ขี้หลง ขี้ลืม แบบไหนในผู้สูงอายุ อาการเริ่มโรคอัลไซเมอร์

ศูนย์ : ศูนย์อายุรกรรม, บริการทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ

บทความโดย :

ขี้หลง ขี้ลืม แบบไหนในผู้สูงอายุ อาการเริ่มโรคอัลไซเมอร์

ปัญหาส่วนใหญ่ของอาการขี้หลง ขี้ลืม จากโรคอัลไซเมอร์ ในผู้สูงอายุ มีข้อบ่งชี้ที่แพทย์ระบุได้ชัดเจน และควรต้องเร่งมาพบแพทย์ เพื่อชะลอความเสื่อมที่จะมีอาการเพิ่มมากขึ้น หากผู้สูงอายุที่บ้านเริ่มมีสัญญาณ ได้แก่ ลืมว่าวางของที่ใช้เป็นประจำไว้ตรงไหน จำไม่ได้เลยว่ามีเหตุการณ์นั้นๆ เกิดขึ้น หรือลืมแล้วลืมเลย ลืมจนช่วยตนเองไม่ได้ และอาการจะรุนแรงขึ้นจนส่งผลกระทบต่องานอดิเรก กิจกรรมทางสังคม และความสัมพันธ์ในครอบครัว


สาเหตุอาการขี้หลง ขี้ลืม

ภาวะสมองเสื่อม เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่ที่พบได้บ่อย คือ ผู้สูงอายุสมองเสื่อมมีสาเหตุมาจากโรคอัลไซเมอร์ เกิดจากเนื้อสมองมีการเสื่อมสลายหรือตาย รองลงมาคือ โรคหลอดเลือดสมองมีความผิดปกติ แข็งตัว หนา หรือมีการตีบผิดปกติ

โดยสาเหตุสำคัญคือเมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ เซลล์สมองจะเริ่มตายไปเรื่อยๆ มากหรือน้อย ซึ่งภาวะสมองเสื่อม เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากการสูญเสียหน้าที่ของสมองหลายๆ อย่างพร้อมๆกัน อาการดังกล่าวมักเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างช้าๆแต่ถาวรขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ของแต่ละบุคคล และจะไม่มีเซลล์สมองใหม่เกิดขึ้นมาทดแทน โดยทั่วไปหน้าที่ของสมองที่เริ่มสูญเสียก่อนเป็นอันดับแรก คือ ความจำ และการสูญเสียดังกล่าวทำให้ผู้ป่วยสมองเสื่อม สูญเสียความสามารถในการประกอบอาชีพการงาน การเข้าสังคม และความสามารถในการช่วยเหลือตนเองในที่สุด



ขี้หลง ขี้ลืม แบบนี้เป็นอาการของโรคอัลไซเมอร์

  • อาการหลงลืม เช่น หลงลืมสิ่งของ ลืมนัด จำเหตุการณ์หรือคำพูดที่เพิ่งผ่านมาไม่ได้ ลืมสิ่งใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น ลืมวันสำคัญหรือเหตุการณ์สำคัญที่ผ่านมา
  • สับสนเรื่องเวลา สถานที่ ฤดูกาล กลับบ้านไม่ถูก หลงทิศทาง หรือไม่รู้ว่าจะไปสถานที่นั้นๆ ได้อย่างไร
  • จำบุคคลที่เคยรู้จัก เพื่อน หรือสมาชิกในครอบครัวไม่ได้ คิดว่าเป็นคนแปลกหน้า
  • เวลาส่องกระจกมักจะคิดว่าไม่ใช่ตัวเอง คิดว่ามีคนอีกคนอยู่ในกระจกนั้นหรือมีคนอยู่ในห้องนั้นอีกคน
  • มีปัญหาเรื่องการพูด ลืม หรือเรียกสิ่งของไม่ถูก พูดคำหรือประโยคซ้ำๆ
  • ไม่สนใจในสิ่งที่เคยสนใจ เช่น กิจกรรมประจำวัน งานอดิเรก
  • มีปัญหาเรื่องการนับหรือทอนเงิน การใช้โทรศัพท์
  • มีพฤติกรรมที่อาจเกิดปัญหายุ่งยาก เช่น ออกนอกบ้านเวลากลางคืน พฤติกรรมก้าวร้าว
  • ไม่สนใจดูแลความสะอาดของตัวเอง เช่น แปรงฟันไม่เป็น อาบน้ำไม่เป็น
  • ซึมเศร้า ร้องไห้โดยไม่มีเหตุผล

จากอาการและพฤติกรรมทั้งหมดนี้ จะสังเกตได้ว่าอาการขี้หลงขี้ลืมหรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปนั้น เป็นความผิดปกติด้านความจำ ความคิด คำพูด และด้านพฤติกรรมหรือการกระทำ เราจึงต้องพิจารณาถึงทุกด้านไปพร้อมๆ กัน ว่าอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นเข้าเกณฑ์การเป็นโรคอัลไซเมอร์หรือไม่

การวินิจฉัยโดยทั่วไปแพทย์จะมีการซักประวัติจากผู้ป่วย ญาติ หรือผู้ดูแลที่สามารถให้ข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับความสามารถในชีวิตประจำวัน และพฤติกรรมที่บ่งบอกถึงความถดถอยด้านการทำงานของสมอง ว่าสอดคล้องกับอาการสมองเสื่อมหรือไม่ ร่วมกับทำการตรวจอื่นๆ การตรวจเลือดต่างๆ การตรวจภาพสมองด้วยเครื่อง Computed Tomography (CT) หรือ Magnetic Resonance Imaging (MRI)

ในด้านของการรักษานั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุเป็นหลัก โดยผู้ป่วยที่ภาวะสมองเสื่อมเกิดจากโรคอัลไซเมอร์นั้น การรักษาจะประกอบด้วยการให้ยาที่ทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้นและชะลอการดำเนินโรคให้ช้าลง การรักษาด้วยเครื่องกระตุ้นสมองด้วยกระแสไฟฟ้าอย่างอ่อนเพิ่มความจำและความสามารถของสมอง เป็นต้น ส่วนผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ที่ไม่ได้เกิดจากความเสื่อมของเซลล์ประสาทนั้น จะเป็นการรักษาสาเหตุของโรคเป็นหลัก


การป้องกันอาการขี้หลง ขี้ลืม

  • หากมีอาการหลงลืมจากผลข้างเคียงของยา จากการที่ผู้สูงอายุที่ต้องรับประทานยาหลายชนิดร่วมกันอาจทำให้เกิดอาการหลงลืม เนื่องจากเป็นผลข้างเคียงของยา เช่น ยานอนหลับ ยาแก้แพ้ ยาลดความดันโลหิตสูง และยารักษาโรคปวดข้อ เป็นต้น การดูแลสุขภาพ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สามารถลดภาวะการเจ็บป่วย ลดปริมาณยาที่ต้องทานได้
  • ภาวการณ์ขาดน้ำก็เป็นอีกสาเหตุ หากร่างกายขาดน้ำอย่างรุนแรงอาจส่งผลให้เกิดอาการสับสน เวียนศีรษะ หลงลืม และอาการอื่นๆ ที่เหมือนกับโรคสมองเสื่อม ดังนั้น จึงควรดื่มน้ำตลอดให้เพียงพอ จำนวน 6-8 แก้วต่อวัน
  • รับประทานผักและผลไม้จำนวนมากและดื่มชาเขียว เพราะอาหารเหล่านี้อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาพของเซลล์สมอง และอาหารที่อุดมไปด้วยไขมันโอเมก้า 3 ในปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาเทราต์ วอลนัต และเมล็ดแฟล็กซ์ มีประโยชน์ต่อสมองและความทรงจำ
  • ฝึกสมองโดยการเล่นเกมที่เกี่ยวกับความจำหรือคำนวณตัวเลข
  • หลีกเลี่ยงความเครียด
  • พยายามทำสิ่งใหม่ๆ เช่น อาหารสูตรใหม่ เครื่องดนตรี หรือภาษาใหม่

หากผู้สูงอายุในครอบครัวมีอาการผิดปกติ มีปัญหาดังกล่าวข้อใดข้อหนึ่งหรือมากกว่า อาจเป็นไปได้ว่ามีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคอัลไซเมอร์ หรืออาจมีปัญหาด้านสุขภาพอื่นๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อแพทย์จะได้หาสาเหตุที่ชัดเจน หากสาเหตุนั้นไม่ใช่โรคอัลไซเมอร์จะได้ทำการรักษาอย่างทันท่วงที เนื่องจากมีหลายโรคที่มีอาการหลงลืม ความจำเสื่อม ร่วมด้วย เช่น โรคไทรอยด์ ซิฟิลิสขึ้นสมอง หรือโรคขาดวิตามินบี 12 เป็นต้น


Share :

บทความทางการแพทย์ศูนย์อายุรกรรม, บริการทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย