การผ่าตัดหัวใจ เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด มักพบในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และโรคลิ้นหัวใจ โดยการผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ว่าจะทำการรักษาแบบใด เช่น การผ่าตัดบายพาสหัวใจในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจในผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจ เป็นต้น อย่างไรก็ตามโรคหัวใจทุกชนิดสามารถทำการผ่าตัดได้ แต่หากร่างกายมีภาวะของโรคร้ายแรงอื่น ๆ ร่วมด้วย อาทิ โรคมะเร็ง อาการสมองตายหรือพิการ และการติดเชื้อรุนแรง ก็อาจทำให้ไม่สามารถทำการผ่าตัดได้
สารบัญ
การผ่าตัดหัวใจทำได้กี่วิธี
- การผ่าตัดหัวใจโดยใช้เครื่องปอดหัวใจเทียมทำผ่าตัด (on-pump CABG) โดยศัลยแพทย์จะหยุดหัวใจผู้ป่วยระหว่างการผ่าตัด และใช้อุปกรณ์ช่วยเพื่อให้เส้นเลือดยังสามารถทำงานได้เพื่อให้เลือดไหลเวียนไปทั่วร่างกาย โดยไม่ผ่านหัวใจ
- การผ่าตัดหัวใจโดยไม่ใช้เครื่องปอดหัวใจเทียมทำผ่าตัด (off-pump CABG) โดยศัลยแพทย์จะไม่หยุดหัวใจผู้ป่วยระหว่างการผ่าตัด และไม่ได้ใช้อุปกรณ์พิเศษในการสูบฉีดเลือด เป็นการผ่าตัดแบบหัวใจยังเต้นอยู่โดยใช้เครื่องมือ Local Stabilizer เกาะยึดหัวใจในจุดที่ทำการต่อเส้นเลือดให้หยุดนิ่ง ในขณะที่ส่วนอื่นของหัวใจยังเต้นเป็นปกติ เพื่อหลีกเลี่ยงผลแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้จากการใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม
ทั้งนี้การผ่าตัดหัวใจจะใช้วิธีใดนั้นขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ ประกอบกับโรคหัวใจที่เป็น ภาวะแทรกซ้อนต่างๆ และสุขภาพร่างกายของผู้ป่วยเป็นหลัก
ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดหัวใจ
1. การผ่าตัดบายพาสหัวใจ
การผ่าตัดบายพาสหัวใจ หรือการผ่าตัดทำทางเบี่ยงเส้นเลือดหัวใจ (CABG; Coronary Artery Bypass Grafting) เป็นการผ่าตัดเพื่อทำทางเบี่ยงเสริมเส้นเลือดบริเวณที่มีการตีบหรือตัน โดยเส้นเลือดที่จะนำมาใช้ ได้แก่ เส้นเลือดแดงบริเวณหน้าอก บริเวณข้อมือ และเส้นเลือดดำบริเวณขา มาทำทางเบี่ยง เพื่อเพิ่มเลือดไปเลี้ยงหัวใจให้มากขึ้น
สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ตัน ในกรณีที่มีหลอดเลือดหรือเส้นเลือดหัวใจตีบหลายเส้น ตีบมากกว่า 70% เป็นเบาหวาน มีรอบตีบที่ขั้วหัวใจ โดยมีภาวะรุนแรง หรือมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยการรักษาสามารถทำได้ในหลายเส้นในครั้งเดียว ซึ่งจะดีกว่าการรักษาด้วยการสวนหัวใจและขยายหลอดเลือด ที่อาจทำให้เส้นเลือดเสียหายได้
2. การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ
การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ (Valve Replacement) ด้วยการเอาลิ้นหัวใจที่เสียหายออก และนำลิ้นหัวใจเทียมใส่เข้าไปแทน ในผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจผิดปกติ ในกรณีพยาธิสภาพของลิ้นหัวใจสูญเสีย หรือเสื่อมสภาพไปมากแล้ว เช่น ฉีกขาดมาก หรือมีหินปูนเกาะ ทำให้ศัลยแพทย์ไม่สามารถผ่าตัดโดยการซ่อมแซมลิ้นหัวใจเดิมของผู้ป่วยได้
3. การใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ
การใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (Pacemaker implantation) เพื่อช่วยให้หัวใจเต้นได้เป็นจังหวะปกติ โดยทั่วไปใช้ในคนที่หัวใจเต้นช้า หรือมีการนำไฟฟ้าผิดปกติในห้องหัวใจ เป็นหัตถการเพื่อฝังอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เข้าไปในผนังหน้าอก ใต้ผิวหนังของผู้ป่วยเพื่อกระตุ้นจังหวะการเต้นของหัวใจ โดยส่งสัญญาณไฟฟ้าไปยังหัวใจห้องที่ทำงานผิดปกติ สัญญาณไฟฟ้าจะช่วยให้หัวใจเต้นเร็วพอ ที่จะสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายและอวัยวะส่วนอื่นๆ ได้มากเพียงพอ
เตรียมตัวให้พร้อมก่อนเข้าผ่าตัดหัวใจ
- ศัลยแพทย์หัวใจ แจ้งภาวะโรคหัวใจที่กำลังเป็นอยู่ เหตุผลที่ต้องผ่าตัด อัตราการเสี่ยง และผลดีผลเสียที่จะตามมา
- รับประทานยาให้ครบตามที่แพทย์สั่ง
- ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์ล่วงหน้า หากมีประวัติการแพ้ หรือผลข้างเคียงจากการได้รับยาระงับประสาท
- ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์ล่วงหน้า หากมีประวัติการแพ้ หรือผลข้างเคียงจากการได้รับยาระงับประสาท
- งดการสูบบุหรี่ และ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างน้อย 3 สัปดาห์ก่อนการผ่าตัด
- ตรวจสุขภาพฟันก่อน
- หากใส่ฟันปลอม หรือเหล็กดัดฟัน ควรแจ้งแพทย์ก่อน
- ผู้ป่วยต้องงดน้ำและอาหาร 8-12 ชั่วโมง ก่อนผ่าตัด
ดูแลตัวเองหลังผ่าตัดหัวใจ
ช่วงหลังผ่าตัด ผู้ป่วยจะต้องพักฟื้นอยู่ในหออภิบาลผู้ป่วยโรคหัวใจประมาร 1-2 วัน จากนั้นจะย้ายไปอยู่ห้องพักฟื้นผู้ป่วยปกติประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อติดตามการรักษา เมื่อผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตัวเองได้แพทย์จะอนุญาตให้กลับไปพักฟื้นที่บ้าน
ช่วงพักฟื้นที่บ้าน หลังผ่าตัด 7–14 วัน ถ้าแผลแห้งดี ผู้ป่วยสามารถอาบน้ำได้ และจะสามารถกลับไปทำกิจกรรมปกติที่เบาๆ ได้ภายใน 2 เดือนและสามารถกลับไปเล่นกีฬาได้ภายใน 4-6 เดือน ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของร่างกายของผู้ป่วยแต่ละบุคคล ที่สำคัญผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ รับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง และติดตามผลการรักษากับแพทย์อย่างเคร่งครัด พร้อมเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันปอดอักเสบติดเชื้อ IPD และ วัคซีนโควิด เป็นต้น
ความเสี่ยงและอาการแทรกซ้อน
การผ่าตัดหัวใจ อาจมีความเสี่ยงและเกิดอาการแทรกซ้อนได้ อย่างไรก็ตามโอกาสในการเกิดอาการแทรกซ้อนต่ำและส่วนมากสามารถแก้ไขได้ เช่น ติดเชื้อบริเวณแผลผ่าตัด มีเลือดออก ไตวาย อัมพาต หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจวายหรือกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน เป็นต้น
การผ่าตัดหัวใจเป็นอีกทางเลือกของการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจากภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน ซึ่งด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย พร้อมกับการมีแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจที่มีประสบการณ์ในปัจจุบัน ทำให้การผ่าตัดหัวใจมีความปลอดภัยสูงและไม่น่ากลัวอย่างที่คิด
นพ.ธิปกร ผังเมืองดี
อายุรศาสตร์โรคหัวใจ / หัตถการปฏิบัติรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด
ศูนย์หัวใจ
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์หัวใจ