คนอ้วน-เครียด-ไขมันสูง ฟังไว้! แพทย์เตือนเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ
ศูนย์ : ศูนย์หัวใจ
ด้วยไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของคนในยุคนี้ที่มักโหยหาแต่การกินอาหารแบบบุฟเฟต์ กินอาหารปิ้งย่างที่มีไขมันสูง ประกอบกับการทำงานในแต่ละวันที่ก่อให้เกิดความเครียดสะสม อีกทั้งยังไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ทำให้อ้วนได้ง่ายๆ บอกเลยว่าถ้าขืนยังใช้ชีวิตแบบนี้อยู่ละก็ คุณอาจเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจได้! ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคดังกล่าวเราจึงควรมาทำความรู้จักกับโรคนี้ให้มากขึ้น
โรคหลอดเลือดหัวใจ
โรคหลอดเลือดหัวใจ (coronary artery disease) หมายถึง โรคที่เกิดจากหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ (coronary artery) ตีบหรือตัน โดยสาเหตุเกิดจากไขมันสะสมในผนังหลอดเลือด ทำให้เนื้อเยื่อผนังหลอดเลือดชั้นในหนาตัวเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้หลอดเลือดตีบแคบลง ส่งผลให้เลือดไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอ จนเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ซึ่งจะทำให้มีอาการเจ็บหน้าอกเฉียบพลัน หากคราบไขมันที่จะสะสมอยู่ที่ผนังหลอดเลือดชั้นในแตกออกจะกลายเป็นลิ่มเลือด จะเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันทำให้เสียชีวิตกะทันหันได้
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ แบ่งได้ดังนี้
- ปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ อันได้แก่
- พันธุกรรม - บุคคลในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหัวใจ เช่น พ่อและแม่
- อายุ - ความเสี่ยงของโรคจะเพิ่มขึ้นตามอายุ
- เพศ - เพศชายมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจมากกว่าเพศหญิง
- ปัจจัยที่สามารถควบคุมได้
- น้ำหนักเกิน (ภาวะอ้วน) - คนที่มีค่า BMI มากกว่า 30 มีอัตราเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ
- ภาวะความดันโลหิตสูง - การปล่อยให้ความดันโลหิตสูงอยู่นานๆ
- ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง - เบาหวานจะทำให้หลอดเลือดต่างๆ เสื่อมลง จึงจำเป็นต้องควบคุมน้ำตาลให้มากที่สุด
- ภาวะไขมันในหลอดเลือดผิดปกติ - ผู้ที่มี LDL สูง จะมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจสูงขึ้น
- ไม่ออกกำลังกาย ความเครียด
- การสูบบุหรี่ - บุคคลที่สูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจมากกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ 2-4 เท่า
อาการที่บ่งชี้ว่าผู้ป่วยควรมาพบแพทย์
- อาการเจ็บหน้าอกเหมือนมีอะไรมากดทับหรือรัดกลางหน้าอก อาจมีร้าวไปคอไหล่ กรามและแขนทั้งสองข้าง เป็นมากขึ้นเมื่อออกแรง
- มีอาการเหนื่อย หายใจหอบ นอนราบไม่ได้ แน่นอึดอัด หายใจไม่เต็มปอด มีอาการเจ็บหน้าอกร่วมด้วย อาจเกิดขึ้นเฉียบพลันหรือเป็นๆ หายๆ มาเป็นเวลานาน
- มีอาการเวียนศีรษะ เหมือนจะเป็นลม ร่วมกับแน่นหน้าอก เหงื่อออก
- อาการหมดสติ หัวใจหยุดเต้น
การตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจ
- ตรวจร่างกายและซักประวัติ
- ตรวจผลเลือด
- ตรวจพิเศษ ได้แก่ การตรวจกราฟไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram) การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram) การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise stress test)
- ตรวจวินิจฉัยโรคด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (CTA) การสวนหัวใจ ( cardiac catheterization angiogram)
แนวทางการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ
- แนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่อาจทำให้เกิดปัจจัยเสี่ยง เช่น การเลิกบุหรี่ ออกกำลังกาย ควบคุมอาหาร
- รักษาด้วยยา คือ รับประทานยาลดการต้านเกล็ดเลือด และยาควบคุมการเต้นของหัวใจ ยาลดไขมัน ยาลดความดันโลหิต
- รักษาด้วยการขยายหลอดเลือดหัวใจ โดยการใช้บอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจบริเวณที่ตีบตันและใช้ขดลวดค้ำยันผนังหลอดเลือด
- การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือด (coronary artery bypass grafting (CABG))
ดังนั้น เพื่อไม่ให้ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ เราจึงควรปรับพฤติกรรมการบริโภคอาหาร หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ หยุดสูบบุหรี่ และลดความเครียดลงบ้างก็จะเป็นการดี
บทความทางการแพทย์ศูนย์หัวใจ