กระดูกพรุน ภัยเงียบของผู้สูงวัย
ศูนย์ : บริการทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ, ศูนย์อายุรกรรม
บทความโดย : นพ. ภาณุวัฒก์ ว่องตระกูลเรือง
เมื่ออายุมากขึ้นกระดูกก็ไม่ค่อยดี ถ้าบ้านไหนมีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ด้วยก็มักจะได้ยินพวกท่านบ่นว่าเจ็บขา ปวดเข่า ปวดหลัง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วหลายคนมักไม่ค่อยรู้ตัวว่านั่นเป็นสัญญาณหนึ่งของ “ภาวะกระดูกพรุน” ถือว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยในผู้สูงอายุเลยก็ว่าได้ โดยอาการของโรคกระดูกพรุนนี้ จะไม่สามารถสังเกตเห็นได้ในช่วงแรก นับเป็นภัยเงียบที่เกิดขึ้นสะสมในร่างกายมานาน จนกว่าจะเกิดอุบัติเหตุหกล้มจนกระดูกหัก ต้องเข้ารับการผ่าตัด
กระดูกพรุน อันตรายต่อผู้สูงวัยุ
เมื่อกระดูกมีความเปราะบางแตกหักง่าย หากผู้สูงอายุเกิดหกล้ม ล้มแค่เล็กน้อย ลื่นหกล้มในบ้าน ก็ทำให้เกิดกระดูกหักได้ พอกระดูกหักแล้ว ก็จะนำไปสู่การผ่าตัด และบางครั้งก็พบว่า แค่หกล้มในบ้านอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้เลยทีเดียว หรือว่าตัวกระดูกที่พรุนนี้ บางครั้งทำให้เกิดกระดูกผิดรูปไป ทำให้เกิดการเจ็บหลัง การเจ็บปวดต่างๆ ตามมา ทำให้ต้องเพิ่มการรักษาอาการปวดหลัง ซึ่งก็อาจจะได้รับผลข้างเคียงจากยาตามมาได้ด้วยเช่นกัน
สาเหตุของโรคกระดูกพรุน
เกิดจากปัจจัยทางฮอร์โมนเป็นหลัก เมื่อพ้นหลังจากช่วงวัยทอง ฮอร์โมนที่ขาดไป ก็จะทำให้มวลกระดูกลดลง ร่วมกับอายุที่เพิ่มสูงขึ้น ก็จะทำให้มวลกระดูกลดลงได้ นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ปัจจัยทางฮอร์โมนต่างๆ ที่ผิดปกติในช่วงวัยหนุ่มสาว อาจจะเป็นตัวเร่งทำให้เกิดกระดูกพรุนได้เร็วขึ้น เช่น โรคที่เกี่ยวกับเบาหวาน ไทรอย์เป็นพิษต่างๆ ยาบางชนิด ก็สามารถเร่งทำให้เกิดกระดูกพรุนเร็วขึ้นได้
กระดูกพรุนเป็นเฉพาะผู้หญิง ใช่หรือไม่
ไม่ใช่ ในความเป็นจริงแล้วกระดูกพรุนเกิดได้ทั้ง 2 เพศ แต่ความเร็วในการเกิดจะต่างกัน
- ในผู้หญิงทั่วไป หลังจากหมดประจำเดือนไปแล้วประมาณ 15 ปี หรืออายุประมาณ 65 ปี จะพบความเสี่ยงของการเป็นโรคกระดูกพรุนได้สูงขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงแนะนำให้ตรวจคัดกรอง เพื่อหาภาวะกระดูกพรุน
- ในผู้ชายจะช้ากว่า คือช่วงอายุประมาณ 70 ปี จะให้คัดกรองเพื่อตรวจหาภาวะกระดูกพรุน
การดูแลรักษาผู้สูงอายุกระดูกพรุน
- เมื่อเข้าถึงวัยที่ควรได้รับการประเมิน ก็ควรเข้ารับการตรวจภาวะกระดูกพรุน
- ต้องดูภาวะอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ภาวะขาดวิตามินบางอย่าง เช่น ภาวะการขาดวิตามิน D ภาวะขาดแคลเซียม ซึ่งก็ต้องหาสาเหตุของโรคอื่นๆ ที่เป็นตัวเร่ง ทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุนมากขึ้น
- มียารักษาจำเพาะเรื่องกระดูกพรุน ซึ่งการกินยานี้จะช่วยลดความเสี่ยงของการกระดูกหักได้
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์บริการทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ, ศูนย์อายุรกรรม