อุบัติเหตุในผู้สูงอายุ ที่ผู้ดูแลและลูกหลานควรระวัง
ศูนย์ : บริการทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ, ศูนย์อายุรกรรม
บทความโดย : นพ. ภาณุวัฒก์ ว่องตระกูลเรือง
ด้วยความเสื่อมของร่างกายตามกาลเวลาของผู้สูงอายุ จึงมักทำให้เกิดอุบัติเหตุต่างๆ ได้ง่ายกว่าวัยอื่นๆ โดยเฉพาะอุบัติเหตุการพลัดตกหกล้มซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วอาจจะเกิดการบาดเจ็บ หรือภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาได้ เช่น กระดูกข้อมือหัก กระดูกสะโพกหัก กระดูกสันหลังหัก เลือดคั่งในสมอง นอกจากการบาดเจ็บแล้วยังส่งผลกระทบทางด้านจิตใจ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่เคยหกล้มไปแล้ว จะยิ่งกลัวมากขึ้นจนกังวลและขาดความมั่นใจที่จะเดิน จนเกิดภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุได้
สาเหตุของอุบัติเหตุในผู้สูงอายุ
สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุที่มักเกิดขึ้นในผู้สูงอายุ มีดังนี้
- สาเหตุมาจากสุขภาพร่างกาย และความสามารถที่ลดลง เช่น การมองเห็นไม่ชัด สายตาผิดปกติ เดินเซ เคลื่อนไหวลำบาก มีการรับรู้ที่ช้า โรคประจำตัว หรือโรคเรื้อรัง เช่น เช่น โรคหลอดเลือด โรคพาร์กินสัน
- สาเหตุจากการใช้ยาที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น ยานอนหลับ ยาลดความดันโลหิต ยาต้านอาการซึมเศร้า หรือมีประวัติการใช้ยามากกว่า 4 ชนิดขึ้นไป
- สาเหตุมาจากสิ่งแวดล้อม เช่น พื้นบ้าน พื้นบันได พื้นห้องน้ำลื่นหรือมีสิ่งกีดขวาง แสงสว่างไม่เพียงพอ บันไดไม่มีราวจับ ขั้นบันไดที่สูงชันหรือแคบ รองเท้าของผู้สูงอายุที่ไม่เหมาะสม ไม่สามารถยึดเกาะพื้นได้ดี เป็นต้น
- สาเหตุจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ขาดการออกกำลังกาย เป็นต้น
- สาเหตุจากอื่นๆ เช่น เสื้อผ้าที่ใส่ หลวม ยาวรุ่มร่าม มีเชือกยาวไป ไม้เท้าช่วยเดินไม่มียางกันลื่น หรือ รถเข็นที่ไม่มีที่ห้ามล้อ เป็นต้น
อุบัติเหตุที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ
อุบัติเหตุในผู้สูงอายุที่มักจะเกิดขึ้นได้บ่อย จนเกิดอาการบาดเจ็บตามมาได้ มีดังนี้
- การลื่นหกล้ม เกิดจากการสูญเสียการทรงตัว เนื่องจากมีระบบประสาทและกล้ามเนื้อทำงานประสานกันไม่ดี ทำให้มีโอกาสลื่นล้มได้ง่าย ซึ่งการบาดเจ็บมีตั้งแต่เล็กน้อยไปถึงขั้นรุนแรง พิการและเสียชีวิตได้ เช่น ลื่นล้มในห้องน้ำ ลื่นล้มตกบันได เป็นต้น
- การพลัดตกหกล้ม ผู้สูงอายุมักเดินช้า ตามองไม่ชัด การได้ยินเสียงและความจำไม่ดี รวมทั้งมักมีอาการเวียนศีรษะจึงพลัดตกหกล้มได้ง่าย มักเกิดกับผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป
- อุบัติเหตุจากไฟไหม้ น้ำร้อนลวก เนื่องจากประสาทสัมผัสความรู้สึกเสื่อมลง
- การสำลักอาหาร เนื่องจากการทำงานที่ไม่ประสานกันของรอยต่อระหว่าง กล้ามเนื้อลายกับกล้ามเนื้อเรียบของหลอดอาหาร การหดรัดตัวของหลอดอาหารเป็นวง ทำให้เกิดอาการกลืนลำบากหรือสำลักได้บ่อย ทำให้น้ำ และอาหารติดค้างในหลอดลม
- อุบัติเหตุอื่นๆ เช่น การรับประทานยาเกินขนาด อุบัติเหตุบนท้องถนน
รักษาตัว ไม่ประมาท ป้องกันอุบัติเหตุในผู้สูงอายุ
แม้ว่าปัญหาอุบัติเหตุในผู้สูงอายุจะเกิดขึ้นได้บ่อย แต่ปัญหาเหล่านี้สามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น หรือเสี่ยงที่จะเกิดน้อยลงได้ ดังนี้
- ฝึกการเดิน การทรงตัว และออกกำลังกาย เพื่อเพิ่มความแข็งแรง ของกล้ามเนื้อ เช่น ท่ายืนเขย่งปลายเท้าสลับยืนบนส้นเท้า ทำสลับกัน 10 ครั้ง ท่ายืนงอเข่า ทำสลับกันข้างละ 10 ครั้ง และท่านั่งเหยียดขา ทำสลับกันข้างละ 10 ครั้ง เป็นต้น
- ควรเปลี่ยนท่าช้าๆ เพื่อป้องกันภาวะความดันตกในท่ายืน หน้ามืด วิงเวียน ขณะลุกนั่งหรือยืนทุกครั้ง
- หากการเดินหรือทรงตัวไม่มั่นคง ควรใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน เช่น ไม้เท้า โครงเหล็กช่วยเดิน เป็นต้น
- สวมใส่เสื้อผ้า รองเท้าที่มีขนาดพอดี รองเท้าควรเป็นรองเท้าส้นเตี้ย ขอบมน มีหน้ากว้าง และเป็นแบบหุ้มส้น พื้นรองเท้าควรมีดอกยาง ไม่ลื่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่จำเป็น และปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง
- คนในครอบครัว หรือผู้ดูแลใกล้ชิด หมั่นสังเกตอาการและความผิดปกติทางด้านการรับรู้ เช่น สับสน หลงลืมเกี่ยวกับ วัน เวลา สถานที่ และบุคคล หรือการตอบสนองได้ช้าลงหรือไม่
- ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวควรเข้ารับการประเมินความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม เช่น เช็คความผิดปกติของการมองเห็น ความผิดปกติของการเดิน การทรงตัว เป็นต้น รวมทั้งปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ เพื่อขอรับคำแนะนำ เกี่ยวกับ การใช้ยา ความผิดปกติในการมองเห็น การเดิน การทรงตัวและการเคลื่อนไหว
- หมั่นตรวจอุปกรณ์หรือเครื่องช่วยเดินให้อยู่ในสภาพปลอดภัยอยู่เสมอ เช่น ปลายไม้เท้ามียางหุ้มกันลื่น เก้าอี้มีล้อ ตัวห้ามล้อต้องมีสภาพพร้อมใช้งาน เป็นต้น
อุบัติเหตุในผู้สูงอายุเป็นปัญหาในกลุ่มผู้สูงอายุที่สำคัญ ซึ่งส่งผลให้คุณภาพชีวิตลดลงจากความพิการ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้หรือต้องพึ่งพาผู้อื่น และอัตราการเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นตามอายุ ดังนั้นหากสามารถป้องกันอุบัติเหตุเหล่านี้ได้ จะก่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในผู้สูงอายุ
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์บริการทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ, ศูนย์อายุรกรรม