การหกล้มในผู้สูงวัย เรื่องใหญ่ใกล้ตัว
ศูนย์ : บริการทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ, ศูนย์อายุรกรรม
บทความโดย : นพ. ภาณุวัฒก์ ว่องตระกูลเรือง
ลูกๆ หลานๆ ที่มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ในบ้านรู้หรือไม่ว่า “การพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ” เป็นปัญหาการบาดเจ็บที่พบบ่อยอันดับต้นๆ โดยมีอัตราการเสียชีวิตจากการหกล้มสูงเป็นอันดับ 2 เฉลี่ย 3 คนต่อวัน รองจากการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนอีกด้วย แล้วสาเหตุการหกล้มในผู้สูงอายุเกิดจากอะไร มีผลกระทบอย่างไร และเราสามารถป้องกันอันตรายจากการหกล้มในผู้สูงอายุได้อย่างไรบ้างนั้น มาร่วมไขข้อสงสัย พร้อมฟังคำแนะนำจาก นพ. ภาณุวัฒก์ ว่องตระกูลเรือง แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์ผู้สูงอายุ
สาเหตุการหกล้มในผู้สูงอายุ
การหกล้มในผู้สูงอายุนั้น เกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น
- ตา อาจจะมีต้อกระจก หรือมีต้อหิน ทำให้การมองเห็นไม่ดี
- หู อาจจะมีภาวะน้ำในหูไม่เท่ากัน หรือบางคนอาจมีโรคประจำตัว ทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะได้ง่าย หรือจากยาต่างๆ
- ภาวะพวกกล้ามเนื้อ มวลกล้ามเนื้อลดลง ก็ทำให้มีการอ่อนแรงมากขึ้น สะดุดหกล้มง่ายขึ้น
- โครงสร้างของกระดูกที่ผิดรูปไปจากภาวะกระดูกเสื่อม ภาวะกระดูกพรุน ทำให้กระดูกผิดรูปต่างๆ หลังโก่งโค้งงอ เข่าเสื่อม
- ภาวะเกี่ยวกับระบบประสาท เช่น เส้นประสทรับความรู้สึกแถวปลายขา เกิดอาการชาจากกระดูกทับเส้นประสาท หรือจากเบาหวาน ทำให้การรับรู้ของเส้นประสาทปลายขาไม่ดี เมื่อเดินไป ก็อาจทำให้สะดุดหกล้มได้ง่าย
ซึ่งสาเหตุต่างๆ ที่กล่าวมานี้ ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการหกล้มในผู้สูงอายุล้มได้ทั้งหมด
ปัจจัยเสี่ยงของการหกล้ม
ปัจจัยเสี่ยงของการหกล้ม มีตั้งแต่ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมทั้งในบ้านและนอกบ้าน เช่น พื้นฟุตบาทไม่เรียบ อยู่ในบ้านที่พื้นลื่น หรือการสวมรองเท้าที่ไม่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุบางคนยังใส่รองเท้าหูคีบอยู่ ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุหกล้มได้ง่าย
นอกจากนี้ พฤติกรรมบางอย่างของผู้สูงอายุเองก็เป็นปัจจัยเสี่ยง ผู้สูงอายุบางท่านอาจจะเป็นคนชอบเดินไว ตั้งแต่วัยหนุ่มๆ สาวๆ และยิ่งอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยให้ปลอดภัย รวมทั้งปัจจัยทางร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้สูงอายุเอง ก็ทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการหกล้มได้
ผลกระทบจากการหกล้ม
อุบัติเหตุเรื่องการหกล้มในผู้สูงอายุ เป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการที่จะต้องผ่าตัดจากกระดูกหัก เพิ่มภาวะติดเตียงตามมาจากกระดูกหัก และเพิ่มอัตราการเสียในผู้สูงอายุมากขึ้น เพราะฉะนั้น แค่การหกล้มอย่างเดียวความเสี่ยงก็สูงมากแล้ว ทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมาได้อีกเยอะแยะมากมาย
การป้องกันการหกล้ม
การป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุนั้น ญาติหรือผู้ดูแลมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะอย่างที่เราทราบกันดีแล้วว่าปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ผู้สูงอายุหกล้มนั้นมีหลากหลาย การป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุจึงดูแลในหลายๆ องค์ประกอบร่วมกัน เช่น
- ปัจจัยทางสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ผู้ดูแลหรือญาติก็ต้องระมัดดูแลตั้งแต่หัวจรดเท้า
- ถัดมาคือปัจจัยทางสภาพแวดล้อม สถานที่ที่ผู้สูงอายุหกล้มเป็นประจำ เราก็ต้องระมัดระวังในส่วนนี้
- การใช้อุปกรณ์ช่วยพยุง ผู้สูงอายุบางรายอาจมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เครื่องช่วยพยุงแต่ปฏิเสธที่จะใช้ ญาติหรือผู้ดูแลเองก็จะต้องหาวิธีนี้ปรับให้ผู้สูงอายุยอมใช้อุปกรณ์เหล่านี้ หรือระมัดระวังมากขึ้น
การหกล้มในผู้สูงอายุนั้นเกิดขึ้นได้ แต่ไม่ควรเกิดขึ้นบ่อย คนที่ดูแลหรือญาติสามารถประเมินด้วยตนเองได้เบื้องต้นคือ ผู้สูงอายุไม่ควรเกิดอุบัติเหตุหกล้มมากกว่า 1 ครั้ง ใน 1 ปี หากว่ามีการหกล้มบ่อยหรือถี่กว่านั้น ควรมาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของการหกล้ม
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์บริการทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ, ศูนย์อายุรกรรม