วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ผู้สูงอายุ Flu High-Dose ประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น
ศูนย์ : ศูนย์อายุรกรรม, บริการทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ
บทความโดย : นพ. นิพนธ์ จิริยะสิน
โรคไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ปีละ 1 ครั้ง เป็นประจำทุกปี โดยแนะนำให้ฉีดตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป เนื่องจากเชื้อโรคมีการเปลี่ยนแปลงและกลายพันธุ์อยู่เสมอ โดยในแต่ละปีวัคซีนจะถูกปรับให้เหมาะสมกับเชื้อที่ระบาดในช่วงเวลานั้น เมื่อป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่บางคนอาจมีอาการรุนแรงมากกว่าคนทั่วไป โดยมักพบในผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มที่เปราะบางต่อโรค เมื่อติดเชื้อไข้หวัดใหญ่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้มากกว่า ปัจจุบันได้มีการพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ผู้สูงอายุซึ่งสามารถป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ดีขึ้น และยังสามารถลดอัตราการนอนโรงพยาบาลจากภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่เกิดตามมาหลังการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้
ไข้หวัดใหญ่ในผู้สูงอายุอันตรายกว่าที่คิด
การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ในผู้สูงอายุ สามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายมากกว่าการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ในคนปกติทั่วไป ได้แก่
- เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดสมองตีบมากกว่าคนทั่วไป 8 เท่า
- เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดเลือดตีบที่หัวใจมากกว่าคนทั่วไป 10 เท่า
- ในผู้ป่วยเบาหวาน 75% จะมีปัญหาต่อระดับน้ำตาลที่ผิดปกติ
- 23% จะสูญเสียความสามารถในการดูแลตัวเองหลังจากเจ็บป่วยจากโรคไข้หวัดใหญ่
ทำไมผู้สูงอายุถึงมีความเสี่ยงสูงเมื่อได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่
สาเหตุหลักที่ทำให้ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงสูงต่อการเจ็บป่วยและเสียชีวิตเมื่อได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่มากกว่าวัยอื่น ได้แก่
- ภาวะภูมิคุ้มกันเสื่อมถอย (Immunosenescence) ผู้สูงอายุมีโอกาสที่จะติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนทั่วไปอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อจากแบคทีเรีย เชื้อรา หรือไวรัส เพราะผู้สูงอายุมีโอกาสเกิดภาวะภูมิคุ้มกันเสื่อมถอยสูง ในเวลาที่ภาวะร่างกายเสื่อมถอยและสูญเสียความสมดุลจะก่อให้เกิด “การอักเสบรุนแรง” (ซึ่งเป็นกระบวนการของระบบภูมิคุ้มกัน) จนไม่สามารถจะยับยั้ง และทำให้เสียชีวิตได้
- โรคประจำตัวรักษาไม่หายขาด (Underlying disease) ผู้สูงอายุและผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคไต เบาหวาน และโรคมะเร็ง หากพบการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ มีความเสี่ยงสูงที่จะพบอาการแทรกซ้อน เช่น ติดเชื้อไซนัสหรือหลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ บางรายมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
- ภาวะเปราะบางและความอ่อนแอในผู้สูงอายุ (Frailty) ภาวะเปราะบางไม่ใช่โรค เมื่อผู้สูงอายุติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ พบว่า 10% ของผู้สูงอายุจะสูญเสียความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองด้านกิจวัตรประจำวัน และจำเป็นต้องพึ่งพาผู้อื่น รวมทั้ง 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุที่นอนโรงพยาบาลยังไม่สามารถกลับมาทำกิจกรรมได้ตามปกติภายใน 1 ปี
วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ผู้สูงอายุชนิด Flu High-Dose
วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ชนิด Flu High-Dose เป็นวัคซีนเชื้อตายที่มีข้อบ่งใช้สำหรับการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ และภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับโรคปอดอักเสบในโรงพยาบาล โดยจากข้อมูลการศึกษาในสหรัฐอเมริกา ที่ได้ทำการเปรียบเทียบวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ผู้สูงอายุ และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดปกติ เป็นเวลามากกว่า 10 ปี ในผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป พบว่าวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ผู้สูงอายุมีประสิทธิภาพในการป้องกันไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นจากขนาดปกติถึง 24% ทั้งยังสามารถลดอัตราการนอนโรงพยาบาลจากโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ได้แก่
- ลดการนอนโรงพยาบาลจากอาการปอดอักเสบ มากกว่า 27.3%
- ลดการนอนโรงพยาบาลจากการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นผลที่เกิดขึ้นจากไข้หวัดใหญ่ มากกว่า 17.9%
- ลดการนอนโรงพยาบาลเนื่องจากโรคไข้หวัดใหญ่มากกว่า 11.7 %
- ลดการนอนโรงพยาบาลเนื่องจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้มากกว่า 8.4%
การปฏิบัติตัวและอาการข้างเคียงหลังได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในผู้สูงอายุ
หลังจากผู้สูงอายุฉีดวัคซีนแล้ว ควรนั่งหรือนอนพัก ประมาณ 15-30 นาที ที่โรงพยาบาลเพื่อสังเกตอาการแพ้ หรืออาการข้างเคียงอื่น วัคซีนที่ใช้ในปัจจุบันส่วนใหญ่มีความปลอดภัยสูง แต่ยังคงพบอาการข้างเคียงได้บ้าง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่รุนแรงและยอมรับได้ โดยอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังจากได้รับการฉีดวัคซีน ได้แก่ ระบม แดง หรือบวมบริเวณที่ฉีด มีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีอาการปวดศีรษะ คัน หรือ อ่อนเพลีย เป็นต้น โดยปัญหาเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นไม่นานหลังฉีดและควรหายเองภายใน 3 วัน
Update สายพันธุ์ปี 2024
โดยสายพันธุ์ปี ค.ศ. 2024 (พ.ศ. 2567) Southern strain หรือ ซีกโลกใต้ ได้แก่
- ไวรัสชนิด A สายพันธุ์ Victoria (H1N1) (an A/Victoria/4897/2022 (H1N1) pdm09-like virus)
- ไวรัสชนิด A สายพันธุ์ Thailand (H3N2) (an A/Thailand/8/2022 (H3N2)-like virus)
- ไวรัสชนิด B สายพันธุ์ Austria (a B/Austria/1359417/2021 (B/Victoria lineage)-like virus)
- ไวรัสชนิด B สายพันธุ์ Phuket (a B/Phuket/3073/2013 (B/Yamagata lineage)-like virus)
เพราะไข้หวัดใหญ่ในผู้สูงอายุ มีความเสี่ยงกว่าวัยอื่น อาทิ เสี่ยงปอดอักเสบ ภาวะแทรกซ้อน เส้นเลือดสมองและหัวใจตีบ การสูญเสียความสามารถในการดูแลตัวเอง เป็นต้น การได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไปเป็นประจำทุกปี จะช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันโรคมากยิ่งขึ้น
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์อายุรกรรม, บริการทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ