เช็คสุขภาพหัวใจให้ชัวร์ด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG
ศูนย์ : ศูนย์หัวใจ
หลายคนไม่รู้ตัวว่าเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจ เพราะคิดว่าอาการเบื้องต้นอย่างแน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย ไม่น่าจะเป็นอะไรแค่พักผ่อนก็หายไปเอง แต่กว่าจะรู้ว่ามันเป็นอาการของโรคหัวใจก็สายไปเสียแล้ว ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุด คือ การไปเช็คสุขภาพหัวใจเบื้องต้นได้ด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG)
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ Electrocardiography: EKG
เป็นการตรวจจับกระแสไฟฟ้าที่ออกมาจากหัวใจ หรือตรวจความสมบูรณ์ของคลื่นไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในกล้ามเนื้อหัวใจ เพื่อตรวจหาความผิดปกติ ที่อาจจะเกิดขึ้น หรือได้เกิดขึ้นไปแล้ว การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้ในการช่วยวินิจฉัยโรคต่างๆ ที่มีผลต่อหัวใจ เช่น โรคหัวใจ สภาวะหัวใจทำงานล้มเหลว สภาวะที่หัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคความดันโลหิตสูง และหาสาเหตุของอาการเจ็บหน้าอก เป็นต้น โดยวิธีนี้ถือว่าเป็นการตรวจที่ง่ายและสะดวก สามารถตรวจได้ทุกเพศทุกวัย
ใครบ้างที่ควรมาตรวจ
- ผู้มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจ เช่น ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ เบาหวาน
- ผู้ที่มีอาการผิดปกติ เช่น ใจสั่น เจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย
- ผู้ที่ตรวจพบความดันโลหิตสูง หรือมีอาการลิ้นหัวใจรั่ว
ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจบอกอะไรได้บ้าง
- อัตราการเต้นของหัวใจ
- จังหวะการเต้นของหัวใจ
- รอยโรคที่เคยเป็น เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- ตรวจวัดขนาดของกล้ามเนื้อหัวใจ
- คลื่นหัวใจที่อาจแสดงถึงเส้นเลือดเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจตีบตันได้
ขั้นตอนในการตรวจ
ก่อนทำการตรวจไม่ต้องมีการอดน้ำและอาหาร ผู้รับการตรวจต้องแจ้งถึงข้อมูลถึงการใช้ยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร วิตามินเสริมอื่นๆ ที่รับประทานอยู่ในขณะนั้น รวมไปถึงการใช้อุปกรณ์ช่วยการทำงานของหัวใจแก่เจ้าหน้าที่ และหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายก่อนการตรวจ เพราะอาจส่งผลต่อผลการตรวจที่ออกมาได้
การตรวจทำได้โดย การวัดคลื่นไฟฟ้าของหัวใจผ่านทางสื่อนำคลื่นไฟฟ้าขนาดเล็กที่วางไว้ตามจุดต่างๆ ของร่างกายจำนวน 6 จุด ได้แก่ หน้าอก แขน และขา ซึ่งใช้เวลาประมาณ 30 นาที แล้วบันทึกผลการตรวจจากกราฟแสดงคลื่นไฟฟ้าหัวใจนั้นลงบนกระดาษ ในขณะตรวจผู้เข้ารับการตรวจจะต้องนอนหงายลงบนเตียงทำตัวผ่อนคลายและควรอยู่ให้นิ่งที่สุด
ทั้งนี้ ในการตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าของหัวใจบางทีอาจจะไม่พบสิ่งผิดปกติในคลื่นไฟฟ้าหัวใจของผู้ที่มีปัญหาโรคหัวใจบางชนิดได้ เนื่องจากถ้าหัวใจไม่ได้ทำงานหนักขึ้นการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจอาจจะยังไม่เกิดขึ้น ดังนั้นอาจต้องมีการตรวจซ้ำหลายครั้งหรือมีการตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีอื่นๆ ร่วมด้วย อาทิ การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย และ การตรวจเอคโคหัวใจ
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG เป็นหนึ่งในทางเลือกที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายหรือผลข้างเคียงในการตรวจ หากพบว่ามีความผิดปกติ เป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือมีอาการดังกล่าว อย่าชะล่าใจ ให้เข้ามารับการตรวจเช็กสุขภาพหัวใจตั้งแต่เนิ่นๆ หรือ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
บทความทางการแพทย์ศูนย์หัวใจ