดน้อยลง จึงควรฉีดกระตุ้นอีกครั้งตั้งแต่อายุ 10-18 ปี โดยวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ทำมาจากพิษของเชื้อคอตีบ เชื้อบาดทะยัก และส่วนประกอบของเชื้อไอกรน ซึ่งไม่ทำให้เกิดโรคในผู้ที่ได้รับวัคซีน ใช้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อบริเวณต้นแขน
ใครบ้างควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก (Tdap)
นอกจากเด็กแล้ว วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ ก็ควรได้รับการฉีดวัคซีนเช่นเดียวกัน โดยมีคำแนะนำดังนี้
- ช่วงอายุ 11 - 18 ปี แนะนำให้ฉีด Tdap ตอนอายุ 11 หรือ 12 ปี (เด็กที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน DTaP ให้ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 7 ปี) สำหรับเด็กและวัยรุ่นที่ฉีด DTaP ไม่ครบทุกเข็มตอนอายุ 7 ปีควรฉีดวัคซีนที่มีส่วนผสมของ Td (วัคซีนรวมบาดทะยัก คอตีบ) และ Tdap ให้ครบทุกเข็ม
- ช่วงอายุ 19 - 64 ปี แนะนำให้ฉีดTdap อย่างน้อย 1 ครั้งในช่วงชีวิต หลังจากนั้นฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก คอตีบ ไอกรน (Tdap) หรือ วัคซีนป้องกันบาดทะยัก คอตีบ (Td) ทุก 10 ปี
- ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป อาจฉีด Tdap กระตุ้นเพียง 1 เข็ม
- ผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุที่ไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน ควรฉีดวัคซีนที่มีส่วนประกอบของคอตีบและบาดทะยัก อย่างน้อย 3 เข็ม โดย
- เข็มที่ 1 เริ่มได้เลย
- เข็มที่ 2 ห่างจากเข็ม 1 อย่างน้อย 1 เดือน
- เข็มที่ 3 ห่างจากเข็ม 2 อย่างน้อย 6 เดือน
ทั้งนี้แนะนำให้ฉีดเข็มแรกเป็นวัคซีนโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน (Tdap) เข็มที่ 2 และ เข็มที่ 3 อาจฉีดเป็น คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน (Tdap) หรือ คอตีบและบาดทะยัก (Td) ก็ได้
ผลข้างเคียง
อันตรายหรืออาการแพ้อย่างรุนแรงจากวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรนชนิดไร้เซลล์ (Tdap) พบได้น้อยมาก แต่อาจส่งผลกระทบข้างเคียงขึ้นได้ เช่น บวมบริเวณที่ฉีด ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ แต่อาการมักไม่รุนแรง สามารถหายเองภายใน 2-3 วัน
ใครที่ควรงดหรือหลีกเลี่ยงการฉีดวัคซีน
- ผู้ที่เคยมีอาการแพ้อย่างรุนแรง
- ผู้ที่เคยมีความผิดปกติทางสมอง เช่น โคม่า ระดับความรู้สึกตัวลดลง ชักเป็นเวลานาน โดยไม่ทราบสาเหตุ ภายใน 7 วัน หลังได้รับวัคซีนเข็มก่อน
- ผู้ที่มีไข้ หรือป่วยเฉียบพลัน ควรเลื่อนการรับวัคซีนออกไปก่อน รอให้หายป่วยจึงค่อยมารับวัคซีน
- กรณีเป็นหวัดเล็กน้อย แต่ไม่มีไข้ สามารถรับวัคซีนได้
วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรนชนิดไร้เซลล์ Tdap เป็นโรคติดเชื้อที่สามารถติดต่อได้ผ่านทางการสัมผัสจากสิ่งแวดล้อม หรือผู้ที่มีเชื้อนี้อยู่ ซึ่งทั้ง 3 โรคนี้ มีความรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ ฉะนั้นการฉีดวัคซีนจึงเป็นอีกวิธีที่ช่วยลดป้องกันความเสี่ยงจากโรคเหล่านี้ได้
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์สุขภาพนครธน