การฟื้นฟูปอดหลังติดเชื้อโควิด-19

ศูนย์ : ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู

บทความโดย : พญ. พรหทัย งามวงศ์สงวน

เนื่องจากเชื้อโควิด-19 เป็นเชื้อไวรัส ที่ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจเป็นสำคัญ สามารถทำให้เกิดปอดอักเสบ หายใจเหนื่อย ไอแห้งหรือมีเสมหะร่วมด้วย สำหรับผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 แล้ว และต้องอยู่โรงพยาบาลเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวลดลง เกิดผลกระทบจากการนอนนานๆ เช่น การถดถอยของกำลังกล้ามเนื้อ

คลิปนี้ พญ.พรหทัย ต.ศรีวงษ์ แพทย์ประจำศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลนครธน จะมาแนะนำวิธีการฝึกทำกายภาพบำบัดด้วยตนเองได้ง่ายๆ ขณะอยู่ในโรงพยาบาล เพื่อการฟื้นฟูปอดให้แข็งแรงให้กับผู้ที่ติดเชื้อโควิด -19 โดยวิธีการดังกล่าวเหมาะสมกับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง และรับการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล พร้อมกับการสาธิตโดยนักกายภาพบำบัดวิชาชีพ


การเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มโปรแกรมกายภาพบำบัดอย่างง่ายด้วยตนเอง

สำหรับขั้นตอนนี้มีข้อควรระวังคือหากมีโรคประจำตัวต่อไปนี้ ได้แก่ โรคถุงลมโป่งพอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไต ตับรุนแรง โรคหัวใจขาดเลือด หลอดเลือดดำอุดตัน หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เพิ่งเป็นไม่นาน โรคลิ้นหัวใจตีบ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ไม่ควรทำกายภาพบำบัดด้วยตนเองและควรปรึกษาแพทย์

ก่อนเริ่มการฝึก ต้องวัดสัญญาณชีพว่าอยู่ในเกณฑ์ต่อไปนี้ ด้วยปรอทวัดไข้และ เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว

  • อุณหภูมิร่างกาย : ไม่เกิน 38° องศาเซลเซียส
  • อัตราชีพจร : ไม่เกิน 120 ครั้งต่อนาที
  • ระดับออกซิเจนในเลือด : อยู่ระหว่าง 95-100%
  • หากมีการวัดความดันโลหิตร่วมด้วย ความดันโลหิตตัวบนควรอยู่ในช่วง 90-140
  • ความดันโลหิตตัวล่างควรอยู่ในช่วง 60-90 มิลลิเมตรปรอท
  • ไม่มีอาการหอบเหนื่อยรุนแรง หรือใจสั่นขณะพัก
  • ทั้งนี้หากไม่เป็นไปตามเกณฑ์ข้างต้น ควรงดการฝึกด้วยตนเองในวันนั้นๆ และรายงานให้แพทย์หรือพยาบาลทราบ

ที่สำคัญระหว่างการฝึก ควรสังเกตอาการของตนเองอยู่เสมอ หากมีอาการผิดปกติ ได้แก่ เจ็บแน่นหน้าอก ใจสั่น หอบเหนื่อยรุนแรง คลื่นไส้อาเจียน ตาพร่ามัว ให้หยุดการฝึกทันที ถ้าพักแล้วไม่ดีขึ้น ควรรายงานให้แพทย์หรือพยาบาลทราบ


การฝึกหายใจด้วยตนเอง

วัตถุประสงค์ในการฝึกหายใจด้วยตนเองนั้น เพื่อเป็นการเพิ่มการระบายอากาศและการแลกเปลี่ยนก๊าซภายในปอด ช่วยป้องกันภาวะปอดแฟบ เพิ่มประสิทธิภาพของกล้ามเนื้อในการหายใจ ใช้พลังงานในการหายใจน้อยลง ช่วยเพิ่มความผ่อนคลาย ทั้งนี้การฝึกในส่วนนี้ สามารถทำได้ทุก 1-2 ชั่วโมง ยกเว้นช่วงที่นอนหลับพักผ่อน

1. การฝึกหายใจด้วยกล้ามเนื้อกระบังลม

เริ่มโดยอยู่ในท่าที่สบาย เช่น นั่งบนเตียงที่ปรับเอนประมาณ 45 องศา รองหมอนที่ศีรษะและเข่า หรือสามารถนั่งบนเก้าอี้แทนได้ จากนั้นให้วางมือข้างหนึ่งบนหน้าอก และมืออีกข้างหนึ่งที่ท้องส่วนบน บริเวณใต้ลิ้นปี่ ผ่อนช่วงคอบ่าลงโดยไม่ต้องเกร็ง จากนั้นหายใจเข้าทางจมูกช้าๆ ให้ท้องป่อง หายใจออกทางปากช้าๆ ท้องยุบ โดยสังเกตว่ามือที่วางอยู่บนหน้าท้องขยับขึ้น และลง ตามการหายใจ ในขณะที่ทรวงอกไม่ขยับ สังเกตว่ามือที่วางบนทรวงอกจะนิ่ง ทำชุดละ 5-10 ครั้ง

2. การฝึกหายใจโดยเน้นการขยายตัวของทรวงอกส่วนล่าง

อยู่ในท่าที่สบาย วางมือทั้งสองข้างที่ทรวงอกส่วนล่าง บริเวณชายโครง หายใจเข้าช้าๆ ให้ทรวงอกส่วนล่างขยาย หายใจออก ทรวงอกส่วนล่างหุบเข้า โดยสังเกตว่ามือที่วางอยู่บนชายโครงขยับตามการหายใจ หายใจเข้า ซี่โครงบานออก หายใจออกซี่โครงหุบเข้าทำชุดละ 5-10 ครั้ง

3. การเคลื่อนไหวผนังทรวงอกด้วยตนเอง นั่งในท่าที่สบาย

  • ท่าที่ 1 หายใจเข้าช้าๆ พร้อมกับยกแขนทั้งสองขึ้นไปข้างหน้า หายใจออกช้าๆ พร้อมกับผ่อนแขนลง ทำ 10 ครั้ง
  • ท่าที่ 2 หายใจเข้าช้าๆ พร้อมกับกางแขนทั้งสองขึ้นไปด้านข้าง หายใจออกช้าๆ พร้อมกับผ่อนแขนลง ทำ 10 ครั้ง
  • ท่าที่ 3 หายใจเข้าช้าๆ พร้อมกับยกแขนขวาขึ้น และเอียงลำตัวไปทางซ้าย พร้อมกับผ่อนแขนลง สลับข้าง ทำ 10 ครั้ง

การระบายเสมหะด้วยตนเอง (ในกรณีที่มีเสมหะ)

หากคุณมีเสมหะร่วมด้วย สามารถระบายเสมหะด้วยตนเองตามขั้นตอน ทั้งนี้ควรเตรียมอุปกรณ์เช่น กระดาษทิชชู ถุงสำหรับใส่ทิชชูเปื้อน เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ สำหรับทำความสะอาดเมื่อมีการไอขับเสมหะระหว่างการฝึก และควรอยู่ห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 2 เมตร สวมใส่หน้ากากอนามัยขณะฝึก และไอใส่กระดาษทิชชู

สามารถฝึกเทคนิคการขับเสมหะโดยการพ่นลมหายใจ (huffing) ดังนี้

ครั้งที่ 1 หายใจเข้าลึกที่สุด โน้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย ห่อปากเป็นรูปวงกลม พ่นลมออกทางปากแรงและยาว ใช้แรงจากหน้าท้องช่วย

ครั้งที่ 2 หายใจเข้าลึกเท่าปกติ ทำเช่นเดียวกับครั้งแรก เมื่อทำได้แล้ว เราจะฝึกหายใจสลับกับพ่นลมหายใจเพื่อขับเสมหะ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายอากาศและการขับเสมหะ ตามขั้นตอน ดังนี้

  1. หายใจด้วยกระบังลม 3 ครั้ง โดยการวางมือข้างหนึ่งบนหน้าอก และมืออีกข้างหนึ่งที่ท้องส่วนบน บริเวณใต้ลิ้นปี่ ผ่อนช่วงคอบ่าลง ไม่เกร็ง จากนั้นหายใจเข้าทางจมูกช้าๆ ให้ท้องป่อง หายใจออกทางปากช้าๆ ท้องยุบ
    • หายใจเข้าท้องป่อง หายใจออกท้องยุบ นับ 1
    • หายใจเข้าท้องป่อง หายใจออกท้องยุบ นับ 2
    • หายใจเข้าท้องป่อง หายใจออกท้องยุบ นับ 3
  2. หายใจโดยเน้นการขยายตัวของทรวงอกส่วนล่าง 3 ครั้ง
    • วางมือทั้งสองข้างที่ทรวงอกส่วนล่าง บริเวณชายโครง
    • หายใจเข้าช้าๆ ให้ทรวงอกส่วนล่างขยาย หายใจออก ทรวงอกส่วนล่างหุบเข้า
    • หายใจเข้าซี่โครงบาน หายใจออกซี่โครงหุบเข้า นับ 1
    • หายใจเข้าซี่โครงบาน หายใจออกซี่โครงหุบเข้า นับ 2
    • หายใจเข้าซี่โครงบาน หายใจออกซี่โครงหุบเข้า นับ 3
  3. ขับเสมหะโดยการพ่นลมหายใจ
    • ครั้งที่ 1 หายใจเข้าลึกที่สุด โน้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย ห่อปากเป็นรูปวงกลม พ่นลมออกทางปากแรงและยาว เกร็งหน้าท้องช่วย
    • ครั้งที่ 2 หายใจเข้าลึกเท่าปกติ ห่อปากเป็นรูปวงกลม พ่นลมออกทางปากแรงและยาว เกร็งหน้าท้องช่วย โดยผ่อนลมหายใจสบายๆ หายใจในลักษณะปกติ 2-3 ครั้ง

หลังเสร็จสิ้นขั้นตอนข้างต้นแล้ว ถ้ามีเสมหะ ให้ไอออกมา โดยหันหน้าไปยังทิศทางออกจากผู้อื่นและไอใส่กระดาษทิชชูแต่หากเสมหะยังไม่ออก สามารถทำซํ้าอีก 1 รอบได้ ทั้งนี้หากรู้สึกเวียนศีรษะคล้ายหน้ามืดขณะฝึก ควรพักสักครู่


การออกกำลังแขนขาอย่างง่าย และการทำกิจวัตรประจำวันทั่วไป

ควรนอนบนเตียงในท่าที่สบาย

  • กระดกเท้าทั้งสองข้างขึ้น-ลง 10 ครั้ง
  • งอเข่าและสะโพกขึ้นลง ซ้าย 10 ครั้ง และขวา 10 ครั้ง
  • กางขาเข้าออก ซ้าย 10 ครั้ง และขวา 10 ครั้ง
  • กำและแบมือทั้งสองข้าง 10 ครั้ง
  • กระดกข้อมือทั้งสองข้าง 10 ครั้ง
  • งอและเหยียดศอกทั้งสองข้าง 10 ครั้ง
  • กางแขนทั้งสองข้างขึ้นลง 10 ครั้ง
  • ยกแขนทั้งสองข้างขึ้นลง 10 ครั้ง

ทั้งนี้หากผู้ป่วยมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงสามารถลุกเดิน ทำกิจวัตรประจำวันในห้องได้เป็นปกติ เพื่อให้มีการขยับเคลื่อนไหวของร่างกายอยู่เสมอ แต่หากเป็นผู้สูงอายุ มีประวัติพลัดตกหกล้มหรือต้องการบุคคลช่วยเหลือในขณะเดินหรือลงจากเตียง ไม่ควรลุกทำกิจกรรมต่างๆ เอง โดยอาจใช้วิธีการนั่งห้อยขาข้างเตียง หรือปรับเตียงขึ้นนั่งเพื่อทำกิจวัตรประจำวันบนเตียงได้


Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย