เช็คด่วน สัญญาณเตือนโรคหัวใจขาดเลือด ปล่อยทิ้งไว้ไม่ปลอดภัย
ศูนย์ : ศูนย์หัวใจ
หัวใจ เป็นอวัยวะสำคัญที่เป็นเหมือนศูนย์กลางควบคุมการทำงานของอวัยวะภายในร่างกายให้ทำงานต่อไปได้ หากเกิดความผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งกับหัวใจ ร่างกายมักจะส่งสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติบางอย่างโดยเฉพาะโรคที่อันตรายถึงชีวิต อย่างโรคหัวใจขาดเลือด ซึ่งประเทศไทยพบว่า 45% ของการเสียชีวิตเฉียบพลันเกิดจากโรคหัวใจขาดเลือด ดังนั้นเราควรต้องหมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เพราะการทราบถึงสัญญาณเตือนดังกล่าว จะช่วยให้รักษาชีวิตอย่างทันท่วงที
สารบัญ
โรคหัวใจขาดเลือด
เกิดขึ้นได้ทั้งขณะทำงาน เล่นกีฬา หรือขณะพักผ่อน เนื่องจากมีภาวะหลอดเลือดแดงแข็งและมีรอยปริของผนังหลอดเลือด ทำให้มีลิ่มเลือดและไขมันมาเกาะที่ผนังและก่อตัวเป็นตะกรัน เกิดการอุดตันของหลอดเลือด ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตเฉียบพลันได้
สาเหตุโรคหัวใจขาดเลือดในปัจจุบันพบว่า มักเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นการสูบบุหรี่จัด ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป พฤติกรรมการรับประทานอาหารจนทำให้มีไขมันในเส้นเลือดมากผิดปกติ ความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน เป็นต้น มักพบในเพศชายที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป และในเพศหญิงที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะในครอบครัวที่เคยมีประวัติโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ รวมไปถึงสาเหตุโรคกล้ามเนื้อหัวใจอย่างโรคทางพันธุกรรมต่างๆ ที่ปัจจุบันทำให้ผู้ป่วยมีอายุน้อยลง
5 อาการและสัญญาณเตือนของโรคหัวใจขาดเลือด
- อาการเจ็บแน่นหน้าอกเหมือนถูกบีบรัด หรือกดทับ
- อาการเจ็บหน้าอกปวดร้าวไปกราม สะบักหลัง แขนซ้าย หัวไหล่
- เหงื่อออก จะเป็นลม หน้าซีด
- อาการใจสั่น หอบเหนื่อย คลื่นไส้
- จุกบริเวณคอหอย ซึ่งบางรายอาจมีอาการจุกบริเวณใต้ลิ้นปี่
โดยในหลายๆ ครั้ง อาการเหล่านี้ แทบจะแยกจากโรคอื่นๆ ซึ่งอาจมีอาการคล้ายกันได้ลำบาก เช่น อาจทำให้สับสนกับโรคกรดไหลย้อน หรือกระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบได้ ดังนั้น จึงไม่ควรละเลยหรือนิ่งนอนใจหากมีอาการดังกล่าว
ผู้สูงอายุหรือผู้มีปัจจัยเสี่ยงถือเป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังและคอยสังเกตอาการของตัวเองเป็นพิเศษ เมื่อเกิดภาวะเหล่านี้ผู้ป่วยต้องรีบเดินทางมาโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยหาแนวทางการรักษาที่ถูกต้อง ซึ่งจากข้อมูลของไทยพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มาเข้ารับการรักษาล่าช้าทำให้เสียชีวิตหรือมีภาวะหัวใจวายตามมา
การตรวจวินิจฉัยและการรักษา
เมื่อมาพบแพทย์ แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกายอย่างละเอียด ซึ่งแนวทางการส่งตรวจต่างๆ จะต่างกันไปในแต่ละบุคคล แต่โดยส่วนใหญ่ แพทย์จะทำการส่งตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อดูว่าคลื่นไฟฟ้าหัวใจนั้น แสดงลักษณะของการมีหัวใจขาดเลือดหรือไม่ และบางรายจะส่งตรวจเลือด การตรวจหัวใจด้วยเครื่องเสียงสะท้อนความถี่สูง หรือการใส่สายสวนหลอดเลือดหัวใจเพื่อหาว่ามีการอุดตันของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจหรือไม่ หรือต้องได้รับการสวนหัวใจอย่างเร่งด่วนหรือไม่
ด้านการรักษาสามารถทำได้ด้วยวิธีการใช้ยา การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน และ การผ่าตัดบายพาสหัวใจ ซึ่งจะพิจารณาตามความเหมาะสม และความรุนแรงของอาการ รวมทั้งดุลยพินิจของแพทย์ร่วมด้วย
อย่างไรก็ตาม เราสามารถห่างไกลจากโรคหัวใจขาดเลือดได้อย่างง่ายๆ ด้วยการหลีกหนีจากกลุ่มผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ ด้วยการหมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน หรืออย่างน้อย 5 ครั้ง/สัปดาห์ รับประทานอาหารที่มีไขมันและคอเลสเตอรอลอย่างเหมาะสม ระวังควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกิดโรคอ้วน ลดหรือเลี่ยงการสูบบุหรี่ และสังสรรค์แต่พอดี รวมทั้งหมั่นบริหารอารมณ์ให้แจ่มใส ห่างไกลความเครียด ที่สำคัญการตรวจสุขภาพและตรวจสุขภาพหัวใจเป็นประจำทุกปี
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์หัวใจ