MIS-C ในเด็ก ภาวะอักเสบทั่วร่างกายที่เกิดขึ้นหลังการติดเชื้อ COVID-19
ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพเด็ก
บทความโดย : พญ. ธิดารัตน์ แก้วเงิน
แม้ว่าเด็กที่ติดเชื้อ COVID-19 (โควิด-19) จะมีอาการไม่รุนแรงเท่าผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ แต่หลังจากหายป่วย COVID-19 แล้ว กลับพบว่าเด็กจำนวนหนึ่งที่มีอาการป่วยเป็นภาวะ MIS-C (Multisystem Inflammatory Syndrome in Children) ก่อให้เกิดอาการอักเสบทั่วร่างกายหลายระบบ บางรายมีอาการรุนแรงถึงขั้นต้องเข้ารับการรักษาในห้องฉุกเฉิน และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนถึงแก่ชีวิตได้
ภาวะ MIS-C เป็นอย่างไร
MIS-C หรือ Multisystem Inflammatory Syndrome in Children เป็น กลุ่มอาการอักเสบหลายระบบในเด็ก ซึ่งเป็นภาวะที่มีการอักเสบของอวัยวะหลายระบบในร่างกายพร้อมๆ กัน มักพบมีอาการตามหลังการติดเชื้อ COVID-19 (โควิด-19) แล้วประมาณ 2-6 สัปดาห์ โดยเฉพาะอาการในระบบหัวใจ ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร ไต สมอง ผิวหนัง ตา ซึ่งมีความสัมพันธ์กับโควิด-19 กลุ่มอาการ MIS-C ถือเป็นภาวะที่ค่อนข้างรุนแรง และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้
MIS-C เกิดจากสาเหตุใด
ภาวะ MIS-C เกิดจากการตอบสนองต่อระบบภูมิคุ้มกันหลังการติดเชื้อ COVID-19 และทำให้เกิด MIS-C ตามมา ซึ่งพบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง โดยภาวะนี้หากมีอาการรุนแรงและไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องทันท่วงที อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงถึงขั้นชีวิตได้ โดยอาการส่วนใหญ่ จะมีไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส เกิน 24 ชั่วโมง ซึ่งมีอาการคล้ายกับโรคคาวาซากิ (Kawasaki Disease) ซึ่งเกิดจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ แต่จะต่างกันที่อายุ โดย โรคคาวาซากิ จะเกิดกับเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ส่วนภาวะ MIS-C มักเกิดในเด็กอายุเฉลี่ย 8-11 ขวบขึ้นไป
อาการของภาวะ MIS-C
ผู้ปกครองควรเฝ้าระวังอาการของเด็กหลังหายป่วยจาก COVID-19 อย่างใกล้ชิด เพราะอาจเป็นอาการของ MIS-C ได้แก่
- มีไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส นานเกิน 24 ชั่วโมง
- มีอาการอักเสบที่ระบบผิวหนัง เยื่อบุ ได้แก่ ผื่น ปากและตาแดง มือเท้าบวมแดง
- พบมีอาการต่อมน้ำเหลืองโตที่คอคล้ายกับโรคคาวาซากิ
- มีอาการอักเสบที่ระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ ถ่ายเหลว ปวดท้อง อาเจียน
- มีอาการอักเสบที่ระบบหัวใจ ได้แก่ แน่นหน้าอก ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว หากมีอาการรุนแรงผู้ป่วยอาจมีภาวะช็อกและเสียชีวิตได้
- มีอาการอักเสบที่ระบบอื่นๆ ได้แก่ ระบบไต ระบบประสาท ระบบหายใจ ระบบเลือด
การตรวจวินิจฉัย
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะทำการตรวจวินิจฉัยความผิดปกติของหัวใจที่เกิดจากภาวะ MIS-C ด้วยการทำอัลตราซาวด์หัวใจ หรือที่เรียกว่า การทำเอคโคหัวใจ (Echocardiogram) โดยจะประเมินการทำงานของหัวใจร่วมกับการประเมิน Volume Status มีภาวะการโป่งพองของหลอดเลือดหรือไม่ นอกจากนั้น จะต้องมีการเจาะเลือดตรวจดูค่าการอักเสบของร่างกาย ร่วมกับการตรวจดูทุกอวัยวะที่จะเกิดการอักเสบได้
การรักษาภาวะ MIS-C
เป้าหมายการรักษา MIS-C คือ การลดการอักเสบของร่างกาย ภาวะคุกคามต่ออวัยวะ และรักษาภาวะช็อก ดังนั้น การรักษาจะเป็นแบบประคับประคอง และการรักษาตามอาการ โดยใช้ยา IVIG และยากลุ่มสเตียรอยด์
ภาวะ MIS-C ป้องกันได้อย่างไร
การป้องกันที่ดีที่สุด คือ การป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 ได้แก่ การล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้ป่วย เว้นระยะห่างทางสังคม สวมหน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า ปิดปากและจมูกเวลาไอจาม รวมไปถึงการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 เองเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่มีส่วนป้องกันการติด COVID-19 ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะ MIS-C ได้เช่นกัน
ทั้งนี้ภาวะ MIS-C อาจมีอาการรุนแรง และเกิดภาวะแทรกซ้อนจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยคุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตและเฝ้าระวังอาการของเด็กๆ ที่หายจากการติดเชื้อ COVID-19 (โควิด-19) อย่างใกล้ชิด หากพบอาการผิดปกติดังกล่าว ควรรีบพามาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาทันที
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์สุขภาพเด็ก