ภาวะไขมันในเลือดสูง (Hyperlipidemia) เป็นภาวะที่ตรวจเลือดพบว่ามีระดับไขมันในเลือดผิดปกติ อาจเป็นระดับคอเลสเตอรอลสูง หรือระดับไตรกลีเซอไรด์สูง อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือสูงทั้งสองชนิดก็ได้ ภาวะไขมันในเลือดสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เส้นเลือดตีบอุดตัน เลือดไหลไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ของร่างกายไม่เพียงพอและเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
ความผิดปกติของระดับไขมันในเลือดมีหลายรูปแบบ ได้แก่
- total cholesterol (TC) สูง ส่วนใหญ่เกิดจากระดับ low density lipoprotein-cholesterol (LDL-C) สูง
- ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride : TG) สูง
- Hight density lipoprotein-cholesterol (HDL-C) ต่ำ
- ระดับไขมันข้างต้นผิดปกติร่วมกัน 2 ชนิดขึ้นไป
- อื่นๆ เช่น ระดับ TC ต่ำ หรือ ระดับ HDL-C สูง พบได้ไม่บ่อยซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรคทางพันธุกรรม
สาเหตุของภาวะไขมันในเลือดสูง
- เกิดจากความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ ทำให้มีความบกพร่องในการเผาผลาญไขมันผิดปกติ
- ชนิดทุติยภูมิ (secondary dyslipidemia) เกิดจากโรคหรือยาที่มีผลต่อกระบวนการสร้างและ/หรือสลาย lipoprotein แบ่งเป็นหมวดหมู่ตามชนิดของไขมันที่ผิดปกติ ดังนี้
- LDL-C สูง ได้แก่ ภาวะพร่องไทรอยด์ (hypothyroidism), โรคทางเดินท่อน้ำดีตีบหรืออุดตัน (cholestasis), โรคไตเนฟโฟรติค (nephrotic syndrome) และยา เช่น HIV protease inhibitors
- TG สูง ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคอ้วน ไตวาย การดื่มสุรา การตั้งครรภ์ การติดเชื้อภาวะ stress และ ยา เช่น estrogen, B-blockers, glucocorticoids, thiazides และ HIV protease inhibitors
- HDL-C ต่ำ ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคอ้วน การสูบบุหรี่ และยา anabolic steroids, testosterone, progestogen และ B-blockers
- การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ไขมันสัตว์ นม เนย ไข่ เครื่องในสัตว์ หอยนางรม กุ้ง เป็นต้น
- ความเครียด และการสูบบุหรี่
การรักษา
- ควบคุมการรับประทานอาหาร โดยควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น ไขมันสัตว์ นม เนย ไข่ เครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์ ส่วนที่ติดมันทุกชนิด หอยนางรม ปลาหมึก กุ้ง เป็นต้น
- ใช้น้ำมันพืชแทนน้ำมันจากสัตว์
- ใช้วิธีการนึ่ง ต้ม อบ อาหาร แทนการทอด หรือผัด
- ควรเพิ่มอาหารพวกผักต่างๆ และผลไม้ เพื่อให้มีเส้นใยอาหารและกากมากขึ้น เพราะกากใยเหล่านี้จะช่วยให้ดูดซึมไขมันลดน้อยลง
- หลีกเลี่ยงการดื่มเบียร์ เหล้า และรับประทานขนมหวาน เพราะจะสะสมกลายเป็นไขมันไตรกลีเซอไรด์ได้
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง คือ ออกกำลังกายครั้งละประมาณ 30-40 นาที และอย่างน้อย 3-4 ครั้ง/สัปดาห์
- งดการสูบบุหรี่ นอกจากจะช่วยรักษาภาวะไขมันผิดปกติในเลือกได้แล้ว ยังจะช่วยป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบด้วย
- ลดน้ำหนักตัวหรือควบคุมน้ำหนักตัว ไม่ให้อ้วนเกินเกณฑ์ปกติ
- ถ้าท่านมีโรคประจำตัวที่ทำให้ระดับไขมันในเลือดสูง เช่น โรคเบาหวาน โรคทางพันธุกรรมบางอย่าง โรคของต่อมไร้ท่อบางอย่าง ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อรักษาและปฏิบัติตนที่ถูกต้อง
การป้องกัน
โดยการตรวจสุขภาพประจำปี ดังนี้
- หากท่านมีอายุมากกว่า 35 ปี ควรตรวจเลือดเช็คระดับไขมันทุกๆ 1-2 ปี
- มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจขาดเลือด และสูบบุหรี่มากกว่า 10 มวน/วัน หรือท่านเป็นโรคอื่นร่วมด้วย เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ควรตรวจเลือดซ้ำทุก 6 เดือน
- หากท่านต้องการตรวจเลือดเพื่อหาระดับไขมันในเลือด ในวันที่เจาะเลือดควรงดอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิด ยกเว้นน้ำเปล่าก่อนมาเจาะเลือดอย่างน้อย 12 ชั่วโมง
- ในช่วง 1 อาทิตย์ก่อนมาตรวจเลือดควรรับประทานอาหารตามปกติ เพื่อให้ค่าระดับไขมันในเลือดถูกต้องที่สุด
อันตรายของภาวะไขมันในเลือดสูง
เมื่อร่างกายมีไขมันในเลือดสูง เลือดจะมีความหนืดสูงกว่าปกติและมีการสะสมของไขมันตามหลอดเลือดต่างๆ ได้ง่าย ทำให้หลอดเลือดตีบแคบลงและอุดตัน โดยเฉพาะถ้าเกิดกับหลอดเลือดหัวใจจะทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจวาย หรือเสียชีวิตเฉียบพลัน และถ้าเกิดกับหลอดเลือดที่สมองจะทำให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตได้
ดังนั้น ถ้าท่านมีระดับไขมันในเลือดสูงและไม่รักษาก็อาจทำให้อายุสั้น และมีโรคแทรกซ้อนต่างๆ ตามมาอย่างมากมายในที่สุด
บทความทางการแพทย์ศูนย์อายุรกรรม