เทคโนโลยีการทำเด็กหลอดแก้ว
ศูนย์ : ศูนย์นครธน กิฟท์ เฟอร์ทิลิตี้
คู่รักที่กำลังประสบปัญหาภาวะมีบุตรยาก คงเคยได้ยินเรื่องการทำเด็กหลอดแก้วมาบ้างแล้ว แต่อาจจะยังลังเลว่า เทคโนโลยีการทำเด็กหลอดแก้วที่ว่านี้มีขั้นตอนอย่างไร ลองไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมกันได้เลย
เด็กหลอดแก้ว ไอวีเอฟ (IVF : In Vitro Fertilisation) ถือกำเนิดครั้งแรกของเด็กหลอดแก้วในปี 1978 ถือเป็นจุดเปลี่ยนของการรักษาภาวะมีบุตรยากสมัยใหม่และอัตราการตั้งครรภ์ที่ดีขึ้นกว่าเดิม การปฏิสนธิภายนอกร่างกาย (IVF) และการช่วยเหลือการเจริญพันธุ์อื่นๆ ได้ทำการรักษาอย่างแพร่หลายทั่วไปในปัจจุบัน และได้มีการปรับปรุงพัฒนาให้ได้ผลสำเร็จที่สูงขึ้นและมีค่าใช้จ่ายคุ้มค่ามากกว่าการรักษาด้วยการใช้วิธีการแบบพื้นฐานต่างๆ เช่น การผ่าตัดแก้ไขท่อนำไข่
ขั้นตอนการรักษามีดังนี้
- กระตุ้นรังไข่ให้ผลิตไข่หลายๆ ใบ โดนเริ่มในวันที่ 2-3 ของรอบเดือน โดยการฉีดยาวันละ 1 เข็ม ติดต่อกัน เฉลี่ยแล้วจะฉีดประมาณ 8-12 วัน ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วยเอง โดยปกติจะต้องการไข่จำนวน 8-10 ใบ ซึ่งยาที่ใช้กระตุ้นไข่ในปัจจุบัน เป็นยาชนิดที่มีความบริสุทธิ์ของยามากขึ้น ทำให้มีโอกาสได้ไข่จำนวนมากขึ้น
- เมื่อกระตุ้นไข่ด้วยยาแล้ว แพทย์จะทำการตรวจติดตามการเจริญเติบโตของไข่ โดยใช้เครื่องอัลตราซาวด์ ร่วมกับการประเมินระดับฮอร์โมนโดยการตรวจเลือดเป็นระยะ เมื่อพบว่าขนาดของถุงไข่โตเต็มที่แล้ว แพทย์จะให้ฉีดยาฮอร์โมน ซึ่งจะไปเหนี่ยวนำให้เกิดการสุกสมบูรณ์ของเซลล์ไข่ โดยจะทำการเจาะไข่ภายใน 34-36 ชั่วโมงหลังจากนั้น เพื่อกำหนดระยะเวลาให้ไข่ตกและทำการเจาะถุงไข่ เพื่อดูดเอาเซลล์ไข่ออกมาภายนอกร่างกาย
- การเจาะไข่ผ่านทางช่องคลอด โดยใช้เครื่องอัลตราซาวด์บอกตำแหน่ง แล้วใช้เข็มเล็กๆ เจาะไข่ออกมาจากรังไข่ ซึ่งการเจาะใช้เวลาไม่นาน และแพทย์จะให้ยานอนหลับขณะเก็บไข่ จึงจำเป็นต้องงดน้ำ งดอาหารก่อนอย่างน้อย 6 ชั่วโมง เมื่อผู้ป่วยตื่นก็สามารถกลับบ้านได้ ส่วนเซลล์ไข่จะถูกนำออกมาทำความสะอาดในน้ำยาสำหรับเพาะเลี้ยง และถูกนำไปเก็บไว้ในตู้อบ ที่ช่วยรักษาอุณหภูมิให้คงที่ที่ 37 องศาเซลเซียสตลอดเวลา
- ในวันเจาะไข่ สามีต้องมาเพื่อเก็บเชื้ออสุจิสำหรับปฏิสนธิ โดยให้ฝ่ายชายหลั่งอสุจิภายในภาชนะที่จัดไว้ให้ ซึ่งเป็นภาชนะปราศจากเชื้อ แล้วนำอสุจิที่ได้มาคัดเลือกตัวที่แข็งแรง ก่อนจะนำมาปฏิสนธิกับไข่ และเลี้ยงตัวอ่อนในห้องปฏิบัติการที่มีการควบคุมอุณหภูมิ ความดัน ความชื้น และแสง โดยใช้เวลาเลี้ยงตัวอ่อนภายนอกร่างกายทั้งหมด 3-5 วัน กรณีที่สามีไม่สามารถมาเก็บอสุจิในวันเจาะไข่ได้ อาจนัดมาเก็บล่วงหน้าแล้วทำการแข็งไว้ เพื่อเตรียมปฏิสนธิในวันเจาะไข่ต่อไป
- เมื่อได้ตัวอ่อนแล้ว โดยทั่วไปจะทำการเพาะเลี้ยงเป็นระยะเวลา 3-5 วัน แล้วแพทย์จะทำการใส่ตัวอ่อนกลับคืนสู่โพรงมดลูกให้ โดยใช้สายพลาสติกเล็กๆ สอดผ่านทางช่องคลอดเข้าไปในโพรงมดลูก แล้ววางตัวอ่อนลงไปภายใต้การอัลตราซาวด์ดูตำแหน่งที่เหมาะสม ทั้งนี้ขณะใส่ตัวอ่อน คนไข้จะรู้สึกตัวตลอดเวลา และไม่มีความเจ็บปวดใดๆ เมื่อใส่ตัวอ่อนเรียบร้อยแล้ว แพทย์จะให้นอนพักอย่างน้อยครึ่งชั่วโมงก่อนกลับบ้าน และเมื่อถึงบ้านให้นอนพัก ไม่ควรเดินขึ้นลงบันไดมาก ที่สำคัญคือหลีกเลี่ยงการยกของหนัก หรือการออกกำลังช่วงท้องน้อยหรือหน้าขา ซึ่งแพทย์จะมียาสำหรับสอดช่องคลอดให้ทุกวันจนถึงวันนัด
- หลังจากใส่ตัวอ่อนไปแล้ว 12-14 วัน แพทย์จะทำการทดสอบการตั้งครรภ์ โดยการเจาะเลือด ตรวจหาระดับฮอร์โมนรกเด็ก ทั้งนี้ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยตรวจการตั้งครรภ์โดยการซื้อชุดตรวจเอง เนื่องจากอาจมีความผิดพลาดได้
อย่างไรก็ตาม อัตราความสำเร็จของแต่ละคู่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งสภาวะร่างกายและความพร้อมของแต่ละบุคคลด้วย
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์นครธน กิฟท์ เฟอร์ทิลิตี้