เตือนภัย ไวรัส RSV โรคระบาดที่อาจคร่าชีวิตลูกน้อย
ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพเด็ก
บทความโดย : พญ. วราลี ผดุงพรรค
หากใครได้ติดตามข่าวสารไม่ว่าจะเป็นในทีวี เว็บไซต์ หรือตามหน้าเฟซบุ๊ก มักจะเห็นข่าวการเจ็บป่วย รวมไปถึงเสียชีวิตของเด็กที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัส RSV ที่กำลังระบาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราจะมาทำความรู้จักกับไวรัสชนิดนี้ เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่เตรียมตัวรับมือป้องกันลูกน้อยจากไวรัสชนิดนี้ได้อย่างทันท่วงที
สารบัญ
ไวรัส RSV คืออะไร?
ไวรัส RSV หรือ Respiratory Syncytial Virus เป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ สามารถแพร่กระจายผ่านการไอหรือจาม โดยเบื้องต้นผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา มีอาการปวดศีรษะ มีไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล และหายได้เองในเวลา 1-2 สัปดาห์ ซึ่งไวรัสชนิดนี้สามารถพบได้กับคนทุกวัย แต่พบมากในทารกและเด็กเล็ก ซึ่งเป็นวัยที่มักเกิดอาการรุนแรงและมีภาวะแทรกซ้อน หรืออาจพัฒนาไปสู่โรคขั้นรุนแรงที่ส่งผลให้เกิดปัญหาในระบบทางเดินหายใจส่วนล่างได้ เช่น โรคปอดบวม ปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ เป็นต้น ซึ่งจะมีอาการ ไอมาก ไอจนอาเจียน นอนไม่ได้ มีเสมหะครืดคราด อ่อนเพลีย ทานอาหารไม่ได้ มีอาการขาดน้ำ ซึ่งสังเกตได้จากปัสสาวะลดลง หรือในบางรายอาจรุนแรงจนมีอาการเหนื่อยหอบ หายใจอกบุ๋ม ริมฝีปากเขียวคล้ำ
เมื่อติดเชื้อไวรัส RSV มีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบพาไปพบแพทย์
- ประสบภาวะขาดน้ำ สังเกตได้จากตอนร้องไห้จะไม่มีน้ำตาไหลออกมา
- เสมหะเป็นสีเทา สีเขียว หรือสีเหลือง
- หายใจลำบาก หายใจเร็วกว่าปกติ หรือเหนื่อยหอบ
- มีน้ำมูกเหนียว
- ปลายนิ้วหรือปากเปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำ ซึ่งเกิดจากภาวะขาดออกซิเจน
- เด็กทารกที่มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
- มีอาการเซื่องซึม เบื่ออาหาร
พญ.วราลี ผดุงพรรค แพทย์ผู้เชี่ยวชาญกุมารเวชกรรมและกุมารแพทย์โรคภูมิแพ้ โรงพยาบาลนครธน ได้กล่าวว่า แม้ผู้ติดเชื้อไวรัส RSV จะมีอาการคลายเป็นไข้หวัดธรรมดา แต่ก็มีข้อแตกต่างระหว่างไข้หวัดและไวรัส RSV ที่เราสามารถสังเกตได้ ดังนี้
- ถ้าเป็นไข้หวัดธรรมดา ไข้มักไม่สูงมาก ผ่านไป 2-3 วัน อาการจะดีขึ้น แต่หากติดไวรัส RSV อาจจะมีไข้สูงถึง 39-40 องศา และมักเป็นยาวนานถึง 5-10 วัน
- ไวรัสชนิดนี้มักลงทางเดินหายใจส่วนล่างในทารกและเด็ก อาจทำให้ปอดบวม ปอดอักเสบ และหลอดลมอักเสบได้ คือมีอาการไอมาก ไอจนอาเจียน หายใจหอบ
- ถ้าเป็นไข้หวัดทั่วๆ ไป ผ่านไป 2-3 วัน อาการมักดีขึ้น แต่ถ้าเป็นเชื้อไวรัส RSV 3-4 วันผ่านไป อาการมักจะแย่ลง คือไอเยอะขึ้นเรื่อยๆ
สาเหตุการติดเชื้อไวรัส RSV
ในส่วนของสาเหตุการติดเชื้อไวรัส RSV เกิดจากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ที่ติดเชื้อ โดยไวรัสเข้าสู่ร่างกายผ่านทางตา จมูก ปาก หรือสัมผัสเชื้อโดยตรงจากการจับมือ ในประเทศไทยมักพบเชื้อไวรัส RSV ได้บ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว ซึ่งไวรัสจะมีชีวิตอยู่ภายนอกร่างกายได้เป็นเวลาหลายชั่วโมง โดยอาศัยอยู่ตามวัตถุต่าง ๆ และแพร่กระจายได้ง่ายผ่านการไอ หรือการจาม
การวินิจฉัยการติดเชื้อไวรัส RSV
แพทย์จะเริ่มจากการซักประวัติและตรวจร่างกายเบื้องต้น หากสงสัยว่าติดเชื้อไวรัส RSV แพทย์จะทำการตรวจด้วยการใช้ไม้พันสำลีป้ายบริเวณจมูกหรือคอ เพื่อเอาตัวอย่างของน้ำมูกและเสมหะไปส่งตรวจ รอผลประมาณ 1 ชั่วโมง ก็ทราบผล
การรักษาโรคไวรัส RSV
ในส่วนของการรักษาผู้ติดเชื้อไวรัส RSV เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสชนิดนี้ ส่วนใหญ่จึงเป็นการรักษาแบบประคับประคองอาการ ด้วยการทานยาลดไข้ ทานยาแก้ไอละลายเสมหะ หากมีอาการรุนแรง เช่น ปอดบวม ปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ อาจต้องพ่นยา เคาะปอดระบายเสมหะหรือดูดเสมหะ เพื่อช่วยให้อาการดีขึ้น
การป้องกันไวรัส RSV
แม้ว่าในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันไวรัส RSV แต่เราทุกคนก็สามารถปฏิบัติตนเพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันไวรัส RSV ได้ดังนี้
- ล้างมือให้สะอาดเป็นประจำ เช่น ก่อนมื้ออาหาร หลังเข้าห้องน้ำ เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงให้เด็กที่คลอดก่อนกำหนดและทารกในช่วงอายุ 1-2 เดือนแรกสัมผัสผู้ที่ติดเชื้อ
- ทำความสะอาดบ้านอยู่เสมอ เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ
- ทิชชูที่ใช้แล้ว ควรทิ้งลงถังขยะที่ปิดมิดชิด
- ไม่ควรใช้แก้วน้ำร่วมกับผู้อื่น
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะทารกที่สูดดมควันบุหรี่เข้าไปมีความเสี่ยงที่จะมีอาการที่รุนแรงได้มากกว่า
- ทำความสะอาดของเล่นเด็กเป็นประจำ เพราะเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคได้เช่นกัน
ด้วยสภาพแวดล้อมของประเทศไทยที่มีอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย โรคต่างๆ ก็มีมากมาย ทุกคนต้องหมั่นดูแลสุขภาพตัวเอง โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกน้อย รวมถึงผู้ที่ดูแลเด็กเล็กๆ ควรเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดและดูแลน้องให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ หากมีอาการเข้าข่ายว่าติดเชื้อ RSV ควรรีบพามาพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อการรักษาที่ทันท่วงที เพราะหากปล่อยไว้นานเกินไป อาการเด็กอาจย่ำแย่ลง และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์สุขภาพเด็ก