6 คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยไตเทียม กินอย่างไรให้พอดี?
ศูนย์ : ศูนย์อายุรกรรม
สำหรับผู้ป่วยไตเทียมจะต้องมีการควบคุมปริมาณโปรตีนให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย เพื่อให้ได้พลังงานเพียงพอกับความต้องการของร่างกายและป้องกันสภาวะขาดสารอาหาร นอกจากนี้ยังต้องควบคุมให้ปริมาณโซเดียมและโปเเตสเซียมอยู่ในระดับปกติ เพื่อควบคุมอาการบวม ความดันโลหิตสูง ป้องกันอาการแทรกซ้อนต่างๆ ที่เกิดขึ้น และเพื่อให้ผู้ป่วยมีสุภาพดี สามารถใช้ชีวิตและการทำงานได้ตามปกติ เพราะฉะนั้นเราจึงควรรู้จักการบริโภคที่ถูกต้องดังนี้
1. โปรตีน
โปรตีนเป็นส่วนประกอบของกล้ามเนื้อและเนื้อเยื้อทั่วร่างกาย ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดของเสียซึ่งจะถูกขับออกทางไต ถ้าไตเสื่อมจะทำให้ของเสียคั่งและไปสะสมตามอวัยวะต่างๆ ทำให้อวัยวะต่างๆ ทำงานผิดไป
ดังนั้นผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกเลือดควรได้รับโปรตีนในปริมาณที่เหมาะสมเนื่องจากร่างกาย ควรรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูงจำพวกไข่ขาว รับประทานไข่ขาววันละ 2 ฟอง เนื่องจากย่อยและดูดซึมง่าย เนื้อสัตว์ แต่ควรเป็นชนิดไม่ติดมันและหนัง ทางที่ดีควรเลือกบริโภคจำพวกเนื้อปลา เพราะย่อยง่าย มีไขมันอิ่มตัวน้อย ทั้งนี้ควรหลีกเลี่ยงอาหารโปรตีนคุณภาพต่ำ เช่น เนื้อแดง เนื้อที่ถูกแปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน ถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ
2. คาร์โบไฮเดรต
คาร์โบไฮเดรตเป็นอาหารที่ให้พลังงาน ซึ่งต้องได้รับให้เพียงพอ เพื่อป้องกันไม่ให้ร่ายกายนำโปรตีนมาเผาผลาญเป็นพลังงาน โดยผู้ป่วยที่มีน้ำหนักปกติควรได้รับข้าวสุกมื้อละ 3 ทัพพี อาจสลับกับก๋วยเตี๋ยว ขนมจีน ถ้าเลือกก๋วยเตี๋ยวสามารถรับประทานได้มื้อละ 1-2 ชาม
3. โซเดียม
ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังควรรับประทานอาหารจำกัดเกลือหรืออาหารจำกัดโซเดียม เพราะอาจทำให้เกิดความดันโลหิตสูงและการบวมตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย อาหารที่มีโซเดียมมากซึ่งควรหลีกเลี่ยงหรือรับประทานน้อย ได้แก่ น้ำปลา ซีอิ๊ว ซอส ซอสปรุงรส หรือผงชูรส อาหารหมักดอง
4. โปแตสเซียม
เนื่องจากโปแตสเซียมถูกขับออกทางไต กรณีที่ไตเสื่อมทำให้เกิดการคั่งของโปแตสเซียม ถ้าระดับโปแตสเซียมสูงมาก จะทำให้เกิดความผิดปกติในการเต้นของหัวใจ การหดคลายตัวของกล้ามเนื้อผิดปกติ ทั้งนี้โปแตสเซียมเป็นสารอาหารที่มีมากในผักและผลไม้ ถ้าโปแตสเซียมในร่างกายมากกว่าหรือเท่ากับ 5.5 mg/dl ควรจำกัดผลไม้ทุกชนิด ผักใบเขียว ผักประเภทหัว เช่น เผือก มันฝรั่ง เป็นต้น
5. ฟอสฟอรัส
ผู้ป่วยไตวายมักมีปัญหาเรื่องการขับถ่ายฟอสฟอรัส ซึ่งถ้ามีปริมาณฟอสฟอรัสมากและแคลเซียมต่ำจะกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งพาราไทรอยด์ออกมา ทำให้มีการสลายแคลเซียมจากการกระดูกเสื่อม ปวดกระดูก กระดูกเปราะบางและหักง่าย ส่วนอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง ได้แก่ ถั่วเมล็ดแห้ง ธัญพืชต่างๆ ปูม้า ปลาซาดีน ปลาไส้ตัน น้ำอัดลม โยเกิร์ต ช็อคโกแลต ชา กาแฟ เครื่องในสัตว์ ไข่แดง เนยแข็ง และนม
6. น้ำดื่ม
ป่วยไตวายเรื้อรังจะมีปัญหาเรื่องการขับปัสสาวะลดลงหรือขับไม่ได้เลย ทำให้มีของเหลวคั่งในร่างกาย เกิดอาการบวมและเกิดภาวะน้ำท่วมปอดได้ ดังนั้นผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องควบคุมปริมาณน้ำให้พอดี โดยพิจารณาจากจำนวนปัสสาวะของวันที่ผ่านมาและพิจารณาน้ำที่ได้จากอาหารในแต่ละมื้อ สำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แม้จะไม่มีผลต่อไตโดยตรง แต่ไม่แนะนำให้ดื่มเป็นประจำ เพราะมีผลต่ออวัยวะอื่นๆ ได้ ซึ่งจะทำให้เฉพาะตับดูดซึมวิตามินลดลง และสุขภาพทรุดโทรม ในขณะที่บางคนอาจมีปัญหาเรื่องการควบคุมระดับความดันโลหิต
สรุปได้ว่าผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ได้รับการรักษาด้วยการฟอกเลือดด้วยไตเทียม ควรปฏิบัติตัวในการเลือกรับประทานอาหาร ดังนี้
- รับประทานปลา ไข่ขาว เนื้อไก่ เนื้อหมู กุ้ง เป็นประจำทุกมื้อในปริมาณให้มากเพียงพอไม่ต้องจำกัดเหมือนผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะที่ยังไม่ได้ฟอกเลือด
- รับประทานข้าว ก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง หรือแป้งอื่นๆ ให้เพียงพอทุกมื้อ
- รับประทานอาหารรสอ่อน ไม่เค็ม หลีกเลี่ยงอาหารหมักดองเค็มและไม่เติมเกลือ น้ำปลา ซอสปรุงรสเค็ม
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเครื่องในสัตว์ ไข่แดง ถั่วเมล็ดแห้ง รวมทั้งเมล็ดฟักทอง เมล็ดทานตะวัน
- รับประทานเนื้อสัตว์ไม่ติดมันหรือหนัง (เน้นเนื้อขาวมากกว่าเนื้อแดง)
- เลือกใช้น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วลิสง ในการประกอบอาหารผัดหรือทอด หลีกเลี่ยงอาหารใส่กะทิ
- เลือกรับประทานผักสีอ่อนๆ เช่น บวบ แตงกวา ฟักเขียว มะระ
- เลือกรับประทานผลไม้ที่มีโปรแตสเซียมต่ำ เช่น องุ่น ชมพู่ แอปเปิ้ล ตามปริมาณที่แนะนำระหว่างหรือหลังการฟอกเลือด
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ได้สารอาหารเพียงพอ
- รับประทานอาหารสดและไม่ควรรับประทานอาหารที่ผ่านกรรมวิธีการถนอมอาหารที่ใช้เกลือ น้ำปลา หรือซีอิ๊ว
- การปรุงอาหารเติมเกลือได้ 1 ช้อน/วัน หรือ 1/3 ช้อนชา/มื้อ หรือเติมน้ำปลา ซีอิ๊วได้ 1 ช้อนชา/มื้อ แทนการเติมเกลือ
- งดอาหารว่างที่ออกรสเค็มทุกชนิด อาหารหมักดองทุกชนิด รวมทั้งกับแกล้มและอาหารโรยเกลือ
- ไม่ใช้ผงชูรสในการประกอบอาหาร
- ดื่มเครื่องดื่มให้พอดีโดยดูจากน้ำหนักตัว ปริมาณปัสาวะที่ออกต่อวัน ควรชั่งน้ำหนักทุกวัน น้ำหนักตัวควรคงที่หรือเปลี่ยนแปลงไม่มาก ถ้าน้ำหนักตัวมากขึ้นต้องลดปริมาณเครื่องดื่มให้น้อยลง
บทความทางการแพทย์ศูนย์อายุรกรรม