โรคมะเร็ง ภัยร้ายใกล้ตัว พบได้ในทุกเพศทุกวัย ตรวจเจอเร็วรักษาได้
ศูนย์ : ศูนย์มะเร็ง
บทความโดย : นพ. กิตติพงษ์ อุดมดำรงกุล

โรคมะเร็งสามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ แม้ส่วนใหญ่จะพบในอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะพบในผู้ที่มีอายุน้อยเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากปัจจัยภายในร่างกาย เช่น พันธุกรรม และปัจจัยภายนอกร่างกาย เช่น สิ่งแวดล้อม สารเคมี อาหารต่าง ๆ ซึ่งส่งผลกระทบ และเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ โดยทั่วไปโรคมะเร็งนั้นมักไม่มีอาการ หรือมีอาการไม่จำเพาะ ขึ้นอยู่กับว่ามะเร็งเกิดขึ้นที่อวัยวะใด ถ้าเป็นอาการที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งมักเป็นอาการที่แย่ลงเรื่อย ๆ และเรื้อรัง ดังนั้นเมื่อมีอาการผิดปกตินานเกิน 1 – 2 สัปดาห์ จึงควรรีบพบแพทย์ เพราะหากสามารถทำการรักษาโรคมะเร็งได้อย่างทันท่วงที พบมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยสามารถหายขาดจากโรคได้
สารบัญ
- โรคมะเร็ง คืออะไร?
- ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง
- การจำแนกกลุ่มโรคมะเร็ง
- มะเร็งที่พบมากและควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
- อาการของโรคมะเร็ง
- ระยะของโรคมะเร็ง
- การตรวจคัดกรองและการวินิจฉัยโรคมะเร็ง
- วิธีการรักษาโรคมะเร็ง
- วิธีการดูแลตัวเองป้องกันโรคมะเร็ง
- โรคมะเร็ง ตรวจเจอเร็วสามารถรักษาได้
- ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไม่เสียค่าใช้จ่าย
โรคมะเร็ง คืออะไร?


โรคมะเร็ง (Cancer) คือ เซลล์ที่ผิดปกติในร่างกายที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม และเซลล์เหล่านี้มีการเจริญเติบโตรวดเร็วเกินปกติโดยที่ร่างกายควบคุมไม่ได้ ผนวกกับตัวการก่อมะเร็งจากสิ่งแวดล้อมยังกระตุ้นให้ยีนกลายพันธุ์ เมื่อยีนกลายพันธุ์สะสมมากขึ้นเซลล์ปกติร่างกายก็จะกลายเป็นเซลล์ผิดปกติ ที่ร่างกายควบคุมการแบ่งตัวไม่ได้ หรือเซลล์มะเร็งนั่นเอง โดยที่เซลล์มะเร็งเพิ่มจำนวน และกระจายไปอวัยวะส่วนอื่นของร่างกายผ่านทางหลอดเลือดและต่อมน้ำเหลือง เราจะสังเกตได้จากการที่มีก้อนเนื้อเกิดขึ้นในอวัยวะต่าง ๆ นอกจากนี้เซลล์มะเร็งมีคุณสมบัติที่สามารถแพร่กระจายไปอวัยวะอื่นทั่วร่างกายที่ไม่ใช่อวัยวะต้นกำเนิดได้อีกด้วย ส่งผลให้เซลล์ปกติของเนื้อเยื่อ อวัยวะต่าง ๆ ล้มเหลว ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตในที่สุด
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง
มะเร็งเกิดจากอะไร โรคมะเร็งเป็นโรคที่ซับซ้อนและมีหลายปัจจัยที่สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ สาเหตุหลัก ๆ มักจะมาจากการเปลี่ยนแปลงหรือความผิดปกติของสารพันธุกรรม (DNA) ภายในเซลล์ ซึ่งอาจเกิดขึ้นเองหรือมีปัจจัยภายนอกมากระตุ้น ได้แก่
- สารเคมีก่อมะเร็ง (Chemical carcinogenesis) เช่น บุหรี่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอด ช่องปาก หลอดอาหาร กล่องเสียง หรือ รังสียูวีจากแสงแดด ทำให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนัง แอลกอฮอล์ เพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งตับ เต้านม และลำไส้ใหญ่
- การติดเชื้อ (Viral carcinogenesis) โดยการติดเชื้อไวรัสเป็นตัวการทำให้ยีนกลายพันธุ์ เช่น การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีทำให้เป็นมะเร็งตับ การติดเชื้อไวรัส HPV ทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูก เป็นต้น
- กรรมพันธุ์ (Hereditary) คือ การรับยีนกลายพันธุ์มาตั้งแต่เกิดจากพ่อหรือแม่
การจำแนกกลุ่มโรคมะเร็ง


โรคมะเร็งสามารถจำแนกตาม ชนิดของเซลล์ต้นกำเนิดได้ ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งในการจัดกลุ่มของมะเร็งโดยพิจารณาว่าเซลล์ที่กลายพันธุ์จนกลายเป็นเซลล์มะเร็งนั้นมาจากเซลล์ชนิดใดในร่างกาย โดยหลัก ๆ แล้วสามารถจำแนกออกได้เป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้
โรคมะเร็งซาร์โคมา (Sarcoma)
Sarcoma คือ มะเร็งที่เกิดจากเซลล์ของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เช่น กล้ามเนื้อ กระดูก เส้นเอ็น ไขมัน เส้นเลือด พบได้น้อยกว่าคาร์ซิโนมา เช่น มะเร็งกระดูก มะเร็งกล้ามเนื้อ เป็นต้น
มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma)
มะเร็งของระบบน้ำเหลือง โดยเฉพาะเซลล์ลิมโฟไซต์ เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Hodgkin lymphoma) เป็นต้น
โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia)
มะเร็งของเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีต้นกำเนิดในไขกระดูก ไม่ก่อตัวเป็นก้อนเหมือนมะเร็งชนิดอื่น แต่แพร่กระจายผ่านทางกระแสเลือด
โรคมะเร็งเยื่อบุ (Carcinoma)
มะเร็งที่มีต้นกำเนิดจากเซลล์เยื่อบุ ซึ่งเป็นเซลล์ที่ปกคลุมพื้นผิวของร่างกายและอวัยวะต่าง ๆ เป็นมะเร็งชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด เช่น มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับ มะเร็งปากมดลูก เป็นต้น
โรคมะเร็งประเภทอื่น ๆ
มะเร็งชนิดอื่น ๆ จากเซลล์เฉพาะทาง เช่น Germ cell tumors มะเร็งจากเซลล์สืบพันธุ์ เช่น มะเร็งอัณฑะหรือรังไข่ และ Neuroendocrine tumors มะเร็งจากเซลล์ระบบประสาทและฮอร์โมน เช่น carcinoid tumor Myeloma (ไมอีโลมา) มะเร็งของพลาสมาเซลล์ ซึ่งเป็นเซลล์ภูมิคุ้มกันชนิดหนึ่งในไขกระดูก เช่น มะเร็งของเซลล์สร้างเม็ดสี (Melanocytes) เป็นต้น

มะเร็งที่พบมากและควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
โรคมะเร็งที่พบบ่อย และควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษ 5 โรค ได้แก่
- มะเร็งตับ เป็นชนิดมะเร็งที่พบบ่อยอันดับ 1 ในผู้ชาย และอันดับ 3 ในผู้หญิง สาเหตุจากไวรัสตับอักเสบบีและซี เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สารพิษที่ปนเปื้อน อาการของโรคมะเร็งตับที่มักพบ ได้แก่ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด มีไข้ต่ำ เจ็บชายโครงขวา คลำก้อนได้ที่ชายโครงขวา ไข้เรื้อรัง ตาเหลือง ตัวเหลือง
- มะเร็งเต้านม พบเป็นอันดับ 1 ในผู้หญิง อาการ ได้แก่ คลำเจอก้อนในเต้านม มีของเหลวออกจากบริเวณหัวนม หากเป็นเลือดจะเพิ่มโอกาสการเป็นมะเร็งยิ่งขึ้น ป้องกันได้ด้วยการตรวจเต้านมด้วยตัวเองได้ รวมทั้งตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ในผู้ที่อายุน้อยกว่า 35 ปี และตรวจแมมโมแกรมในผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี
- มะเร็งปากมดลูก เป็นโรคมะเร็งที่พบเป็นอันดับ 2 ของผู้หญิง เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก และการตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear หรือ Pap Test) เป็นประจำทุกปี
- มะเร็งปอด สาเหตุจากบุหรี่ สารพิษ มลภาวะทางอากาศ ฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ทำให้มีอาการโรคมะเร็ง ได้แก่ ไอเรื้อรัง ไอมีเลือดปน เจ็บหน้าอก หอบเหนื่อย หน้าบวม แขนบวม น้ำหนักลด เบื่ออาหาร ป้องกันได้ด้วยการตรวจเอกซเรย์ทรวงอก เพื่อหามะเร็งปอดเป็นประจำทุกปี
- มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง เป็นโรคที่อยู่ในอันดับต้น ๆ ทำให้คนไทยเสียชีวิตมากที่สุด มักพบในอายุ 50 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะผู้ที่ชอบอาหารเนื้อแดงที่ผ่านการทอด ปิ้ง หรือย่างไหม้เกรียม อาหารไขมันสูง และอาหารที่มีกากใยน้อย โดยอาการคนเป็นมะเร็งชนิดนี้มักถ่ายอุจจาระปนเลือด มีภาวะซีด อุจจาระมีสีคล้ำคล้ายสีของเลือดหมู เป็นต้น ป้องกันโดยเลี่ยงอาหารไขมันสูง อายุ 45 ปีขึ้นไป ควรตรวจโดยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ทุก ๆ 5-10 ปี
อาการของโรคมะเร็ง


โรคมะเร็ง อาการเริ่มต้นอาจไม่มีสัญญาณอะไร แต่มีสัญญาณและอาการบางอย่างที่อาจบ่งชี้ถึงโรคมะเร็งได้ ซึ่งหากพบอาการของโรคมะเร็งเหล่านี้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม วิธีสังเกตอาการเบื้องต้นของมะเร็ง มีดังนี้
- อ่อนเพลีย เหนื่อยล้าผิดปกติ รู้สึกเหนื่อยมากโดยไม่มีสาเหตุชัดเจน แม้พักผ่อนแล้วก็ไม่ดีขึ้น
- น้ำหนักลดผิดปกติโดยไม่ได้ตั้งใจ น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วโดยไม่ได้ควบคุมอาหารหรือออกกำลังกาย
- ไข้เรื้อรังมีไข้ต่ำ ๆ หรือไข้สูงที่ไม่ทราบสาเหตุ และเป็นอยู่นาน
- เหงื่อออกตอนกลางคืนมากผิดปกติ เหงื่อออกมากในเวลากลางคืนโดยไม่ได้มีอากาศร้อน
- การเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง มีไฝหรือปานที่รูปร่าง ขนาด หรือสีเปลี่ยนไป มีแผลที่ไม่หาย ผิวหนังหนาตัวหรือมีตุ่มผิดปกติ
- มีก้อนหรือตุ่ม คลำพบก้อนหรือตุ่มที่เต้านม ต่อมน้ำเหลือง หรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
- การเปลี่ยนแปลงของระบบขับถ่าย ท้องผูกหรือท้องเสียเรื้อรัง อุจจาระมีเลือดปน ปัสสาวะบ่อยหรือปัสสาวะลำบาก มีเลือดในปัสสาวะ
- ไอเรื้อรังหรือเสียงแหบ ไอไม่หายเรื้อรัง เสียงแหบผิดปกติ
- กลืนลำบาก รู้สึกเจ็บหรือติดขัดเวลากลืนอาหาร
- เลือดออกผิดปกติ มีเลือดออกจากช่องคลอดที่ไม่ใช่ประจำเดือน มีเลือดกำเดาไหลบ่อย มีเลือดในเสมหะหรือปัสสาวะ
- ปวดเรื้อรัง ปวดบริเวณใดบริเวณหนึ่งของร่างกายที่ไม่หายหรือไม่ดีขึ้น
- อาหารไม่ย่อยหรือแสบร้อนอกเรื้อรัง รู้สึกไม่สบายท้อง ท้องอืด แน่นท้อง รู้สึกอึดอัดในช่องท้อง อาจเป็นอาการของมะเร็งรังไข่ หรือแสบร้อนอกเป็นประจำ
ระยะของโรคมะเร็ง
มะเร็งมีกี่ระยะ โดยทั่วไปโรคมะเร็งแบ่งเป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 – 3 (หรือระยะไม่แพร่กระจาย) กับระยะที่ 4 (หรือระยะที่โรคแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นแล้ว) เป้าหมายของการรักษา ระยะที่ 1-3 คือการหายขาดจากโรค ส่วนระยะที่ 4 เรารักษาเพื่อประคับประคองหรือควบคุมโรคไม่ให้ลุกลามมากขึ้น ดังนี้
- มะเร็งระยะที่ 1 : มะเร็งระยะแรกที่มีขนาดเล็ก และยังคงจำกัดอยู่เฉพาะในอวัยวะที่เป็นจุดเริ่มต้น ไม่มีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง หรืออวัยวะอื่น ๆ ที่อยู่ไกลออกไป รักษาได้ด้วยการผ่าตัด หรือการรักษาเฉพาะที่อื่น ๆ
- มะเร็งระยะที่ 2 : มะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้น หรือมีการลุกลามไปยังเนื้อเยื่อรอบข้างในอวัยวะเดิม อาจมีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงจำนวนเล็กน้อย ยังไม่มีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะที่อยู่ไกลออกไป การรักษามักจะซับซ้อนขึ้น อาจต้องใช้การผ่าตัดร่วมกับการรักษาเสริม เช่น เคมีบำบัด หรือรังสีรักษา
- มะเร็งระยะที่ 3 : มะเร็งมีการลุกลามไปยังเนื้อเยื่อรอบข้างอย่างกว้างขวางมากขึ้น มีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงจำนวนมาก หรือต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ไกลออกไปในบริเวณใกล้เคียง ยังไม่มีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะที่อยู่ไกลออกไป การรักษามักต้องใช้การรักษาหลายวิธีร่วมกัน เช่น เคมีบำบัด รังสีรักษา และการผ่าตัด เพื่อควบคุมโรคในบริเวณนั้น
- มะเร็งระยะที่ 4 : มะเร็งระยะสุดท้าย มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ที่อยู่ไกลออกไปจากจุดเริ่มต้น เช่น ปอด ตับ กระดูก สมอง ถือเป็นระยะที่รุนแรงที่สุด การรักษามุ่งเน้นไปที่การควบคุมการเติบโตของมะเร็ง บรรเทาอาการ และประคับประคองคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย การรักษาอาจเป็นการรักษาแบบทั่วร่างกาย เช่น เคมีบำบัด ยามุ่งเป้า หรือภูมิคุ้มกันบำบัด
การตรวจคัดกรองและการวินิจฉัยโรคมะเร็ง


การตรวจวิเคราะห์มะเร็งลงลึกถึงระดับยีน และการตรวจมะเร็งด้วยวิธีต่าง ๆ ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถตรวจคัดกรองมะเร็งได้ตรงจุดตามชนิด ด้วยนวัตกรรม เครื่องมือ และเทคโนโลยีทางการแพทย์อันทันสมัย ทำให้ค้นพบมะเร็งได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็น โรคมะเร็ง หรือมีประวัติสูบบุหรี่ เพื่อให้การรักษาสามารถเริ่มต้นได้อย่างทันท่วงที
โดยการวินิจฉัยโรคมะเร็งที่ถูกต้องและรวดเร็ว นำไปสู่การรักษาที่แม่นยำและได้ผลลัพธ์ที่ดี การตรวจเอกซเรย์พิเศษ PET-CT ช่วยให้ทราบระยะของโรคและวางแผนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับการตรวจชิ้นเนื้อ ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญขั้นสูงในการวินิจฉัยเซลล์มะเร็งให้แม่นยำ รวมถึงการตรวจวิเคราะห์เชิงลึกถึงระดับโมเลกุล นอกจากนี้ การตรวจหาการกลายพันธุ์ของเซลล์มะเร็งจากชิ้นเนื้อ หรือแม้แต่จากเลือด ยังช่วยให้การรักษามีประสิทธิผลและเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายมากยิ่งขึ้น
วิธีการรักษาโรคมะเร็ง
ศูนย์มะเร็ง โรงพยาบาลนครธน มีทีมแพทย์ที่มีความชำนาญในการรักษาโรคมะเร็งหลากหลายชนิด พร้อมศักยภาพในการแปลผลตรวจวินิจฉัยอย่างแม่นยำ ด้วยตระหนักดีว่าการรักษามะเร็งเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนและต้องอาศัยการบูรณาการหลากหลายศาสตร์ โรงพยาบาลจึงมีบริการ Tumor Board ซึ่งเป็นการประชุมทีมแพทย์สหสาขาวิชาชีพเฉพาะทางด้านมะเร็ง เพื่อร่วมกันวิเคราะห์ วางแผน และตัดสินใจเลือกแนวทางการรักษาที่เหมาะสมและจำเพาะเจาะจงสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อให้ได้ผลลัพธ์การรักษาที่ดีที่สุด โดยแนวทางการรักษามีดังนี้
- เคมีบำบัด (Chemotherapy หรือ คีโม) ใช้ยาออกฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็งที่แบ่งตัวอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยยับยั้งกระบวนการแบ่งตัว ทำให้เซลล์มะเร็งไม่สามารถเจริญเติบโตและตายในที่สุด
- รังสีรักษา (Radiotherapy หรือ การฉายแสง) ใช้รังสีพลังงานสูงเพื่อทำลายกลุ่มเซลล์มะเร็ง โดยการฉายแสงแต่ละครั้งจะทำให้เซลล์มะเร็งสะสมความผิดปกติทางพันธุกรรมจนไม่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้และตายลง
- ยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) ยาที่ออกฤทธิ์จำเพาะเจาะจงต่อกลไกการเจริญเติบโตและการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง ทำให้ควบคุมโรคได้ยาวนานกว่าและมีผลข้างเคียงต่อเซลล์ปกติน้อยกว่าเคมีบำบัด
- ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) ยาที่ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้สามารถจดจำและกำจัดเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นการเสริมสร้างกลไกการต่อสู้มะเร็งตามธรรมชาติของร่างกาย
- การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต (Bone marrow transplantation หรือ การปลูกถ่ายไขกระดูก) เป็นการนำเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตจากไขกระดูก เลือด หรือเลือดจากสายสะดือรก (ทั้งจากผู้ป่วยเองที่เก็บไว้ หรือจากผู้บริจาค) มาใช้ในการรักษามะเร็ง
- การผ่าตัด (Surgery) เป็นการรักษามะเร็งในระยะที่ยังจำกัดอยู่เฉพาะที่และยังไม่แพร่กระจาย โดยมีเป้าหมายเพื่อนำก้อนมะเร็งออกให้หมด ปัจจุบันเทคนิคการผ่าตัดมีความก้าวหน้า เช่น การผ่าตัดสงวนเต้าในมะเร็งเต้านม และการผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopic Surgery) ที่มีแผลเล็กและผลกระทบน้อย
- การรักษามะเร็งเฉพาะจุด เป็นการรักษาที่มุ่งเป้าทำลายก้อนมะเร็งโดยตรง เช่น การใช้คลื่นความถี่สูงจี้ทำลาย (Radiofrequency Ablation: RFA) และการให้ยาเคมีบำบัดผ่านทางหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงก้อนมะเร็ง (Transarterial Chemo Embolization: TACE) ซึ่งมักใช้ในการรักษามะเร็งตับ
วิธีการดูแลตัวเองป้องกันโรคมะเร็ง


การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรคมะเร็งสามารถทำได้หลายวิธี โดยเน้นที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวิถีชีวิตเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ได้แก่
- งดสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงควันบุหรี่มือสอง
- ลดการสัมผัสสารเคมีอันตราย หากต้องทำงานที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี ควรปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัย สวมอุปกรณ์ป้องกัน และหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรง
- หลีกเลี่ยงการได้รับรังสีที่ไม่จำเป็น เช่น การถ่ายเอกซเรย์โดยไม่จำเป็น และป้องกันผิวจากแสงแดดจัดด้วยการทาครีมกันแดด สวมเสื้อผ้าแขนยาว และหมวก
- รับประทานอาหารที่เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี และโปรตีนไม่ติดมันให้หลากหลาย
- ลดการบริโภคเนื้อแดงและเนื้อสัตว์แปรรูป จำกัดการบริโภคอาหารที่มีไขมันสูง โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์
- ลดการบริโภคอาหารหมักดอง เค็มจัด หวานจัด และอาหารไหม้เกรียม
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ ช่วยให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้ดี
- ควบคุมน้ำหนักและออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- ควรจำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ หรือหลีกเลี่ยงการดื่มหากเป็นไปได้
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ จัดการความเครียด
- ตรวจคัดกรองมะเร็งตามคำแนะนำของแพทย์ ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสบางชนิด เช่น วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี วัคซีนป้องกันเชื้อเอชพีวี
- หากสังเกตพบความเปลี่ยนแปลงหรืออาการผิดปกติใด ๆ ในร่างกาย ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ
โรคมะเร็ง ตรวจเจอเร็วสามารถรักษาได้
โรคมะเร็ง หากตรวจพบเร็ว มีโอกาสรักษาให้หายได้สูง การตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นกุญแจสำคัญในการป้องกันและเพิ่มโอกาสในการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ ศูนย์มะเร็ง โรงพยาบาลนครธน ให้บริการดูแลรักษามะเร็งแบบครบวงจร โดยทีมแพทย์เฉพาะทางและทีมสหสาขาวิชาที่เชี่ยวชาญ ครอบคลุมตั้งแต่การป้องกัน ตรวจคัดกรอง วินิจฉัย รักษา ดูแลภาวะแทรกซ้อน ไปจนถึงการฟื้นฟูทั้งร่างกายและจิตใจ พร้อมเฝ้าระวังการกลับมาเป็นซ้ำอย่างใกล้ชิด เพราะโรคมะเร็งต้องการการวินิจฉัยแม่นยำและแผนรักษาเฉพาะตัว ให้เราดูแลคุณตั้งแต่วันแรกที่รู้ผลจนถึงก้าวสุดท้ายของการฟื้นตัว
ช่องทางติดต่อโรงพยาบาลนครธน:
- - Website : https://www.nakornthon.com
- - Facebook : Nakornthon Hospital
- - Line : @nakornthon
- - Tel: 02-450-9999 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์มะเร็ง