วัคซีนไอพีดี PCV20 ชนิดใหม่สำหรับเด็ก ครอบคลุม 20 สายพันธุ์
ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพเด็ก
บทความโดย : พญ. ธิดารัตน์ แก้วเงิน
IPD คือ โรคติดต่อชนิดเชื้อลุกลามที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ชื่อนิวโมคอคคัส (Invasive pneumococcal disease) เด็กเล็ก เป็น กลุ่มเสี่ยง เพราะภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรงที่จะต่อสู้กับเชื้อก่อโรครุนแรงได้ และโรคนี้สามารถก่อให้เกิดการติดเชื้อที่ไม่รุนแรงจนถึงการติดเชื้อที่อันตรายถึงชีวิตได้ วิธีการที่ดีที่สุดในการป้องกัน คือ การฉีดวัคซีนไอพีดี (IPD) โดยในปัจจุบันมีการพัฒนาวัคซีนรุ่นใหม่ "วัคซีนไอพีดี (IPD) 20 สายพันธุ์" ซึ่งครอบคลุมเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสสายพันธุ์ที่ก่อโรครุนแรงในประเทศไทยได้ถึง 20 สายพันธุ์ เพื่อการป้องกันที่มากกว่าในผู้ที่ได้รับวัคซีนและช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อ
สารบัญ
โรคติดเชื้อไอพีดี (IPD) อันตรายต่อเด็กอย่างไร
ความอันตรายของเด็กเมื่อติดเชื้อจากแบคทีเรียนิวโมคอคคัส (IPD) ทำให้เกิดโรครุนแรง และบางครั้งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ อันได้แก่
- เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นการติดเชื้อในสมองและไขสันหลัง ทำให้มีอาการไข้สูง ชัก ซึม คอแข็ง
- หูชั้นกลางอักเสบ ทำให้มีอาการปวดหู ร้องงอแง หรือการได้ยินลดลง
- ปอดบวม ปอดอักเสบ ทำให้มีอาการหอบเหนื่อย หายใจลำบาก
- การติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นภาวะที่แบคทีเรียแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เกิดไข้สูง หัวใจเต้นเร็ว และความดันโลหิตต่ำ เสี่ยงต่อการเสียชีวิต
เด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคไอพีดี
- เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี
- เด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอด โรคหอบหืด ภาวะไม่มีม้าม หรือม้ามทำงานบกพร่อง โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต โรคเบาหวาน เป้นต้น
- เด็กที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องจากสาเหตุต่างๆ
- เด็กที่เสี่ยงต่อเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เช่น น้ำไขสันหลังรั่ว (CSF leak) ใส่ชุดประสาทหูเทียม (cochlear implantation)
การป้องกันด้วยวัคซีนไอพีดี (IPD)
เชื้อไอพีดี (IPD) มีมากกว่า 90 สายพันธุ์ บางสายพันธุ์ก่อโรครุนแรง บางสายพันธุ์ก่อโรคบ่อยแต่ไม่รุนแรง โดยเชื้อ IPD ที่พบบ่อยในประเทศไทยได้แก่ สายพันธุ์ 19A, 15B, 10A และทั้ง 3 สายพันธุ์ดังกล่าว ยังทำให้เกิดโรครุนแรง และเป็นเชื้อดื้อยาที่รักษายาก ดังนั้นการฉีดวัคซีน IPD (Invasive Pneumococcal Disease Vaccine) เป็นวิธีการป้องกันที่ได้รับการแนะนำจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และแพทย์ทั่วโลก เนื่องจากสามารถลดความเสี่ยงของการติดเชื้อและลดความรุนแรงของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยตอนนี้มีวัคซีนป้องกันโรคไอพีดี ชนิดคอนจูเกต (Pneumococcal Conjugate Vaccine; PCV) ในเด็ก ทั้งหมด 3 ชนิด คือ
- วัคซีนไอพีดีชนิด 10 สายพันธุ์ (PCV10) ป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัส 10 สายพันธุ์ ได้แก่ 1, 4, 5, 6B, 7F, 9V, 14, 18C, 19F และ 23F
- วัคซีนไอพีดีชนิด 13 สายพันธุ์ (PCV13) ป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัส 13 สายพันธุ์ ได้แก่ 1, 3, 4, 5, 6A, 6B, 7F, 9V, 14, 18C, 19A, 19F และ 23F โดยป้องกันครอบคลุม 9V
- วัคซีนไอพีดีชนิด 15 สายพันธุ์ (PCV15) ป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัส 15 สายพันธุ์ ได้แก่ 1, 3, 4, 5, 6A, 6B, 7F, 9V, 14 18C, 19A, 19F, 22F, 23F และ 33F
แต่ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาวัคซีนรุ่นใหม่ ซึ่งครอบคลุมเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสสายพันธุ์ที่ก่อโรครุนแรงในประเทศไทยได้เพิ่มขึ้นถึง 20% คือ วัคซีนไอพีดี (IPD) ชนิด 20 สายพันธุ์ ที่มาเพิ่มการป้องกันที่มากกว่าในผู้ที่ได้รับวัคซีนและช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อ
วัคซีนไอพีดี (IPD) ชนิดใหม่ 20 สายพันธุ์
วัคซีนไอพีดี (IPD) ชนิด 20 สายพันธุ์ (PCV20) เป็นวัคซีนชนิดคอนจูเกต ซึ่งมีการเพิ่มโปรตีนเข้าไปในโครงสร้างของวัคซีน ทำให้มีการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่ดีกว่าและกระตุ้นภูมิได้นานกว่าวัคซีนชนิดโพลีแซคคาไรด์ สามารถป้องกันเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส 20 สายพันธุ์ ป้องกันโรคได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ได้แก่ 1, 3, 4, 5, 6A, 6B, 7F, 9V, 14, 18C, 19A, 19F, 23F, 22F, 33F, 8, 10A, 11A, 12F และ 15B
คำแนะนำการฉีดวัคซีนไอพีดี (IPD) สำหรับเด็ก
วัคซีนไอพีดี (IPD) ชนิด 20 สายพันธุ์ (PCV20) ฉีดตั้งแต่ 2 เดือน โดยฉีดทั้งหมด 4 เข็ม ได้แก่
- เข็มแรก: อายุ 2 เดือน
- เข็มที่ 2: อายุ 4 เดือน
- เข็มที่ 3: อายุ 6 เดือน
- เข็มกระตุ้น: อายุ 12-15 เดือน
ทั้งนี้สำหรับเด็กอายุน้อยกว่า 18 ปีที่มีโรคประจำตัว หากเคยได้รับ PCV ชนิด PCV13 หรือ PCV15 ครบแล้ว ก็ควรได้รับ IPD 20 สายพันธุ์ (PCV20) เพิ่มเติม โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติม
อาการข้างเคียงที่พบได้
อาการข้างเคียงที่พบ เช่น ปวด บวม แดงบริเวณที่ฉีด สามารถพบได้เหมือนกันกับวัคซีนชนิดอื่น ๆ และสามารถหายได้เองภายใน 2-3 วัน รวมถึงสามารถใช้ได้กับผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง
โรคติดเชื้อจากแบคทีเรียนิวโมคอคคัสเป็นโรคร้ายแรงที่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน IPD การดูแลป้องกันสุขภาพเด็กตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคและเสริมสร้างรากฐานสุขภาพที่แข็งแรงให้กับเด็กในอนาคต ผู้ปกครองจึงควรให้ความสำคัญกับการพาลูกน้อยไปฉีดวัคซีนตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์สุขภาพเด็ก