หากพบว่าเด็กมีอาการกระตุก เกร็ง เหม่อลอย เบลอ หรือนิ่งไประหว่างคุย เรียกแล้วยังไม่รู้สึกตัว ให้สงสัยไว้ก่อนเลยว่าอาจเป็นโรคลมชัก ควรพาเด็กมาพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาแต่เนิ่นๆ เพราะถ้าได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็ว โอกาสที่จะหายเป็นปกติก็มีมากขึ้น หากปล่อยไว้นานส่งผลให้คุณภาพชีวิตของเด็กลดลง พัฒนาการล่าช้า ถดถอย ทั้งด้านการเรียนและการเข้าสังคม
รู้จักโรคลมชัก
โรคลมชักเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัยตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงเด็กโต เป็นอาการชักที่เกิดจากความผิดปกติของการทำงานของสมอง หากถูกกระตุ้นมากเกินไปจะทำให้เกิดอาการชักได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับแหล่งของประจุไฟฟ้าว่าออกมาจากส่วนใดของร่างกาย เช่น สมองส่วนที่ควบคุมแขนขาถูกกระตุ้นก็จะเกิดอาการเกร็งกระตุกขึ้นมาที่แขนขา ถ้าเกิดในส่วนของสมองที่ควบคุมเรื่องการรับรู้จะมีอาการเบลอ เหม่อลอย ทำให้อาการของโรคลมชักมีความแตกต่างกันไปในแต่ละคน
สาเหตุของโรคลมชักในเด็ก
โรคลมชักในเด็ก เกิดได้จากหลายสาเหตุและมีความแตกต่างในแต่ละกลุ่มอายุ เช่น พันธุกรรม สมองได้รับบาดเจ็บจากการขาดออกซิเจน จากอุบัติเหตุกระทบกระเทือนศีรษะ เลือดออกในสมอง การติดเชื้อที่ระบบประสาท หรือ โครงสร้างเซลล์สมองที่ผิดปกติ เป็นต้น โรคลมชักยังเกิดได้ตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์มารดาหรือมีการคลอดก่อนกำหนด เนื่องจากเซลล์สมองยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ เมื่อถูกกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมภายนอกจะมีผลกระทบต่อสมองได้ พบได้ตั้งแต่วัยทารก เด็กเล็ก หรือ โรคลมชัดชนิดพบมากในวัยรุ่ย
อาการของโรคลมชักในเด็ก
อาการของโรคลมชักในเด็กมีหลากหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับกระแสไฟฟ้าในสมองผิดปกติที่ส่วนใดของสมองและรุนแรงมากน้อยแค่ไหน บางอาการสังเกตได้ยากทำให้พ่อแม่ไม่ทราบว่าเด็กมีอาการชักอยู่ ดังนั้นพ่อแม่ หรือผู้ปกครองของเด็กต้องหมั่นสังเกตพฤติกรรมของเด็ก หากมีความผิดปกติ หรือมีพฤติกรรมแปลกๆ ซ้ำๆ โดยอาการชักในเด็กที่พบได้บ่อย ดังนี้
- อาการชักแบบเหม่อลอย มักเกิดกับเด็กที่มีอายุระหว่าง 5-10 ปี โดยเด็กจะมีอาการเหม่อลอยหรือนิ่งไประหว่างคุย เรียกแล้วยังไม่รู้สึกตัว ไม่มีอาการทางกล้ามเนื้อหรือมีแต่น้อยมาก เช่น กระพริบตาถี่ๆ เมื่อเป็นบ่อยๆ ทำให้มีปัญหาการเรียนตกต่ำได้ตามมา
- อาการชักทั้งตัว โดยเวลาชักจะมีอาการเกร็งกระตุกแขนขาข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้าง หรืออาจเป็นทั้งตัว อาจมีตาลอย ตากระตุก เรียกไม่รู้ตัว และจำไม่ได้ว่าตัวเองชัก
อันตรายจากการชัก
โรคลมชักในเด็ก หากเกิดอาการชักขึ้นบ่อยครั้งย่อมมีผลกระทบต่อสมอง และอาการชักอาจรุนแรงขึ้นจนควบคุมไม่ได้ ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาการในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านการเคลื่อนไหว การรับรู้ ความจำ พฤติกรรมและอารมณ์ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว สมองก็จะได้รับผลกระทบเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย สำหรับอาการชักที่เป็นอันตราย ส่วนใหญ่จะมีอาการนานเกิน 30 นาที หรือมีการสำลักขณะที่ชัก ซึ่งจะทำให้เด็กหยุดหายใจ และสมองขาดออกซิเจนได้
การตรวจวินิจฉัยโรคลมชักในเด็ก
แพทย์จะต้องวินิจฉัยก่อนว่าเป็นโรคลมชักที่มาจากสาเหตุใด เพื่อทำการรักษาได้ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ เบื้องต้นจะมีการซักประวัติอย่างละเอียด การตรวจร่างกาย รวมทั้งการตรวจพิเศษอื่นๆ เพื่อตรวจหาตำแหน่งความผิดปกติในสมองที่เป็นจุดกำเนิดชัก อาทิ
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (Electroencephalography, EEG) โดยจะติดสายไฟฟ้าในตำแหน่งต่างๆ บนศีรษะ เพื่อตรวจหาจุดที่ปล่อยไฟฟ้าผิดปกติในสมอง ช่วยวินิจฉัยโรคลมชัก และทำให้สามารถบอกตำแหน่งของสมองที่เกิดการชักและชนิดของการชักได้
- การตรวจเอกซเรย์ MRI Brain จะทำในบางรายที่มีอาการสงสัย ชัก ช่วยให้แพทย์เห็นภาพความผิดปกติของสมองที่เป็นสาเหตุของโรคลมชักได้ เช่น เนื้องอกในสมอง เลือดออกในสมอง เป็นต้น
แนวทางการรักษาโรคลมชักในเด็ก
การรักษาแพทย์จะต้องวินิจฉัยก่อนว่าเป็นโรคลมชักที่มาจากสาเหตุใด เพื่อทำการรักษาได้ถูกต้อง โดยปัจจุบันมีแนวทางการรักษาโรคลมชักในเด็ก สามารถแบ่งออกเป็น 2 หลักใหญ่ คือ
- การใช้ยากันชัก เพื่อช่วยกดสมองส่วนที่มีการปล่อยคลื่นลมชักออกมา ทำให้ไม่ชัก โดยปัจจุบันมียากันชักหลากหลายชนิด ซึ่งการเลือกใช้ยากันชัก แพทย์ก็จะเลือกตามความเหมาะสมของชนิดการชัก และผลข้างเคียงของยา เป็นต้น
- การควบคุมอาหารแบบคีโตเจนิค ไดเอท (Ketogenic Diet) ใช้กับเด็กที่ควบคุมอาการชักได้ยากและเมื่อการใช้ยาไม่ได้ผลเท่าที่ควร
- วิธีการผ่าตัด สำหรับผู้ป่วยที่รับประทานยาแล้วไม่ได้ผล
การป้องกันและปฐมพยาบาลเบื้องต้น
โรคลมชักที่เกิดจากกรรมพันธุ์หรือหาสาเหตุไม่ได้อาจป้องกันไม่ได้ แต่คนทั่วไปสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดอาการชักได้โดยป้องกันไม่ให้ศีรษะมีการกระทบกระเทือนรุนแรง ผู้ปกครองควรดูแลให้เด็กหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เสี่ยงอันตราย หรืออุบัติเหตุ ส่วนรายที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคลมชัก ควรลดปัจจัยที่กระตุ้นทำให้ชักมากขึ้น เช่น การพักผ่อนไม่เพียงพอ การมีไข้ การขาดอาหาร ความเครียด เป็นต้น ทั้งนี้ควรดูแลเด็กให้รับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง
นอกจากนี้หากเด็กมีอาการชักเกร็งกระตุกไม่รู้สึกตัว มีวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ดังนี้
- ผู้ปกครองต้องตั้งสติให้ดี
- จัดท่าเด็กให้นอนตะแคงเพื่อป้องกันการสำลัก และถ้าเห็นเศษอาหารให้กวาดออกมาจากปากให้หมด
- ห้ามเอาอุปกรณ์ใดๆ รวมทั้งมือเข้าไปง้างปากเด็กเพื่อป้องกันการกัดลิ้น เพราะฟันอาจหักหรือสิ่งของอาจตกเข้าไปในคอจนเป็นอันตรายและทำให้เด็กหายใจไม่ออกได้
- โดยทั่วไปอาการชักมักจะหยุดได้ภายใน 2-3 นาที ยกเว้นบางรายที่รุนแรงมากเกิน 5 นาที หรือมีการชักซ้ำเกินกว่า 1 ครั้งภายในวันเดียวกัน หลังจากหยุดชักแล้วให้รีบพาไปส่งโรงพยาบาลโดยทันที
หากเด็กมีอาการที่ไม่แน่ใจว่าชัก หรือผู้ปกครองคิดว่าชัก ควรรีบพามาปรึกษาแพทย์เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสมโดยเร็วที่สุด
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์สุขภาพเด็ก