เนื้องอกมดลูก โรคที่พบได้บ่อยในผู้หญิงทุกวัย
ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพสตรี
บทความโดย : พญ. จุฑาภรณ์ อุทัยแสน

เนื้องอกมดลูก อีกหนึ่งโรคยอดฮิตที่พบบ่อยประมาณร้อยละ 25 ในผู้หญิงอายุ 35 ปีขึ้นไป และพบ 1 ใน 3 ของผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ สามารถพบได้ที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งในตัวมดลูก โดยมีขนาดต่างกันไป อาจมีก้อนเดียวหรือหลายก้อนก็ได้ บางชนิดโตช้า บางชนิดโตเร็ว แต่ที่น่าเป็นกังวล คือ ผู้หญิงหลายคนมักไม่รู้ว่าตัวเอง อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคนี้ เนื่องจากเนื้องอกมดลูกจะไม่มีอาการแสดงใด ๆ บอกชัดเจน มักทราบโดยบังเอิญจากการที่ตรวจสุขภาพประจำปีหรือมาปรึกษาแพทย์ด้วยโรคอื่น ๆ
สารบัญ
เนื้องอกมดลูก คืออะไร?


เนื้องอกมดลูก (ก้อนเนื้อในมดลูก) หรือ Myoma Uteri คือ เนื้องอกที่ไม่ร้ายแรงที่เติบโตในกล้ามเนื้อมดลูก เป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ โดยเฉพาะช่วงอายุ 30-40 ปี ซึ่งเป็นเนื้องอกที่เกิดจากเซลล์กล้ามเนื้อมดลูกที่เจริญเติบโตผิดปกติ มีขนาดและจำนวนที่แตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ส่วนใหญ่เป็นเนื้องอกที่ไม่ร้ายแรง (ไม่ใช่มะเร็ง)
สาเหตุที่ทำให้เกิดเนื้องอกมดลูก
เนื้องอกมดลูกเกิดจากอะไรนั้น ปัจจุบันในทางการแพทย์นั้นยังไม่พบสาเหตุที่แท้จริงของเนื้องอกมดลูก และไม่ได้เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อโรคใด ๆ แต่ปัจจัยส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของกรรมพันธุ์ และพบว่ามีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่สร้างในรังไข่ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมหญิงวัยเจริญพันธุ์จึงมีอัตราการเกิดเนื้องอกมดลูกสูง และเนื้องอกมักจะฝ่อตัวเล็กลงหลังจากเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน โดยตัวเนื้องอกนี้มักเจอในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์คือ มีประจำเดือนไปสัก 3 ปี 5 ปี 10 ปี แล้วเริ่มตรวจเจอว่ามีเนื้องอกมดลูก
เนื้องอกมดลูก มีกี่ประเภท


เนื้องอกมดลูก (Myoma Uteri หรือ Uterine Fibroid) มีทั้งชนิดธรรมดาและชนิดที่เป็นมะเร็ง โดยส่วนใหญ่เกิดจากชั้นกล้ามเนื้อของมดลูกที่เป็นเนื้องอกธรรมดามากกว่า ซึ่งมีเนื้องอก 2 แบบใหญ่ ๆ ได้แก่
- เกิดจากกล้ามเนื้อโดยตรง หรือเกิดจากมีเนื้ออย่างอื่นแทรกเข้าไปในกล้ามเนื้อของมดลูก
- เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่แทรกเข้ามาในมดลูก หรือมีหลายเม็ดเกาะกันเป็นกลุ่มจนใหญ่ขึ้น
เนื้องอกมดลูกอาการเป็นอย่างไร
อาการเนื้องอกมดลูกขึ้นกับความรุนแรง ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ เลย แต่เมื่อตรวจภายใน หรืออัลตราซาวด์กลับพบเนื้องอก และนอกจากอาการเกี่ยวกับประจำเดือนที่กล่าวมาแล้ว ยังมีอาการเนื้องอกในมดลูกที่พบได้บ่อย ดังนี้
- ปวดท้องน้อย มักมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของเนื้องอก เช่น มีขนาดใหญ่ขึ้นจนเลือดไปเลี้ยงเนื้องอกไม่พอ ทำให้เนื้องอกขาดเลือด หรือปวดท้องน้อย เพราะเนื้องอกไปกดเบียดอวัยวะอื่น ๆ จนทำให้เกิดการปวดแบบหน่วง ๆ เหมือนมีก้อนหนัก ๆ ในท้อง
- ปัสสาวะบ่อย อาจเกิดจากก้อนเนื้องอกไปกดเบียดกระเพาะปัสสาวะ
- ท้องผูก อาจเกิดจากก้อนเนื้องอกไปกดเบียดลำไส้ใหญ่ส่วนปลายที่ต่อกับทวารหนัก
- ปวดท้องขณะมีเพศสัมพันธ์
- อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
- คลำเจอก้อนที่ท้องน้อย
- การมีบุตรยากและแท้งบุตร มักพบเป็นลักษณะก้อนเล็ก ๆ ไม่มีอาการอะไร บางทีอาจจะมีก้อนแค่ 1-2 เซนติเมตรอยู่ในโพรงมดลูก ไปขวางการฝังตัวของทารกทำให้มีบุตรยาก
- ประจำเดือนมามากผิดปกติ คือ สัญญาณเดือนอาการเนื้องอกมดลูก เพราะอาจทำให้ประจำเดือนมามากและนานขึ้น มีลิ่มเลือดหรือเป็นก้อนปนออกมา
อีกหนึ่งโรคร้ายที่เป็นอันตรายต่อผู้หญิง : ช็อกโกแลตซีส

เนื้องอกมดลูก มีรูปแบบการรักษาอย่างไร


การรักษาเนื้องอกมดลูกสามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับอาการ ลักษณะของเนื้องอก และปัจจัยโดยรวมของผู้ป่วย เช่น อายุ ความต้องการในการมีบุตร การตั้งครรภ์ ซึ่งผู้ป่วยบางรายสามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยา แต่ในบางรายแพทย์อาจจะพิจารณาให้ใช้การรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งที่ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลนครธน มี 2 แบบ ได้แก่
วิธีผ่าตัดเปิดหน้าท้องแบบมาตรฐาน
การผ่าตัดเปิดหน้าท้องคล้ายคลึงกับการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง โดยเปิดแผลบริเวณหน้าท้องในแนวขวาง เวลาผ่าตัดจะสามารถเห็นได้ว่าท่อไตอยู่ตรงไหน เนื้องอกอยู่ตรงไหนจึงสามารถแยกได้อย่างชัดเจนทำให้การผ่าตัดค่อนข้างปลอดภัย และสามารถเก็บมดลูกไว้ใช้งานได้ปกติ
วิธีผ่าตัดเนื้องอกมดลูกผ่านกล้อง
การผ่าตัดเนื้องอกมดลูกแบบส่องกล้องผ่านทางหน้าท้อง (Laparoscopic Surgery) เป็นการผ่าตัดส่องกล้องโดยการเจาะผ่านช่องท้อง 3-4 จุด แต่ละแผลมีขนาด 0.5-1 เซนติเมตร ตัดเฉพาะก้อนเนื้องอกออกจากตัวมดลูก และมีการย่อยชิ้นเนื้อเพื่อนำออกมาผ่านทางแผลขนาดเล็ก หรือในบางกรณีอาจมีขนาดกว้างขึ้นเป็น 3-4 เซนติเมตร
ซึ่งการผ่าตัดส่องกล้องเนื้องอกมดลูก ได้รับความนิยมและมีข้อดีในหลาย ๆ ด้าน คือ แผลมีขนาดเล็ก คนไข้เสียเลือดน้อย เจ็บตัวน้อย ใช้เวลาพักฟื้นน้อยลง ฟื้นตัวในระยะสั้น สามารถลุกเดิน ทานอาหารได้ในวันรุ่งขึ้นหลังผ่าตัด และสามารถกลับไปทำงานหรือกิจวัตรประจำวันได้ภายใน 10-14 วัน ลดโอกาสเกิดพังผืดจากการผ่าตัด และช่วยลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด เช่น แผลอักเสบ แผลติดเชื้อ แผลเป็นหนอง เนื่องจากแผลผ่าตัดส่องกล้องมีขนาดเล็ก
การผ่าตัดเนื้องอกมดลูกผ่านกล้อง ยังมีข้อจำกัดของการใช้เวลาผ่าตัดนานกว่าแบบเปิดหน้าท้อง และมีโอกาสเปลี่ยนเป็นแบบเปิดหน้าท้อง หากมีภาวะแทรกซ้อนขณะผ่าตัด นอกจากนี้เนื้องอกที่พบในวัยใกล้หมดประจำเดือน หรือวัยหมดประจำเดือน อาจต้องแยกโรคอื่นที่มักพบร่วม เช่น มะเร็งมดลูก มะเร็งปากมดลูก โดยรอบคอบก่อนทำการผ่าตัดผ่านกล้อง
เนื้องอกมดลูก แม้ไม่อันตราย แต่หากมีอาการผิดปกติ ควรพบแพทย์
เพราะเนื้องอกมดลูก เป็นโรคที่เกิดขึ้นในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์มากที่สุด ถึงมีโอกาสน้อยมากที่จะกลายเป็นมะเร็ง แต่มักทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในกรณีที่เนื้องอกมดลูกเบียดอวัยวะข้างเคียง และอาจเพิ่มความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนในการตั้งครรภ์ ทั้งนี้ ขึ้นกับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ขนาดของก้อน ตำแหน่งของก้อน จำนวนก้อนเนื้องอกมดลูก ฉะนั้นการป้องกันเนื้องอกมดลูกได้ดี คือการหมั่นตรวจภายในเป็นประจำทุกปี รวมถึงการตรวจอัลตราซาวด์ โดยศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลนครธน พร้อมให้บริการการตรวจ และรักษาอย่างครบวงจร ทั้งการรักษา ผ่าตัดมดลูก มะเร็งรังไข่ และโรคทางนรีเวชอื่น ๆ ซึ่งเมื่อพบอาการผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์เฉพาะทางทันที
ช่องทางติดต่อโรงพยาบาลนครธน:
- - Website : https://www.nakornthon.com
- - Facebook : Nakornthon Hospital
- - Line : @nakornthon
- - Tel: 02-450-9999 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์สุขภาพสตรี