การตรวจคัดกรองโรคไตสำคัญอย่างไร ใครบ้างควรไปตรวจ
ศูนย์ : ศูนย์อายุรกรรม
บทความโดย : นพ. อำนวย ศิริโสภา
โรคไตเรื้อรังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญและมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สามารถพบได้ในทุกเพศ ทุกวัย โดยส่วนใหญ่ในระยะแรกจะไม่มีอาการผิดปกติใดๆ จึงมักไม่ได้รับการตรวจและสืบค้นโรคอย่างจริงจัง ทำให้เสียโอกาสในการรักษาแต่เนิ่นๆ หากรอจนมีอาการผิดปกติแล้วค่อยมาตรวจ การทำงานของไตมักเสื่อมไปมากแล้วจนเข้าสู่ระยะรุนแรง ทำให้รักษาไม่ทันการ หรือรักษาได้แต่ผลการรักษาไม่ดีเท่าการรักษาตั้งแต่ระยะแรกๆ ดังนั้นการตรวจคัดกรองโรคไตทุกปีจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อจะได้รับการวินิจฉัยโรค เฝ้าระวังความเสี่ยงของโรคที่อาจกำลังมาถึง และรักษาได้ทันท่วงที
ทำไมต้องใส่ใจ..ไต
ไต เป็นอวัยวะที่สำคัญในการปรับสมดุลน้ำและเกลือแร่ภายในร่างกาย ช่วยกำจัดของเสีย สารพิษ รวมถึงยาส่วนเกินออกจากร่างกาย ถ้าไตเสื่อมรุนแรงจนไม่ทำงาน จะทำให้เกิดความปกติจนไม่สามารถดำเนินชีวิตอยู่ต่อไปได้ ซึ่งภาวะนี้เรียกว่า โรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องได้รับการรักษาที่เหมาะสม รวมทั้งการบำบัดทดแทนไต เช่น การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม หรือ การปลูกถ่ายไต จึงจะดำเนินชีวิตอยู่ต่อไปได้ นอกจากนี้โรคไตเรื้อรังยังทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางระบบหัวใจและหลอดเลือดได้สูง เช่น โรคหัวใจ โรคอัมพฤกษ์ ซึ่งทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร
เหตุผลที่ต้องตรวจคัดกรองโรคไต
การตรวจคัดกรองการเกิดโรคไตเป็นการป้องกันก่อนการเกิดโรคที่ดีที่สุด หากพบความเสี่ยงของการเกิดโรคตั้งแต่ยังไม่เกิดโรค จะได้หาวิธีป้องกันอย่างถูกวิธีเพื่อลดความเสี่ยงลง หากพบว่าเป็นโรคไตแล้ว การรักษาตั้งแต่แรกสามารถชะลอความเสื่อมของไตได้ดีกว่าการรักษาเมื่อโรคเข้าสู่ระยะรุนแรงแล้ว และการชะลอความเสื่อมของไตตั้งแต่ระยะแรกๆของโรค จะช่วยป้องกันหรือยืดระยะเวลาการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคและความจำเป็นในการบำบัดทดแทนไตได้
ใครบ้างที่ควรตรวจคัดกรองโรคไต
โรคไตเรื้อรังเกิดได้กับทุกเพศ ทุกวัย สามารถตรวจได้ทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะถ้าคุณเป็นบุคคลในกลุ่มเสี่ยงสูง ดังนี้
- ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเก๊าท์ ภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน
- ผู้ที่สูบบุหรี่ประจำหรือ ประวัติสูบบุหรี่มานาน
- ผได้รับยา สมุนไพร หรือ สารพิษที่มีผลทำลายไตเป็นประจำ
- ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคไตเรื้อรัง
- ผู้ที่มีอาการ ได้แก่ ใบหน้า ตัว หรือเท้าบวม ปวดหลัง ปวดเอว ปัสสาวะบ่อย แสบขัด มีเลือดปน หรือมีฟองผิดปกติ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ตรวจพบความดันโลหิตสูง
ตรวจคัดกรองโรคไต ตรวจอะไรบ้าง
เพื่อป้องกันการเกิดโรคไตในอนาคตและเฝ้าดูติดตามโรคไตในปัจจุบัน การตรวจมีดังนี้
- ตรวจร่างกายและสรุปผลการตรวจจากอายุรแพทย์โรคไต (Nephrologist)
- ตรวจเลือดดูการทำงานของไตโดยประเมินระดับยูเรียและ ครีเอตินีน (BUN, Creatinine) ซึ่งเป็นของเสียที่ไตขับออกมาในปัสสาวะ และนำมาคำนวณอัตราการกรองของไตหรือที่เรียกง่ายๆ ว่า ค่าการทำงานของไต (estimated Glomerular filtration rate; eGFR)
- ตรวจระดับเกลือแร่ (Electrolyte) เพื่อดูค่า SODIUM (Na), POTASSIUM (K) และ Bicarbonate (CO2)
- ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด (FBS)
- ตรวจระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือด (HbA1C)
- ตรวจระดับกรดยูริกในเลือด (Uric Acid)
- ตรวจปัสสาวะเบื้องต้น (Urine Examination; UA)
- ตรวจปริมาณโปรตีนอัลบูมินในปัสสาวะ (Urine microalbumin; UMA)
- ตรวจอัลตราซาวด์ดูลักษณะของไต ท่อปัสสาวะ และกระเพาะปัสสาวะ (Ultrasound Kidney Urethra Bladder)
เตรียมตัวอย่างไรก่อนตรวจ
การตรวจคัดกรองโรคไต ผู้รับการตรวจจะต้องงดน้ำและอาหารก่อนการตรวจประมาณ 8-12 ชั่วโมง ควรงดเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมแอลกอฮอล์ทุกประเภท อย่างน้อย 24 ชั่วโมง กรณีที่ท่านต้องรับประทานยาลดความดันโลหิตสูงเป็นประจำ สามารถรับประทานยาได้ตามปกติสามารถเข้ามาตรวจได้ โดยสามารถเข้ามารับบริการตรวจได้ที่ศูนย์อายุรกรรม ชั้น 1 ตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น. โดยใช้เวลาตรวจประมาณ 2 ชั่วโมง และได้ผลตรวจภายในวันที่มาตรวจ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 024509999 ต่อ 1088-1091
ผู้ป่วยโรคไตระยะแรกมักไม่แสดงอาการผิดปกติ จึงทำให้พลาดโอกาสสำคัญในการรักษา ดังนั้นการตรวจคัดกรองโรคไตตั้งแต่ยังไม่มีอาการผิดปกติจึงเป็นเรื่องสำคัญ อย่ารอจนกว่ามีอาการผิดปกติซึ่งมักดำเนินโรคไปในระยะที่รุนแรงแล้ว ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองความเสี่ยงของโรคไตเป็นประจำ เพราะการป้องกันก่อนการเกิดโรค ย่อมดีกว่าการรักษา
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์อายุรกรรม