ลูกหลานรู้จัก เข้าใจ ภาวะการเปลี่ยนแปลงของผู้สูงอายุตามวัย

ศูนย์ : บริการทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ, ศูนย์อายุรกรรม

บทความโดย : นพ. ภาณุวัฒก์ ว่องตระกูลเรือง

ลูกหลานรู้จัก เข้าใจ ภาวะการเปลี่ยนแปลงของผู้สูงอายุตามวัย

เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย และล้วนเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เสื่อมถอยลงไปทั้งทาง ร่างกาย อารมณ์ และสภาพจิตใจ โดยทุกการเปลี่ยนแปลงส่งผลให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตได้ไม่เหมือนเดิม และอาจส่งผลกระทบกับผู้ดูแลและครอบครัวไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง การทำความรู้จัก และเข้าใจถึงภาวะการเปลี่ยนแปลงของผู้สูงอายุตามวัย จะเป็นประตูบานแรกที่เชื่อมความเข้าใจระหว่างผู้ดูแลผู้สูงอายุ สมาชิกในครอบครัว และผู้สูงอายุให้เข้าใจกันได้อย่างดีที่สุด


การเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย

การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ปรากฏเด่นและมีผลกระทบกับชีวิตของผู้สูงอายุมากที่สุด ความแตกต่างจะขึ้นอยู่กับบุคคล ดังนี้

  1. อวัยวะภายนอก ผมบางเปลี่ยนเป็นสีเทาหรือสีขาว หลังโกง เคลื่อนไหวร่างกายได้ช้าลง กำลังน้อยลง ผิวของผู้สูงอายุจะบาง แห้ง เหี่ยวย่น หลุดลอก ขาดความมันเงาและความยืดหยุ่น เล็บมือและเล็บเท้าของผู้สูงอายุจะแห้ง แข็ง เปราะฉีกง่าย เป็นแผลง่าย
  2. การมองเห็นไม่เหมือนเดิม เนื่องจากลูกตามีขนาดเล็กลง หนังตาตก รูม่านตาเล็กลง ปฏิกิริยาในการตอบสนองต่อแสงของม่านตาลดลง ทำให้การปรับตัวต่อที่มืดไม่ดี ความสามารถในการแยกสีแย่ลง เกิดโรคตาแห้งเกิดจากต่อมน้ำตาผลิตน้ำตาลดลง และเมื่อกล้ามเนื้อลูกตาเสื่อมส่งผลให้ผู้สูงอายุเกิดอาการวิงเวียนศีรษะได้
  3. การได้ยินเสียงลดลง เกิดภาวะหูตึง ไม่ได้ยิน เนื่องจากประสาทรับเสียงเสื่อมลงได้ยินเสียงโทนต่ำชัดกว่าเสียงพูดธรรมดา ลูกหลานเวลาพูดกับผู้สูงอายุ ควรเข้ามาใกล้ พูดช้าๆ ชัดๆ และดังกว่าปกติ แต่ไม่ตะโกน และไม่แสดงอาการหงุดหงิด หากต้องพูดซ้ำ
  4. การพูด การเปล่งเสียงของผู้สูงอายุจะไม่มีพลัง เนื่องจากกระดูกอ่อนบริเวณกล่องเสียงแข็งตัวและขาดความยืดหยุ่น
  5. การบด เคี้ยวลำบากขึ้น เพราะเหงือกร่น รากฟันโผล่พ้นขอบเหงือก ทำให้ฟันผุและเสียวฟันได้ง่าย
  6. กระดูกและกล้ามเนื้อ กระดูกผุกร่อนทำให้หักได้ง่าย กล้ามเนื้อก็ลีบเล็กลง มีไขมันแทรกในกล้ามเนื้อ
  7. การรับกลิ่นบกพร่อง ทำให้ไม่ได้กลิ่นอาหาร ผู้สูงอายุบางคนมีเลือดกำเดาไหลเนื่องจากความดันโลหิตสูง
  8. ระบบต่างๆ เสื่อมถอยลง เช่น ระบบประสาทเซลล์ ระบบทางเดินอาหาร ระบบการไหลเวียนโลหิต ทำงานได้ลดลง จึงเกิดโรคได้ง่าย

การเปลี่ยนแปลงของระบบภายในร่างกาย

การเปลี่ยนแปลงเมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุระบบภายใน มีดังนี้

  1. ระบบประสาท เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ระบบประสาทและสมองจะทำงานช้าลง ความสัมพันธ์ระหว่างสมองกับกล้ามเนื้อและข้อเริ่มสูญเสีย ทำให้การทรงตัวไม่ดี เกิดจากเซลล์ประสาทตายแล้วไม่มีการเกิดขึ้นใหม่อีก ทำให้ความจำแย่ ความสามารถการเรียนรู้ลดลง ปฏิกิริยาการตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ ลดลง ความรู้สึกและการเคลื่อนไหวช้าไปด้วย
  2. ระบบหัวใจและหลอดเลือด ผู้สูงอายุหลอดเลือดแดงจะแข็งไม่ยืดหยุ่น ผนังหลอดเลือดขรุขระ ทางเดินภายในหลอดเลือดแคบลง เพราะผนังภายในหลอดเลือดหนาตัวขึ้น และหากหลอดเลือดมีไขมันอุดตันร่วมด้วยแล้ว ยิ่งจะทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น เกิดภาวะความดันโลหิตสูง และมีโอกาสเกิดโรคหัวใจล้มเหลวได้ง่าย
  3. ระบบทางเดินหายใจ หายใจลำบาก รู้สึกเหนื่อยเวลาหายใจ ถ้าทำกิจกรรมที่ใช้กำลังมากจะรู้สึกหายไม่ทันเกิดจากความแข็งแรงกล้ามเนื้อช่วยหายใจลดลง การออกกำลังกายอย่างเหมาะสมก็ช่วยได้มาก
  4. ระบบทางเดินปัสสาวะ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีปัญหากลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะเล็ด เนื่องจากกระเพาะปัสสาวะมีขนาดเล็กลง ทำให้ต้องปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะผู้ชายมีปัญหาต่อมลูกหมากโตทำให้ช่วงกลางคืนต้องลุกมาปัสสาวะบ่อยและต้องเบ่งปัสสาวะนาน
  5. ระบบทางเดินอาหาร ฟันเกิดการกร่อน รากฟันเปราะแตกง่ายขึ้น มีอาการกลืนลำบากหรือสำลักได้บ่อย กระเพราะทำงานหนัก เพราะน้ำย่อยในกระเพาะอาหารน้อยลงทำให้อาหารต้องอยู่ในกระเพาะนานขึ้นและทำให้ท้องอืดง่าย
  6. ระบบต่อมไร้ท่อ มีการทำงานของต่อมต่างๆ น้อยลง เช่น ต่อมใต้สมอง ต่อมไทรอยด์ ทำให้ผลิตฮอร์โมนได้น้อยลง ตับอ่อนก็ผลิตอินซูลินน้อยลงทำให้น้ำตาลในเลือดสูง มีโอกาสเป็นเบาหวานมากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจและอารมณ์

นอกจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายแล้ว ด้านความรู้สึก การรับรู้ จิตใจ อารมณ์ ก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน โดยที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ได้แก่

  • ภาวะทางอารมณ์ ผู้สูงอายุจะมีอาการซึมเศร้า หงุดหงิด ขี้ระแวง วิตกกังวล โกรธง่าย เอาแต่ใจ เกิดขึ้นจากระดับฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุลเหมือนเดิม
  • ภาวะทางความคิด ผู้สูงอายุจะชอบคิดเรื่องเดิมๆ ซ้ำซาก ลังเล หวาดระแวง หมกมุ่น เรื่องของตัวเองทั้งเรื่องในอดีต ปัจจุบัน อนาคต สนใจเฉพาะเรื่องตนเองมากกว่าเรื่องผู้อื่น และส่วนใหญ่จะกังวลว่าลูกหลานจะทอดทิ้ง
  • ภาวะด้านความจำ ผู้สูงอายุจะชอบคุย ชอบเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตเพราะเป็นส่วนที่สมองจดจำได้ดี แต่มักลืมเรื่องที่เกิดขึ้นปัจจุบันได้ง่ายๆ จนทำให้ต้องคอยถามซ้ำๆ หรือถามบ่อยๆ นั่นเอง
  • ภาวะทางพฤติกรรม ผู้สูงอายุบางคนจะคอยจู้จี้ ขี้บ่น คอยเตือนซ้ำๆ ย้ำเรื่องเดิมๆ จนกลายเป็นพฤติกรรมประจำตัว แต่บางคนเก็บตัวไม่เข้าสังคม เพราะกลัวจะถูกว่ากล่าวตำหนิ กลัวเป็นภาระ ผู้สูงอายุกลุ่มนี้เสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าได้

  • การเปลี่ยนแปลงด้านสังคม

    ผู้สูงอายุเป็นวัยของการเกษียณที่ไม่จำเป็นต้องทำงานแล้ว อาจทำให้รู้สึกไม่ได้รับการยกย่อง ไม่มีคนเคารพเหมือนที่ผ่านมา ทำให้ขาดความมั่นใจในตนเอง รวมทั้งภาระหน้าที่และบทบาททางสังคมลดน้อยลง ทำให้ผู้สูงอายุห่างจากสังคม แต่ผู้สูงอายุจะมีเวลามากขึ้น ทั้งการทำกิจกรรมที่ชอบ การท่องเที่ยว และเข้าวัด แต่จะมีข้อจำกัดในการมีสัมพันธภาพกับผู้อื่น ไม่ค่อยสนใจผู้อื่นมากนัก แต่จะสนใจตนเองมากขึ้น

    เมื่อผู้ดูแล และสมาชิกในครอบครัว เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของผู้สูงอายุในทุกๆ ด้าน ก็จะทำให้สามารถดูแลท่านได้อย่างเข้าอกเข้าใจกัน ทำให้มีสุขภาพจิตที่ดี และสุขภาพแข็งแรงสมวัยได้





ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย




Share :

บทความทางการแพทย์บริการทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ, ศูนย์อายุรกรรม

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย