![โรคไต โรคไต](/Upload/Images/Content/638748647261747639/Image_ไต 1 - Suttinee Densanguanwong.jpg)
โรคไต เป็นโรคที่ค่อยๆ เกิดขึ้นและอาจไม่มีอาการในระยะเริ่มต้น ทำให้หลายคนไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคนี้ จนกระทั่งอาการรุนแรงขึ้นแล้ว การสังเกตอาการเบื้องต้นจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก นอกจากนี้การตรวจวินิจฉัยโรคไตเป็นขั้นตอนสำคัญในการประเมินสุขภาพของไตและค้นหาสาเหตุของปัญหาที่อาจเกิดขึ้น การตรวจเหล่านี้จะช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาที่เหมาะสมได้อย่างแม่นยำ
สารบัญ
อาการที่บ่งบอกว่าอาจเป็นโรคไต
- ปัสสาวะผิดปกติ ปัสสาวะมีฟองมากผิดปกติ ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะบ่อยขึ้น โดยเฉพาะกลางคืน
- บวมตามตัว เช่น หน้า บวม ตา บวม เท้า หรือขา
- อ่อนเพลีย รู้สึกเหนื่อยล้าง่าย
- เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
- ผิวหนังมีปัญหา ผิวหนังซีด คัน หรือมีจ้ำเลือดขึ้นง่าย
- ปวดหลัง โดยเฉพาะบริเวณเอว
- ปัสสาวะน้อยลง หรือปัสสาวะไม่ออก
รู้ชัดๆ ด้วยการตรวจวินิจฉัยโรคไตโดยแพทย์
หลังจากตรวจสอบอาการเบื้องต้นกันไปแล้ว ใครที่มีอาการคล้าย ๆ กับอาการที่บอกไปข้างต้นก็อย่าเพิ่งตกอกตกใจคิดว่าตัวเอง ป่วยโรคไต เพราะเราต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพร่างกายเสียก่อนโดยแพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยโรคไตด้วยวิธีการต่อไปนี้
- ตรวจปัสสาวะ
เมื่อมีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นโรคของทางเดินปัสสาวะ แพทย์จำเป็นต้องตรวจปัสสาวะของผู้ป่วย เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง เพราะการตรวจปัสสาวะเป็นการตรวจขั้นต้นที่สำคัญในการวินิจฉัยโรคต่างๆ ของทางเดินปัสสาวะ เช่น โรคนิ่ว โรคติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ กรวยไต อักเสบ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ และโรคไตอื่น ๆ โดยการตรวจ ได้แก่
- การตรวจปัสสาวะ (Urinalysis) ตรวจหาปริมาณโปรตีน เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และสารประกอบอื่นๆ ในปัสสาวะ หากพบโปรตีนหรือเลือดในปัสสาวะ อาจเป็นสัญญาณของโรคไตหรือการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
- การตรวจหาโปรตีนในปัสสาวะ (Urine Albumin Test) ใช้ในการตรวจวัดปริมาณโปรตีนอัลบูมินในปัสสาวะ หากพบอัลบูมินสูงอาจหมายถึงความเสียหายที่ไต เนื่องจากปกติแล้วโปรตีนไม่ควรรั่วออกมาทางปัสสาวะ
- ตรวจเลือด
การตรวจเลือดเพื่อตรวจวินิจฉัยโรคไตและโรคทางเดินปัสสาวะมักจะทำเพื่อวินิจฉัยโรคไตวาย หรือความผิดปกติของไตอื่นๆ เช่น เมื่อมีอาการบวม ซึ่งการตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของไตนั้นไม่จำเป็นต้องงดอาหารหรือน้ำก่อนเจาะเลือด ยกเว้นหากสงสัยว่าจะเป็นเบาหวาน หรือตรวจไขมันในเลือด ถึงจะงดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง โดยการตรวจ เช่น
- การตรวจเลือดเพื่อดูค่า Creatinine และ BUN (Blood Urea Nitrogen) เป็นตัวบ่งชี้การทำงานของไต หากระดับสูงขึ้น อาจหมายถึงไตเริ่มทำงานลดลง เนื่องจากไตไม่สามารถกรองของเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- การตรวจอัตราการกรองของไต (GFR - Glomerular Filtration Rate) GFR ใช้เพื่อประเมินระดับการทำงานของไต โดยคำนวณจากค่า Creatinine ในเลือด อายุ และเพศ ซึ่ง GFR จะบ่งบอกว่าไตสามารถกรองของเสียได้ในระดับใด
![ปรึกษาแพทย์ออนไลน์](https://www.nakornthon.com/Upload/FileGallery/8d7d6ad84b254a95b343207baff4009f_BG-1-04.jpg)
ทำไมต้องตรวจวินิจฉัยโรคไต
- ตรวจหาโรคไตในระยะเริ่มต้นก่อนที่จะมีอาการรุนแรง
- ประเมินความรุนแรงของโรคเพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสม
- ติดตามผลการรักษาเพื่อดูว่าการรักษามีประสิทธิภาพหรือไม่
- ป้องกันภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง
ใครบ้างที่ควรตรวจวินิจฉัยโรคไต
- ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคทางพันธุกรรม
- ผู้ที่มีอาการผิดปกติ เช่น ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะเป็นเลือด บวม
- ผู้สูงอายุ
- ผู้ที่ใช้ยาบางชนิดเป็นเวลานาน
ผลการตรวจจะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคไตได้อย่างแม่นยำ และวางแผนการรักษาที่เหมาะสม เช่น การใช้ยา การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ การตรวจวินิจฉัยโรคไตเป็นสิ่งสำคัญมากในการดูแลสุขภาพไต หากคุณมีข้อสงสัยหรือกังวลเกี่ยวกับสุขภาพไต ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำที่ถูกต้อง
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์อายุรกรรม