ทางเลือกในการผ่าตัดทางนรีเวช ข้อมูลที่คุณควรรู้

ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพสตรี

บทความโดย : พญ. จุฑาภรณ์ อุทัยแสน

การผ่าตัดทางนรีเวช

การผ่าตัดทางนรีเวชเป็นการรักษาที่จำเป็นสำหรับผู้หญิงหลายคนที่ประสบปัญหาเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ การเลือกวิธีการผ่าตัดที่เหมาะสมนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น สภาพร่างกายของผู้ป่วย ชนิดของโรค และความรุนแรงของอาการ ปัจจุบันมีทางเลือกในการผ่าตัดทางนรีเวชหลายวิธี ซึ่งแต่ละวิธีก็มีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป


การผ่าตัดเปิดหน้าท้อง (Open Surgery)

การผ่าตัดเปิดหน้าท้อง (Open Surgery) เป็นวิธีการผ่าตัดทางนรีเวชแบบดั้งเดิมที่ใช้ในการรักษาโรคทางนรีเวชหลายชนิด แม้ว่าปัจจุบันจะมีวิธีการผ่าตัดที่ทันสมัยกว่า เช่น การผ่าตัดส่องกล้อง แต่การผ่าตัดเปิดหน้าท้องก็ยังคงมีความจำเป็นในบางกรณี

การผ่าตัดเปิดหน้าท้องเหมาะสำหรับ

  • โรคที่ซับซ้อนและรุนแรง เช่น มะเร็งในอุ้งเชิงกรานที่ลุกลาม, การติดเชื้อรุนแรงในอุ้งเชิงกราน, ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดส่องกล้องครั้งก่อน หรือการผ่าตัดที่ต้องเอาอวัยวะออกเป็นจำนวนมาก
  • ผู้ป่วยที่มีภาวะอ้วนมาก เนื่องจากการผ่าตัดส่องกล้องอาจทำได้ยากในผู้ป่วยที่มีภาวะอ้วนมาก และมีอัตราการเปลี่ยนเป็นผ่าตัดเปิดหน้าท้อง
  • ผู้ป่วยที่มีอายุมาก ผู้สูงอายุบางรายอาจมีสภาพร่างกายไม่แข็งแรงพอที่จะรับการผ่าตัดส่องกล้องได้
  • กรณีที่แพทย์ประเมินแล้วว่าการผ่าตัดเปิดหน้าท้องปลอดภัยและได้ผลดีกว่า

ข้อดีของการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง

  • ใช้ในการผ่าตัดก้อนเนื้อ อวัยวะขนาดใหญ่
  • ใช้แพทย์ผ่าตัดหลายส่วน หลายสาขา
  • สามารถจัดการกับภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย หากเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการผ่าตัด แพทย์สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันที

ข้อจำกัดของการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง

  • แผลใหญ่ ทำให้เกิดความเจ็บปวดและใช้เวลารักษาแผลนาน
  • เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เนื่องจากแผลมีขนาดใหญ่
  • ระยะเวลาในการพักฟื้นนาน เมื่อเทียบกับการผ่าตัดส่องกล้อง
  • มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น การบาดเจ็บของอวัยวะภายใน เลือดออกภายในแผล เลือดออกในช่องท้อง

> กลับสารบัญ


ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

การผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวช

การผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวช (Minimal invasive surgery; MIS) เป็นการผ่าตัดทางนรีเวชที่นิยมอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากมีข้อดีหลายประการ เช่น แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว และมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่ำ การผ่าตัดวิธีนี้เหมาะสำหรับรักษาโรคทางนรีเวชหลายชนิด โดยเฉพาะโรคที่ต้องการการผ่าตัดเพื่อวินิจฉัยหรือรักษา

การผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวช แบ่งเป็น 2 ประเภท

  1. การผ่าตัดส่องกล้องทางหน้าท้อง (Laparoscopic Surgery) เป็นการใช้กล้องส่องเข้าไปในช่องท้อง โดยแผลมีขนาดเพียง 0.5-1 เซนติเมตร วิธีนี้ส่วนใหญ่จะใช้รักษาความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับมดลูก ปีกมดลูก และรังไข่
  2. การผ่าตัดส่องกล้องในโพรงมดลูก (Hysteroscopic Surgery) เป็นการสอดกล้องขนาดเล็กตั้งแต่ 2 มม. ไปจนถึง 10 มม. เข้าไปในโพรงมดลูก ผ่านทางช่องคลอด ใช้ในรายที่มีรอยโรคในโพรงมดลูก เช่น เนื้องอก หรือ ติ่งเนื้อ เป็นต้น

โรคที่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวช

  • เนื้องอกในมดลูก (Myoma uteri) ทั้งเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกและเนื้องอกในโพรงมดลูก
  • เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) โรคที่เยื่อบุโพรงมดลูกไปเจริญเติบโตผิดที่นอกโพรงมดลูก
  • ถุงน้ำในรังไข่ (ovarian cyst) เกิดถุงน้ำขนาดเล็กจำนวนหลายใบอยู่ในรังไข่ ซึ่งอาจเกิดเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้
  • ตั้งครรภ์นอกมดลูก การตั้งครรภ์ที่ฝังตัวนอกโพรงมดลูก เช่น ที่ท่อนำไข่
  • การอุดตันของท่อนำไข่ สำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องภาวะมีบุตรยาก
  • มะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งรังไข่ในระยะเริ่มต้น มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกในระยะเริ่มต้น
  • การต่อหมัน
  • การทำหมัน ทั้งการทำหมันหญิงและการตัดปีกมดลูก
  • การผ่าตัดเพื่อวินิจฉัย เช่น การตรวจชิ้นเนื้อเพื่อวินิจฉัยโรค

ข้อดีของการผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวช

  • แผลเล็ก มีรอยแผลเล็ก ๆ หลายรู ทำให้เกิดแผลเป็นน้อย
  • เจ็บน้อย ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดน้อยลงเมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิด
  • ฟื้นตัวเร็วผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วขึ้น
  • เสี่ยงต่อการติดเชื้อต่ำ เนื่องจากแผลมีขนาดเล็ก
  • สามารถตรวจสอบอวัยวะอื่นๆ ได้ แพทย์สามารถตรวจสอบอวัยวะอื่นๆ ในช่องท้องได้ในระหว่างการผ่าตัด เช่น ไส้ติ่ง เยื่อบุช่องท้อง อุ้งเชิงกราน
  • ความเสี่ยงในการเสียเลือดน้อย เมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิด

ข้อจำกัดของการผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวช

  • ค่าใช้จ่ายสูงกว่าเมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิด เพราะต้องใช้อุปกรณ์พิเศษ
  • ใช้เวลาการผ่าตัดนานกว่าแบบเปิดหน้าท้อง
  • ไม่สามารถทำได้ในบางกรณี หรือไม่สามารถใช้ได้กับทุกโรค เช่น ผู้ป่วยอยู่ในภาวะช็อค มีการอักเสบในช่องท้องรุนแรง หรือมีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคหัวใจหรือโรคปอดขั้นรุนแรง
  • ต้องใช้ทีม และแพทย์ที่เชี่ยวชาญในเทคนิคการผ่าตัดส่องกล้อง โดยเฉพาะเคสยาก เช่น เลาะพังผืดในช่องท้อง มะเร็ง

> กลับสารบัญ



การเลือกใช้วิธีการผ่าตัดทางนรีเวชแบบใดนั้น จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ และพิจารณาจากสภาพร่างกายของผู้ป่วย ชนิดของโรค และความรุนแรงของโรค ซึ่งการผ่าตัดเป็นการรักษาที่สำคัญ และการเลือกวิธีการผ่าตัดที่เหมาะสมจะช่วยให้การรักษาประสบความสำเร็จ หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวช ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือสามารถปรึกษาหรือสอบถามข้อมูลจากแพทย์ออนไลน์ได้เลย



พญ.จุฑาภรณ์ อุทัยแสน พญ.จุฑาภรณ์ อุทัยแสน

พญ.จุฑาภรณ์ อุทัยแสน
สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา/มะเร็งวิทยานรีเวช
ศูนย์สุขภาพสตรี

นัดหมายแพทย์

ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย