ทำความรู้จัก “โอไมครอน” โควิดสายพันธุ์ใหม่ลำดับที่ 5

ศูนย์ : ศูนย์อายุรกรรม

บทความโดย : นพ. นิพนธ์ จิริยะสิน

ทำความรู้จัก “โอไมครอน” โควิดสายพันธุ์ใหม่ลำดับที่ 5

หลังจากถูกค้นพบและได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการจากองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ในวันที่ 26 พ.ย. 64 ที่ผ่านมา ว่าเกิดการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ ที่เรียกว่า “โอไมครอน” หรือ “โอมิครอน” (Omicron) เป็นกลุ่มที่น่ากังวล (VOC : Variant of Concern) ที่มีการระบาดง่ายกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีการระบาดไปแล้วกว่า 57 ประเทศทั่วโลก (ข้อมูล ณ วันที่ 9 ธ.ค. 2021) รวมถึงประเทศไทย โดยโควิดสายพันธุ์ใหม่นี้มีความน่ากลัว และอันตรายแค่ไหน มาทำความรู้จักกัน


“โอไมครอน” หรือ “โอมิครอน” (Omicron)

“โอไมครอน” หรือ “โอมิครอน” (Omicron) เป็นไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ B.1.1.529 ลำดับที่ 5 ที่จัดอยู่ในกลุ่มสายพันธุ์ที่น่ากังวล เหมือนสายพันธุ์อัลฟา (Alpha), เบตา (Beta), แกมมา (Gamma) และ เดลตา (Delta) ถูกรายงานว่าพบครั้งแรก ในตอนใต้ของทวีปแอฟริกาใต้ ที่ประเทศบอตสวานา


การกลายพันธุ์เชื้อโควิด-19 โอไมครอน

เชื้อโควิด-19 โอไมครอน มีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่งโปรตีนหนาม หรือ spike protein ที่ใช้ยึดเกาะกับเซลล์ของเรา และเมื่อเข้าไปในร่างกายก็จะทำให้ไวรัสยึดเกาะ และเข้าสู่เซลล์ร่างกายของเราได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้โอไมครอนยังอาจหลบหลีกภูมิคุ้มกันจากวัคซีน และภูมิคุ้มกันธรรมชาติในผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อื่นๆ ได้ รวมทั้งคนที่เคยติดเชื้อโควิด-19 มีโอกาสที่จะติดเชื้อซ้ำได้จากโอไมครอน


ความรุนแรงของเชื้อโควิด-19 โอไมครอน

ความรุนแรงของสายพันธุ์โอไมครอน (Omicron) ล่าสุดมีหลักฐานยืนยันจากหลายประเทศว่า โอไมครอน มีแนวโน้มความรุนแรงลดลงเมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดลต้า แต่การติดเชื้ออาจทำให้มีอาการรุนแรง และทำลายปอดได้ในผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือในผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และเด็กเล็ก เป็นต้น โดยอาการที่พบบ่อยของเชื้อโควิด-19 โอไมครอน ได้แก่ มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย มีอาการปอดอักเสบ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก และพบว่าบางรายเหงื่อออกมากในตอนกลางคืน ด้านการรับรสชาติและได้กลิ่นเหมือนปกติ ไม่ค่อยมีอาการไข้ ทั้งนี้ยังต้องการข้อมูลเพิ่มเติมในกลุ่มที่ติดเชื้อซ้ำและผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง และสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว


การตรวจหาเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน

การตรวจหาเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ยังสามารถตรวจได้ด้วยวิธี RT-PCR ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานที่ใช้ในปัจจุบัน และการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัส รวมทั้งการตรวจด้วย Antigen test kit (ATK) ซึ่งความไวจะลดหลั่นกันไปในแต่ละยี่ห้อ


การรักษาผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน

สำหรับการรักษาผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนจะใช้ยามรักษาตามอาการ โดยปัจจุบันยาต้านไวรัสที่ใช้ในประเทศไทย คือ ยาต้านไวรัส Favipiravir ใช้ในกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวหรือสีเหลืองที่มีอาการไม่มาก และ ยาต้านไวรัส Remdesivir อาจพิจารณาให้ใช้รักษากลุ่มผู้ป่วยอาการปานกลาง และอาการรุนแรง

ทั้งนี้ ยาต้านไวรัสที่รอการนำเข้ามา ได้แก่ ยา Paxlovid และ Molnupiravir ซึ่งเป็นยารับประทานสำหรับกลุ่มผู้ป่วยอาการน้อยหรือปานกลาง รวมทั้งยาฉีด Sotrovimab เป็น Monoclonal antibody จะได้ผลดีสำหรับสายพันธุ์โอไมครอน แต่สำหรับ Monoclonal antibody ตัวเดิมที่เคยใช้ในประเทศไทย อาจจะไม่ได้ผลกับการรักษาผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน


การฉีดวัคซีนยังสามารถป้องกันได้อยู่ไหม

แม้จะมีความกังวลเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีนโควิดที่มีในปัจจุบัน และแนวโน้มของสายพันธุ์โอไมครอน (Omicron) จะหนีภูมิ (ดื้อวัคซีน) แต่การฉีดวัคซีนให้ครบโดสคือ 2 เข็ม รวมทั้งการฉีดกระตุ้น เข็ม 3 หรือ เข็ม 4 มีแนวโน้มช่วยป้องกันและลดความรุนแรงโอไมครอน (Omicron) ได้ ทั้งนี้การฉีดวัคซีนสูตรมาตรฐาน ยังคงสามารถลดความรุนแรงและอัตราการเสียชีวิตได้

อย่างไรก็ตามการสวมใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ ไม่ไปในสถานที่มีคนเยอะ และรักษาระยะห่าง อย่างเข้มข้น ยังเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพสูงมากในการป้องกันสายพันธุ์โอไมครอน (Omicron)


นพ. นิพนธ์ จิริยะสิน นพ. นิพนธ์ จิริยะสิน

นพ. นิพนธ์ จิริยะสิน
อายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจ และภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ
ศูนย์อายุรกรรม






ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย




Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย