คีโม หรือ เคมีบำบัด หนึ่งในวิธีการรักษามะเร็งที่มีประสิทธิภาพ

ศูนย์ : ศูนย์มะเร็ง

บทความโดย : นพ. กิตติพงษ์ อุดมดำรงกุล

คีโม

การรักษามะเร็ง ในปัจจุบันมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับชนิด และความรุนแรงของโรค โดยยาเคมีบำบัด ในภาษาอังกฤษ คือ Chemotherapy เราจึงคุ้นในชื่อ ยาคีโม นับเป็นการรักษาหลักของการรักษาทางยาที่ใช้มากที่สุดในการรักษาโรคมะเร็งปัจจุบัน โดยแพทย์อาจใช้คีโมเป็นการรักษาหลักเพียงอย่างเดียว หรืออาจใช้เสริมร่วมกับการรักษาแบบอื่นๆ เช่น ยาพุ่งเป้า ยาภูมิคุ้มกันบำบัด เป็นต้น โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มโอกาสหายขาดให้สูงขึ้นกว่าการรักษาเฉพาะที่เพียงอย่างเดียว ซึ่งทางศูนย์มะเร็ง โรงพยาบาลนครธน โดยทีมแพทย์เฉพาะทางเล็งเห็นความสำคัญและคุณภาพชีวิตในการรักษาผู้ป่วยเป็นหลัก จะมีการวางแผนรักษาผู้ป่วยแต่ละรายด้วยการประชุมของสหสาขา ร่วมพิจารณาวางแผนรักษาด้วยกัน มีทีมให้คำแนะนำ คำปรึกษาถึงแนวทางตัวเลือกการรักษาที่เป็นไปได้กับผู้ป่วยและครอบครัวก่อนการตัดสินใจรักษา


ยาเคมีบำบัด คืออะไร


คีโม คืออะไร คีโม คืออะไร

การให้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) หรือที่รู้จักกันในชื่อ การทําคีโม คือ การรักษาเชิงระบบ (Systemic therapy) กล่าวคือยาสามารถออกฤทธิ์ได้กับทุกส่วนของร่างกาย โดยต้านหรือทำลายเซลล์มะเร็ง และเป็นเซลล์ที่แบ่งตัวเร็ว และต่อเนื่อง ยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง หลายรูปแบบ ทำให้เซลล์ไม่สามารถแบ่งตัวต่อไปและตายในที่สุด อย่างไรก็ตามยายังทำลายเซลล์ปกติของร่างกายที่แบ่งตัวเร็วเช่นกัน ตัวอย่างเช่น เส้นผม เยื่อบุช่องปาก และไขกระดูก ซึ่งทำให้ผู้ป่วยที่รับยาดังกล่าวจะมีผมร่วง แผลในปาก เป็นต้น แต่ด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ดีขึ้น ยาเคมีบำบัดสมัยใหม่มีประสิทธิภาพดี และลดผลข้างเคียงทางยาได้ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญ

> กลับสารบัญ


เป้าหมายการรักษามะเร็งด้วยคีโม คืออะไร

แพทย์อาจใช้ยาเพื่อจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการรักษา การควบคุม หรือการประคับประคอง รายละเอียดดังนี้

  1. ให้เสริมกับการรักษาเฉพาะที่ เพื่อหวังผลหายขาดจากโรคมะเร็ง เช่น
    • ให้ตามหลังการผ่าตัดเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำของโรคมะเร็ง
    • ให้ก่อนการผ่าตัดเพื่อลดขนาดของก้อนมะเร็ง ลดการลุกลาม เพื่มโอกาสผ่าตัดได้ดียิ่งขึ้น
    • ให้ร่วมกับการฉายแสงสำหรับโรคมะเร็งที่ผ่าตัดลำบาก เช่น มะเร็งบริเวณหลังโพรงจมูก เป็นต้น
  2. ให้เพื่อประคับประคอง ลดอาการจากโรคมะเร็ง เพิ่มระยะรอดและคุณภาพชีวิตในระยะมะเร็งลุกลาม

ในผู้ป่วยโรคมะเร็งบางรายแพทย์อาจพิจารณาใช้ยาเพียงชนิดเดียว แต่บ่อยครั้งมักมีการให้ยาสองชนิดหรือใช้ร่วมกับการรักษาในแบบอื่น ๆ เช่น การให้ยาเคมีบำบัด (คีโม) เสริมก่อน และภายหลังการผ่าตัด การให้ยาร่วมกับการฉายแสง เป็นต้น โดยประเภทและจำนวนของยาที่ผู้ป่วยได้รับจะขึ้นอยู่กับชนิดของเซลล์มะเร็งที่เป็น ระยะหรือความรุนแรงของโรค และการกระจายของเซลล์มะเร็งสู่อวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย โดยมีเป้าหมายในการใช้เคมีบําบัด คือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาให้สูงขึ้นกว่าการรักษาเฉพาะที่เพียงอย่างเดียว

> กลับสารบัญ


รูปแบบของการทำคีโม


คีโมฉีดเข้าหลอดเลือด คีโมฉีดเข้าหลอดเลือด

เคมีบำบัด หรือ คีโม สามารถให้เข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วยได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง ตำแหน่งของก้อนมะเร็ง และสภาพร่างกายของผู้ป่วย โดยการให้คีโมแบ่งตามการบริหารยา ดังนี้

เคมีบำบัดชนิดรับประทาน

เคมีบำบัด หรือ คีโม ชนิดรับประทาน (Oral Chemotherapy) ยาจะอยู่ในรูปแบบเม็ดหรือแคปซูล สะดวกในการรับประทาน แต่ต้องรับประทานตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยจะช่วยให้การบริหารยาสะดวกมากขึ้น และลดการเข้าพักในโรงพยาบาล


เคมีบำบัดชนิดฉีดเข้าเส้นเลือด

เคมีบำบัดชนิดฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ (Intravenous Chemotherapy – IV Chemo) เป็นวิธีที่นิยมใช้มากที่สุด โดยยาจะถูกฉีดเข้าสู่กระแสเลือดโดยตรงผ่านทางหลอดเลือดดำ สามารถให้ยาได้หลายรูปแบบ เช่น ฉีดเข้าเส้นเลือดโดยตรง ฉีดเข้าทางสายสวน หรือฉีดเข้าทางพอร์ต


เคมีบำบัดชนิดฉีดเข้าทางหลอดเลือดแดง

เคมีบำบัดหรือ คีโมชนิดฉีดเข้าทางหลอดเลือดแดง (Intra-arterial Chemotherapy – IA Chemo) ยาจะถูกฉีดเข้าสู่หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงก้อนมะเร็งโดยตรง เหมาะสำหรับมะเร็งที่อยู่ในตำแหน่งเฉพาะที่ เช่น มะเร็งตับ


เคมีบำบัดชนิดฉีดเข้าทางเยื่อบุช่องท้อง

เคมีบำบัดชนิดฉีดเข้าทางเยื่อบุช่องท้อง (Intraperitoneal Chemotherapy – IP Chemo) ใช้ในการรักษามะเร็งที่แพร่กระจายในช่องท้อง ฉีดยาเข้าไปในช่องท้องโดยตรง เพื่อให้ยาแทรกซึมเข้าสู่เซลล์มะเร็งที่อยู่ในเยื่อบุช่องท้อง เหมาะสำหรับมะเร็งรังไข่ระยะลุกลาม มะเร็งเยื่อบุช่องท้อง


เคมีบำบัดชนิดทาภายนอก

คีโม ชนิดทาภายนอก (Topical Chemotherapy) ยาจะอยู่ในรูปแบบครีมหรือขี้ผึ้ง ใช้สำหรับมะเร็งผิวหนังบางชนิด เช่น มะเร็งผิวหนังชนิด Basal Cell Carcinoma โรคผิวหนังที่มีโอกาสพัฒนาเป็นมะเร็ง เช่น Actinic Keratosis

> กลับสารบัญ


ยาคีโมมีแบบไหนบ้าง?

ยาเคมีบําบัด มีอะไรบ้าง ซึ่งคีโมมีหลายประเภทแต่ละประเภทก็มีกลไกการออกฤทธิ์ที่แตกต่างกันไป โดยทั่วไปสามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ เช่น

  • ยากลุ่มอัลคิเลทติ้ง(Alkylating agents) เป็นกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์เข้าไปจับกับ DNA ของเซลล์มะเร็ง ทำให้เซลล์มะเร็งแบ่งตัวไม่ได้และตายลงในที่สุด ใช้รักษามะเร็งได้หลายชนิด เช่น มะเร็งปอด มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่
  • ยากลุ่มแอนติเมทาบอไลต์ (Antimetabolites) เป็นกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ขัดขวางเอนไซม์ของสารตั้งต้นที่จำเป็นต่อการสร้าง DNA และ RNA ของเซลล์มะเร็ง ใช้รักษามะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม มะเร็งเม็ดเลือดขาว
  • กลุ่มแอนติไบโอติก (Antitumor antibiotics) เป็นกลุ่มยาที่สกัดจากจุลินทรีย์ มีฤทธิ์ทำลาย DNA ของเซลล์มะเร็ง ใช้รักษามะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด
  • กลุ่มแพลนท์อัลคาลอยด์ (Plant alkaloids) เป็นกลุ่มยาที่สกัดจากพืช มีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง ใช้รักษามะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

> กลับสารบัญ



ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

ระยะเวลาในการรักษาด้วยเคมีบำบัด (คีโม)

การให้คีโม ใช้เวลากี่ชั่วโมง ? โดยทั่วไปอาจใช้เวลา 30 นาทีถึงหลายชั่วโมง ต่อครั้ง ซึ่งระยะเวลาในการรักษาด้วยการทำคีโมขึ้นอยู่กับชนิดของโรคมะเร็ง ระยะของโรคมะเร็ง และสูตรยา/ยาที่ให้ร่วมกัน โดยปกติจะให้เป็นชุด ใช้เวลา 1-5 วันต่อชุด แต่ละชุดห่างกัน 2-4 สัปดาห์ ซึ่งผู้ป่วยอาจได้รับการรักษาเฉลี่ย 6-8 ชุด ซึ่งขึ้นกับแผนการรักษาของแพทย์ โดยผู้ป่วยควรมารับยาตามนัดทุกครั้งเพื่อผลการรักษาที่ดี

> กลับสารบัญ


ขั้นตอนการรักษาด้วยคีโม


ขั้นตอนการรักษา ขั้นตอนการรักษา

วิธีการให้คีโม ทําอย่างไร ซึ่งขั้นตอนการรักษาด้วยเคมีบำบัด (คีโม) โดยทั่วไปมีดังนี้

  • แพทย์จะทำการตรวจมะเร็ง วินิจฉัยชนิดและระยะของโรคมะเร็งอย่างละเอียด จากนั้นวางแผนการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย โดยพิจารณาจากชนิดและระยะของโรคมะเร็ง สุขภาพของผู้ป่วย และปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับการรักษาคีโม ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ให้ผู้ป่วยทราบ
  • ผู้ป่วยจะต้องได้รับการตรวจสุขภาพก่อนการรับคีโม เช่น ตรวจเลือด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) เป็นต้น
  • การให้ยาเคมีบำบัดสามารถให้ได้หลายวิธี เช่น การฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ โดยใช้เวลาประมาณ 30 นาที - 6 ชั่วโมง หรือการรับประทานรูปแบบยาตามแพทย์สั่ง อาจเป็นทุกวันหรือสัปดาห์ละครั้ง เป็นต้น โดยระยะเวลาในการให้ยาเคมีบำบัดขึ้นอยู่กับชนิดของยาและแผนการรักษา
  • หลังการให้คีโม แพทย์จะประเมินผล ว่ามะเร็งตอบสนองต่อคีโมดีแค่ไหน จากนั้นวางแผนรอบถัดไป หากร่างกายฟื้นตัวดี อาจให้คีโมรอบต่อไปใน 2-3 สัปดาห์ หรือหากมีผลข้างเคียงรุนแรง อาจ ปรับขนาดยา หรือเปลี่ยนสูตรคีโม
  • ในแต่ละรอบการรักษา แพทย์จะพิจารณาการบริหารขนาดยา ทั้งการให้ยาเคมีบำบัดเพียงชนิดเดียว หรือ ผสมผสานกับยาชนิดอื่น ๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ของการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ

> กลับสารบัญ


การเตรียมตัวก่อนการทำคีโม

แพทย์จะประเมินความพร้อมของผู้ป่วย และตรวจเลือดเพื่อประเมินความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด การทำงานของตับและไต เนื่องจากยามีผลกดการทำงานของไขกระดูกซึ่งทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดต่ำได้ และยาเคมีบำบัด (คีโม) บางชนิดต้องมีการปรับขนาดยาตามการทำงานของตับและไต

  1. หากมีโรคประจำตัว เช่น หัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคที่ต้องรับประทานยาเป็นประจำ ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อน
  2. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเน้นอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ขาว นม เป็นต้น
  3. พักผ่อนให้เพียงพอและเพิ่มการนอนพักในช่วงกลางวันอย่างน้อย 1-2 ชั่วโมงต่อวัน
  4. หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา การสูบบุหรี่ และการรับประทานสมุนไพร

> กลับสารบัญ


การดูแลตนเองขณะรักษาด้วยคีโม

  • สังเกตผิวหนังบริเวณที่ฉีดยา ถ้ารู้สึกปวด บวม แดง หรือสงสัยมียารั่วซึมออกนอกเส้นเลือด ต้องแจ้งพยาบาลทันที
  • ดื่มน้ำมากๆ เพื่อช่วยขับสารเคมีที่อาจตกค้างในร่างกายออกทางปัสสาวะ
  • หากมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ให้แจ้งพยาบาลทันที

> กลับสารบัญ


การปฏิบัติตัวเมื่อกลับบ้านหลังจากทำคีโม


หลังทำคีโม หลังทำคีโม
  1. ควรปฏิบัติตามคำแนะนำจากแพทย์ต่อไปอีกประมาณ 1 เดือนเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
  2. กรณีมีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้สูง คลื่นไส้ อาเจียนมาก ท้องเสียรุนแรง มีจุดเลือดออกตามผิวหนัง หรือมีเลือดออกจากอวัยวะต่างๆ ก่อนถึงวันนัดครั้งต่อไปให้ติดต่อเพื่อนัดพบแพทย์ก่อนวันนัดเดิม
  3. กรณีไม่มีอาการผิดปกติควรมาตรวจสม่ำเสมอตามวันนัด

> กลับสารบัญ


ยาคีโมช่วยให้หายขาดจากโรคมะเร็งหรือไม่?

ยาเคมีบำบัด หรือ "คีโม" เป็นยารักษาโรคมะเร็งที่มีประสิทธิภาพ ที่ออกฤทธิ์โดยการทำลายเซลล์มะเร็งที่แบ่งตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งยาจะเข้าไปขัดขวางกระบวนการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง ทำให้เซลล์มะเร็งตายในที่สุด โดยในมะเร็งบางชนิด เซลล์มะเร็งไวต่อยาคีโมมาก ทำให้สามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้หมดและหายขาดได้ ในหลายกรณี คีโมจะใช้ร่วมกับการรักษาอื่น ๆ เช่น การผ่าตัด การฉายรังสี ภูมิคุ้มกันบำบัด หรือการรักษาแบบมุ่งเป้า ซึ่งการรักษาแบบผสมผสานนี้ช่วยเพิ่มโอกาสในการกำจัดเซลล์มะเร็งให้หมดไปและป้องกันการกลับมาของมะเร็งได้

> กลับสารบัญ


ยาเคมีบำบัด (คีโม) มีผลข้างเคียงมากน้อยแค่ไหน

เนื่องจากการทำคีโมอาจมีผลต่อเซลล์ปกติของร่างกายที่มีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็วอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง โดยผลข้างเคียงในผู้ป่วยแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของสูตรยาเคมีบำบัด ขนาดของยาที่ได้รับ และสภาวะของผู้ป่วยก่อนที่จะได้รับยานั้น เช่น ผมร่วง เยื่อบุช่องปากอักเสบ เบื่ออาหาร ท้องเสีย อ่อนเพลีย ภาวะซีด และเม็ดเลือดต่ำกว่าปกติ เป็นต้น แต่ผลข้างเคียงดังกล่าวเป็นผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อยาหมดฤทธิ์อาการต่างๆ จะค่อย ๆ ดีขึ้นและกลับสู่ภาวะปกติ หากมีอาการดังกล่าวรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่องให้รีบพบแพทย์ทันที

> กลับสารบัญ


คีโม หนึ่งในวิธีการรักษามะเร็งที่มีประสิทธิภาพ

การรักษาโรคมะเร็งด้วยยาเคมีบำบัดถือเป็นอีกหนึ่งการรักษาที่ศูนย์มะเร็ง โรงพยาบาลนครธน ให้บริการ แต่ด้วยความเจริญก้าวหน้าในการรักษาโรคมะเร็งด้วยยาเคมีบำบัด (คีโม) ในปัจจุบัน ทำให้มียากลุ่มใหม่ ๆ ที่มีประสิทธิภาพในการรักษาที่ดีมากขึ้น และมีผลข้างเคียงลดน้อยลงกว่ายากลุ่มเดิม รวมทั้งยังมียาที่ช่วยป้องกันและลดอาการข้างเคียงได้ ทำให้การใช้ยามีประสิทธิภาพในการรักษาที่ดีขึ้น และมีผลข้างเคียงลดน้อยลง ยิ่งไปกว่านั้นโรงพยาบาลนครธนยังมีแพทย์เฉพาะทางหลากหลายสาขา ยังสามารถให้การดูแลบำบัดอาการและผลข้างเคียงระหว่างการรักษาเฉพาะรายร่วมด้วย ทำให้ผู้ป่วยผ่านการรักษาต่าง ๆ ไปได้ และนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

> กลับสารบัญ


ช่องทางติดต่อโรงพยาบาลนครธน:

  1. - Website : https://www.nakornthon.com
  2. - Facebook : Nakornthon Hospital
  3. - Line : @nakornthon
  4. - Tel: 02-450-9999 (ตลอด 24 ชั่วโมง)


ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย




Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย