หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เสี่ยงเสียชีวิตอย่างกะทันหัน
ศูนย์ : ศูนย์หัวใจ
หากคุณกำลังทำกิจกรรมประจำวันแล้วเกิดมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก เหงื่อออก ใจสั่น ขึ้นมา นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ที่เกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันรุนแรง โดยระยะเวลาของการอุดตันที่นานขึ้นจะเพิ่มพื้นที่การตายของกล้ามเนื้อหัวใจ ส่งผลให้มีโอกาสเสียชีวิตอย่างกะทันหันได้
สารบัญ
รู้จักหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
ภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เป็นกลุ่มอาการโรคหัวใจขาดเลือดที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน ซึ่งร้อยละ 90 มีสาเหตุจากหลอดเลือดโคโรนารีอุดตันจากการแตกของคราบไขมัน ร่วมกับมีลิ่มเลือดอุดตัน ทำให้หลอดเลือดแดงตีบแคบลง เลือดผ่านได้น้อยลง และหากหลอดเลือดตีบจนอุดตัน ส่งผลให้ไม่มีการไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้เนื้อเยื่อของหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงมีผลทำให้เซลล์ของกล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจจะทำงานผิดปกติเนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจส่วนที่ตายไม่สามารถทำงานได้
อาการแสดงของหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
เจ็บแน่น รู้สึกเหมือนหัวใจถูกบีบ หรือมีแรงดันจำนวนมากที่บริเวณกลางอกหรือที่อกข้างซ้าย โดยอาการอาจจะเกิดขึ้นไม่กี่นาทีแล้วก็หาย แต่จากนั้นก็อาจจะกลับมาเป็นอีก อาจจะมีร้าวไปที่แขนซ้ายหรือร้าวไปที่กราม ร่วมกับมีอาการเหงื่อออก มือเท้าเย็น วิงเวียน จะเป็นลม หมดแรง คลื่นไส้อาเจียน หายใจไม่อิ่ม จุกคอหอย จุกใต้ลิ้นปี่ คล้ายโรคกระเพาะ หรือกรดไหลย้อน
บางรายอาจมีอาการหายใจสั้นที่เกิดขึ้นจากความรู้สึกของตนเอง หรืออาจเกิดขึ้นขณะที่รู้สึกเจ็บและแน่นหน้าอก โดยอาการนี้อาจเกิดขึ้นจากหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ไอ หรือหายใจมีเสียง มีอาการเหนื่อยมากผิดปกติโดยไม่มีสาเหตุ
ปัจจัยเสี่ยงหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดหลอดเลือดตีบหรืออุดตัน จนนำไปสู่โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
1. ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้
- เพศชาย จะมีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้มากกว่าผู้หญิง แต่ก็สามารถเกิดในผู้หญิงได้ด้วยเช่นกัน
- อายุมากขึ้น จะมีผลทำให้หลอดเลือดเสียความยืดหยุ่นได้เองตามอายุ โดยผู้ที่มีอายุ 45 ปี ขึ้นไปมีโอกาสเสี่ยง
- ประวัติในครอบครัว ผู้ที่มีญาติสายตรง (พ่อ แม่ หรือพี่น้อง) เป็นโรคหัวใจ จะทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันมากขึ้น
2. ปัจจัยเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงได้
พฤติกรรมการใช้ชีวิต และการรับประทานอาหารอาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้มากขึ้น แต่ความเสี่ยงก็สามารถลดลงได้หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ความเสี่ยงเหล่านี้ ได้แก่ การสูบบุหรี่ ความดันโลหิตสูง ภาวะคอเลสเตอรอลสูง ความดันโลหิตสูง การไม่ออกกำลังกาย การกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ โรคอ้วนหรือภาวะน้ำหนักเกิน โรคเบาหวาน รวมไปถึงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และความเครียดสามารถก่อให้เกิดความเสี่ยงโรคหัวใจ เนื่องจากความเครียดสามารถนำมาสู่พฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้
การวินิจฉัยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
คนใกล้ชิดสามารถสังเกตอาการที่เกิดขึ้นได้เบื้องต้น หากมีอาการแน่น หรือเจ็บหน้าอก และหายใจลำบาก โดยเฉพาะคนที่มีปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจขาดเลือด ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เมื่อมาพบแพทย์การซักประวัติเกี่ยวกับอาการ และการรักษาต่างๆ ที่จำเป็นในการวินิจฉัย และอาจมีการถามถึงประวัติครอบครัวว่ามีใครเป็นโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันหรือไม่ จากนั้นแพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีต่างๆ ได้แก่
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: ECG) เป็นการตรวจความสมบูรณ์ของคลื่นไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในกล้ามเนื้อหัวใจ อัตราและจังหวะการเต้นของหัวใจว่ามีความผิดปกติหรือไม่
- การตรวจเลือด หากตรวจพบว่ามีโปรตีนเจือปนในเลือดมากเท่าใด ก็บ่งบอกว่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้
- การตรวจหัวใจด้วยเครื่องเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram) แพทย์จะใช้อุปกรณ์ที่คล้ายเครื่องอัลตราซาวด์ตรวจบริเวณหน้าอก และใช้เสียงสะท้อนความถี่สูงเพื่อจำลองภาพ ขนาด และการทำงานของหัวใจ
- การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test: EST) ใช้ในการตรวจหาความผิดปกติของระบบหัวใจและหลอดเลือด ที่ตรวจไม่พบในขณะที่ร่างกายหยุดพัก หรือไม่ได้ออกกำลังกายอย่างหนัก
- การใส่สายสวนหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Angiography) ด้วยการฉีดสารทึบสีเข้าไปในหลอดเลือดหัวใจ เอกซเรย์ดูว่ามีส่วนใดของหลอดเลือดอุดตันหรือตีบบางหรือไม่
การรักษาโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
การรักษาโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน สามารถรักษาได้ด้วยวิธีต่างๆ อาทิ
- การรักษาด้วยการใช้ยา ซึ่งขึ้นอยู่กับระยะและความรุนแรง ได้แก่ การให้ยาสลายลิ่มเลือด เพื่อละลายลิ่มเลือดที่ปิดกั้นหลอดเลือด ทั้งนี้หากผู้ป่วยได้รับยาชนิดนี้ภายในระยะเวลาไม่นานตั้งแต่เริ่มเกิดอาการ การให้ยาต้านเกล็ดเลือด ที่ใช้ในการป้องกันการเกิดลิ่มเลือด และป้องกันไม่ให้ ลิ่มใหญ่ขึ้นกว่าเดิม และยาเพื่อช่วยลดอาการเจ็บหน้าอก ลดการทำงานของหัวใจ ช่วยให้การทำงานของหัวใจดีขึ้น
- การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน จะช่วยดันไขมันที่อุดตันหลอดเลือดอยู่ให้ไปชิดผนังหลอดเลือด ทำให้เลือดสามารถไหลผ่านจุดที่เคยตีบได้สะดวกขึ้น
- การผ่าตัดบายพาสหัวใจ เป็นการผ่าตัดเส้นเลือดที่เลี้ยงหัวใจ เพื่อทำทางเบี่ยงให้หลอดเลือดบริเวณที่มีการตีบหรือตัน ทำให้เลือดสามารถไหลผ่านได้ ส่งผลทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้มากขึ้น
หากคนใกล้ชิด หรือคุณมีอาการดังกล่าวอย่านิ่งนอนใจ มาพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพหัวใจ หรือตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ห่างไกลจากโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้ดีที่สุดก็คือการดูแลรักษาระบบหัวใจและหลอดเลือดให้แข็งแรงอยู่เสมอ ทั้งลดการสูบบุหรี่ ควบคุมน้ำหนัก ควบคุมความดันโลหิต ออกกำลังกาย ก็จะช่วยให้ลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดไ
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์หัวใจ