โรคไต คือ ภาวะที่ไตทำงานผิดปกติ สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ แม้ว่าหนึ่งในสาเหตุของการเกิดโรคไตนั้นมาจากการกินเค็ม แต่การไม่กินเค็ม ไม่เติมเกลือ หรือน้ำปลาในอาหาร ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะไม่เสี่ยงเป็นโรคไต เนื่องจากโรคไตนั้นไม่ได้เกิดจากพฤติกรรมการกินอาหารที่มีรสเค็มเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีสาเหตุอื่นๆ ทั้งจากการใช้ชีวิตประจำวัน พันธุกรรม และโรคเรื้อรัง ก็ทำให้มีโอกาสป่วยเป็นโรคไตได้เช่นกัน
สาเหตุของโรคไต ไม่ใช่แค่ "กินเค็ม"
สาเหตุของการเป็นโรคไตไม่ใช่แค่กินเค็มเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้ร่างกายคนเรามีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคไต ได้เหมือนกัน โดยปัจจัยที่พบบ่อยได้แก่
- การมีโรคที่มีผลกระทบกับไต เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอ้วนหรือมีภาวะน้ำหนักเกิน โรคเก๊าท์หรือระดับกรดยูริกในเลือดสูง โรคแพ้ภูมิตนเอง การสูบบุหรี่เรื้อรัง ซึ่งจะส่งผลให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงไตเสื่อมลง ส่งผลให้การทำงานของไตเสื่อมลง
- การมีภาวะไตผิดปกติ ไม่สมบูรณ์ตั้งแต่กำเนิด เช่น ไตฝ่อ มีมวลเนื้อไตลดลง หรือมีไตข้างเดียว เป็นต้น
- การมีภาวะหลอดเลือดฝอยในไตอักเสบ
- การเป็นโรคติดเชื้อทางเดินระบบปัสสาวะส่วนบนช้ำหลายครั้ง
- การตรวจพบนิ่วในไตหรือระบบทางเดินปัสสาวะ หรือตรวจพบถุงน้ำในไตมากกว่า 3 ตำแหน่งขึ้นไป
- การมีประวัติครอบครัวเป็นโรคไตเรื้อรัง หรือ มีประวัติการเป็นโรคไตอักเสบ หรือถุงน้ำในไต
- การได้รับยาในกลุ่มยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs หรือสารพิษที่ทำลายไต (Nephrotoxic agents)
- ดื่มน้ำน้อยเกินไป เกิดภาวะขาดน้ำของไตจนทำงานบกพร่อง หรือเกิดการสะสมของสารเคมีในทางเดินปัสสาวะ จนตกตะกอนกลายเป็นโรคนิ่วในไตหรือทางเดินปัสสาวะ
- รับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูงแต่ไม่เค็ม อาทิ ซอสมะเขือเทศ ซอสพริก น้ำจิ้มสุกี้ อาหารแปรรูปยอดนิยม เช่น แฮม เบคอน ขนมกรุบกรอบ ผลไม้กระป๋อง รวมถึงอาหารหมักดอง เช่น ผักกาดดอง หรือไข่เค็ม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผงฟู สารกันบูด หรือสารกันเชื้อราในขนมปัง เป็นต้น
เช็กสัญญาณเสี่ยงโรคไต ควรพบแพทย์
- อาการบวม หน้าบวม ขาบวม
- ปัสสาวะผิดปกติ เช่น ปัสสาวะมีฟอง ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะกลางคืนบ่อยกว่าปกติ
- ปวดเอว ปวดหลังมากผิดปกติ
- ความดันโลหิตสูงมากผิดปกติ
- คลื่นไส้อาเจียนมาก
อย่างไรก็ตาม “ไต” เป็นอวัยวะที่ต้องทำงานตลอดเวลา ถ้าไตทำงานผิดปกติไปจะทำให้ร่างกายทำงานผิดปกติตามไปด้วย ฉะนั้นการดูแลไตและลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคไต พร้อมหมั่นตรวจสุขภาพไตว่ายังทำงานปกติอยู่หรือไม่จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะโรคไตถือว่าเป็นภัยเงียบ เนื่องจากในระยะแรกอาจไม่แสดงอาการชัดเจน แต่จะเริ่มมีอาการเมื่อตอนที่ไตเสียหายไปพอสมควรแล้ว จนเข้าสู่โรคไตเรื้องรังระยะสุดท้าย ต้องรักษาด้วยการฟอกไตตลอดชีวิตได้
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์อายุรกรรม