ข้อควรรู้! ของผู้ที่ต้องการปลูกถ่ายไต ก่อนผ่าตัดปลูกถ่ายไต

ศูนย์ : ศูนย์อายุรกรรม, แผนกไตเทียม

บทความโดย : นพ. อำนวย ศิริโสภา

ข้อควรรู้! ของผู้ที่ต้องการปลูกถ่ายไต ก่อนผ่าตัดปลูกถ่ายไต

สำหรับผู้ป่วยที่ทำการฟอกไต “การผ่าตัดปลูกถ่ายไต” เป็นการบำบัดทดแทนไตที่ดี เพื่อรักษาโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย ผู้ป่วยไม่ต้องกังวลกับการฟอกไต สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งทางทีมแพทย์ผ่าตัดปลูกถ่ายไต จะนำไตที่ได้จากการรับบริจาคมาผ่าตัดปลูกถ่ายไตให้แก่ผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้าย ปัจจุบันผู้ป่วยโรคไตที่ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตสำเร็จแล้ว จะมีอายุยืนยาวและกลับมาดำรงชีวิตได้ตามปกติ มีคุณภาพชีวิตที่ดี ประกอบอาชีพได้ หลังปลูกถ่ายไตแล้วผู้ป่วยสามารถตั้งครรภ์และมีบุตรได้ตามปกติ


การปลูกถ่ายไตคืออะไร

การปลูกถ่ายไต (Kidney transplantation) คือ การรักษาผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายโดยการใช้ไตจากผู้อื่น ซึ่งผ่านการตรวจแล้วว่าเข้ากันได้ ให้มาทำหน้าที่แทนไตเก่าของผู้ป่วยที่สูญเสียไปอย่างถาวรแล้ว ปัจจุบันถือว่าเป็นการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยไตเรื้อรังทั้งในวัยเด็กและผู้ใหญ่ เนื่องจากถ้าไตใหม่ทำหน้าที่ได้ดีแล้ว สามารถทดแทนไตเติมได้สมบูรณ์คุณภาพชีวิตจะดีขึ้น

วิธีการปลูกถ่ายไต ทำได้ด้วยการนำไตของผู้อื่นที่เข้ากับผู้ป่วยได้มาปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วย ไม่ใช่การเปลี่ยนเอาไตผู้ป่วยออกแล้วเอาไตผู้อื่นใส่เข้าแทนที่ การผ่าตัดทำโดยการวางไตใหม่ไว้ในอุ้งเชิงกรานข้างใดข้างหนึ่งของผู้ป่วย แล้วต่อหลอดเลือดของไตใหม่เข้ากับหลอดเลือดของผู้ป่วย และต่อท่อไตใหม่เข้าในกระเพาะปัสสาวะของผู้ป่วย การปลูกถ่ายไตนี้ใช้ได้เพียงข้างเดียวก็พอ


ใครสามารถเป็นผู้รับการปลูกถ่ายไตได้

  • ผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย การทำงานของไตน้อยกว่า 15%
  • ผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัวร้ายแรงที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการผ่าตัด ไม่มีภาวะติดเชื้อ
  • ผู้ที่ไม่เป็นโรคมะเร็ง หรือเป็นแต่รักษาจนหายขาดแล้ว
  • ผู้ที่แพทย์พิจารณาแล้วว่า การปลูกถ่ายไตได้ประโยชน์มากกว่าโทษ (ยกเว้นโรคตับอักเสบบีและซี)
  • ผู้ที่ไม่ติดเชื้อ HIV
  • ผู้ที่มีสภาพจิตเป็นปกติ
  • ผู้ที่ไม่มีความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะที่แก้ไขไม่ได้
  • ไม่เป็นผู้ติดยาเสพติด

ไตที่ใช้ในการปลูกถ่ายได้มาจากไหนบ้าง

  1. Living Donor คือ ไตจากผู้บริจาคที่มีชีวิต ซึ่งในทางกฎหมายผู้บริจาคจะต้องเป็นญาติที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือด หรือเป็นการบริจาคไตสามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรสกันมาไม่น้อยกว่า 3 ปี จึงจะสามารถทำเรื่องขอบริจาคได้ แต่หากในกรณีที่ทั้งคู่มีบุตรด้วยกัน ก็ไม่จำเป็นต้องรอจนครบ 3 ปี
  2. Deceased Donor คือ ไตจากผู้เสียชีวิต มาจากผู้บริจาคสมองตาย โดยในทางกฎหมายและทางการแพทย์ถือว่าเป็นผู้เสียชีวิตแล้ว แต่ไตยังทำงานเป็นปกติดีอยู่ ทั้งนี้การบริจาคไตต้องเกิดจากความประสงค์ของเจ้าของไต หรือได้รับการยินยอมจากญาติผู้เสียชีวิตแล้วเท่านั้น

ขั้นตอนขอรับไตบริจาค ไม่ยากอย่างที่คิด

1. ในกรณีของผู้บริจาคมีชีวิตจะใช้เวลาในการปลูกถ่ายไตแก่ผู้ป่วยไม่นาน แต่ต้องหลังจากที่ผ่านการประเมินความพร้อมของผู้บริจาค การเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อ และต้องแน่ใจด้วยว่าผู้ป่วยมีสุขภาพแข็งแรง พร้อมสำหรับการผ่าตัดเปลี่ยนไตมากที่สุด

2. ในกรณีผู้ป่วยไม่ได้มีญาติที่พร้อมจะบริจาคไตให้ได้ ผู้ป่วยต้องรอรับไตจากผู้บริจาคที่เสียชีวิต โดย ผู้ป่วยจะต้องลงทะเบียนสมัครรอรับไตบริจาคกับโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองจากศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย เพื่อรอการติดกลับเมื่อถึงคิวที่จะได้รับไตบริจาค โดยมีขั้นตอน ดังนี้

  1. ติดต่อลงทะเบียนสมัครรอรับไตบริจาค กับโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองจากศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทยว่าสามารถผ่าตัดปลูกถ่ายไตได้ โดยเลือกลงทะเบียนเพียงแห่งใดแห่งหนึ่งเท่านั้น
  2. ผู้ป่วยที่รอไตใหม่จะต้องตรวจร่างกายโดยละเอียด เพื่อประเมินความพร้อมและตรวจดูชนิดของเนื้อเยื่อ (HLA Typing) จากนั้น โรงพยาบาลนำข้อมูลผู้ป่วยส่งไปยังศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย เพื่อรอการติดกลับเมื่อถึงคิวที่จะได้รับไตบริจาค โดยผู้ป่วยจะได้รับไตจาก 2 กรณี คือ
    • พิจารณาตามเกณฑ์ best match หรือการจัดสรรไตให้กับผู้ป่วยที่มีคะแนนสูงสุดจากการคำนวณตามเกณฑ์การจัดสรรไตของศูนย์รับบริจาคอวัยวะ ซึ่งประกอบด้วยปัจจัยต่างๆ เช่น ความเหมือนกันของเนื้อเยื่อ อายุ ระยะเวลาการฟอกเลือดหรือล้างไต เป็นต้น
    • ได้รับไตที่จัดสรรให้กับผู้ป่วยของโรงพยาบาลที่เป็นทีมทำผ่าตัดนำอวัยวะออก (procurement team)
  3. ผู้ป่วยที่รอไตใหม่จะต้องเตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอเพื่อไม่ให้พลาดโอกาสที่จะได้รับการเปลี่ยนไต เช่น ต้องดูแลร่างกายให้แข็งแรง เข้ารับการฟอกเลือดหรือล้างไตตามแผนการรักษาปกติ รวมถึงวางแผนการเดินทางมายังโรงพยาบาลทันทีที่ได้รับการติดต่อสำหรับการผ่าตัดด่วน

พร้อมผ่าตัดปลูกถ่ายไต

ด้วยแผนกไตเทียม ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลนครธน ร่วมมือกับ “บำรุงราษฎร์ เฮลท์ เน็ตเวิร์ก” โดยทีมผ่าตัดปลูกถ่ายไต โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ทีมแพทย์ผ่าตัดที่มีความพร้อมในการเดินทางไปผ่าตัดไตที่บริจาคจากสถานที่ต่างๆ นอกโรงพยาบาล นอกจากนี้ โรงพยาบาลนครธน ยังมีทีมแพทย์ พร้อมแพทย์สาขาอื่นๆ โดยทำงานร่วมกันเป็นทีมสหวิชาชีพ (Multidisciplinary Team) ในการดูแลผู้ป่วยก่อนผ่าตัดปลูกถ่ายไต เช่น ทีมพยาบาลประสานงานโรคไต ทีมพยาบาลที่ให้คำปรึกษาผู้ป่วย และการดูแลภาวะหลังการผ่าตัดปลูกถ่ายไต โดยทีมทีมแพทย์พยาบาลมากด้วยประสบการณ์ โดยเฉพาะการผ่าตัดที่ซับซ้อน และพร้อมจะผ่าตัดปลูกถ่ายไตให้ผู้ป่วยหลังจากไตบริจาคมาถึงโรงพยาบาล สำหรับผู้ป่วยโรคไตที่ลงทะเบียน กับสภากาชาด สามารถเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายกับแผนกไตเทียม โรงพยาบาลนครธนได้โดยไม่หลุดคิว

ผู้ป่วยที่ประสงค์อยากปลูกถ่ายไตใหม่ สามารถเข้ามารับคำปรึกษาจากแพทย์แผนกไตเทียม ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลนครธน เพื่อขอข้อมูลเบื้องต้นประกอบการตัดสินใจได้





ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย