อาการใจสั่น เป็นอาการที่หลายคนเคยพบเจอ อาจรู้สึกเหมือนหัวใจเต้นแรง เต้นเร็ว เต้นไม่สม่ำเสมอ หรือเต้นแรงจนรู้สึกได้ที่คอ หรือในหู อาการนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในหลายสถานการณ์ เช่น หลังจากออกกำลังกาย ขณะตื่นเต้นหรือเครียด เมื่อดื่มคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์ จากการใช้ยาบางชนิด หรือจากภาวะสุขภาพบางอย่าง เช่น โรคหัวใจ โรคไทรอยด์ หรือภาวะขาดน้ำ เป็นต้น
สารบัญ
อาการใจสั่น เป็นอย่างไร?
อาการใจสั่น เป็นอาการที่หลายคนเคยพบเจอ อาจรู้สึกเหมือนหัวใจเต้นแรง เต้นเร็ว เต้นไม่สม่ำเสมอ หรือเต้นแรงจนรู้สึกได้ที่คอ หรือในหู อาการนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในหลายสถานการณ์ เช่น หลังจากออกกำลังกาย ขณะตื่นเต้นหรือเครียด เมื่อดื่มคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์ จากการใช้ยาบางชนิด หรือจากภาวะสุขภาพบางอย่าง เช่น โรคหัวใจ โรคไทรอยด์ หรือภาวะขาดน้ำ เป็นต้น
สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการใจสั่น
- ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- โครงสร้างหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด พันธุกรรม
- กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ห้องหัวใจโต
- โรคลิ้นหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย
- ภาวะผิดปกติจากระบบอื่น ๆ เช่น ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ภาวะซีดเลือดจาง ความผิดปกติของเกลือแร่
- ความเครียด และสารเคมีบางชนิด เช่น ยา แอลกอฮอล์
หากคุณมีอาการใจสั่น ขอให้ลองสังเกตตนเองดังนี้
- อาการใจสั่นเกิดขึ้นทันทีทันใดหรือไม่ มีสิ่งใดเป็นตัวกระตุ้น
- อัตราการเต้นของหัวใจขณะที่มีอาการ เต้นประมาณกี่ครั้งต่อนาที เต้นสม่ำเสมอหรือไม่
- ตอนที่มีอาการมีการอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เช่น อาการเจ็บหน้าอก แน่นหายใจไม่ออก หรือว่าวูบเป็นลม หน้ามืด
- อาการเป็นอยู่ประมาณกี่นาที เป็นบ่อยแค่ไหน
- ตอนหายเป็นปกตินั้น อาการค่อยๆ ดีขึ้นหรือหายทันทีทันใดเลย มีสิ่งใดหรือทำอะไรแล้วอาการจะดีขึ้น
การตรวจวินิจฉัยอาการหัวใจสั่น
หากจะให้หาสาเหตุของอาการใจสั่น จำเป็นต้องตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การทำอัลตราซาวด์หัวใจ (Echocardiogram) การติดเครื่องติดตามการเต้นของหัวใจ 24 ชั่วโมง (Holter monitoring) การวิ่งสายพาน (Exercise stress test) การฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ (Coronary angiogram) เพื่อประเมินภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบ หรือแม้กระทั่งการใส่อุปกรณ์พิเศษเข้าไปในห้องหัวใจ เพื่อประเมินและหาความผิดปกติ (Electrophysiology Study)
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้วิทยาการจะก้าวหน้าไปมาก แต่ประวัติที่ได้จากคนไข้และการตรวจร่างกายก็ยังเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้อยู่ดี บางครั้งลำพังเพียงประวัติคนไข้และข้อมูลที่ครบถ้วนเพียงอย่างเดียวก็นำไปสู่การวินิจฉัยได้แล้ว
อาการใจสั่นที่เกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ
อาการใจสั่นที่เกิดจากหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ อาจแบ่งได้เป็น 2 ชนิดตามตำแหน่งที่เกิดขึ้น คือ
- หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะที่หัวใจห้องบน เกิดจากทางเดินของกระแสไฟฟ้าหัวใจเพิ่มขึ้นจากปกติ ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจรและไปกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วจากภาวะปกติ พบมากในคนสูงอายุ ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง หรือผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจบางชนิด เป็นต้น
- หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะที่หัวใจห้องล่าง เกิดจากความผิดพลาดของคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่หัวใจห้องล่าง ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น เมื่อหัวใจเต้นเร็วมากก็ทำให้ไม่สามารถสูบฉีดไปยังส่วนต่างๆ ในร่างกายได้ เมื่อหัวใจเต้นเร็วเกินไปจะทำให้มีเวลารับเลือดไม่พอ และถ้าเต้นไม่สม่ำเสมอ จะทำให้ไม่สามารถบีบตัวเพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การรักษาอาการใจสั่น
ผู้ป่วยหลายคนอาจกังวลว่า อาการใจสั่นจะรักษาได้ไหม? จริงๆ แล้วการรักษาอาการใจสั่นจะรักษาตามเหตุ โดยส่วนใหญ่หากมีอาการไม่มากก็มักจะหายไปได้เองโดยที่แพทย์ไม่สามารถหาสาเหตุได้ ซึ่งกรณีนี้ไม่จำเป็นต้องรักษา แต่แพทย์จะแนะนำให้หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการ เช่น งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน หยุดสูบบุหรี่ หยุดใช้ยาที่มีสารกระตุ้นบางชนิด เช่น ยาแก้ไอ ยาแก้หวัด ใบกระท่อม น้ำมันกัญชา สมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ผ่อนคลายความเครียดหรือความวิตกกังวลด้วยการออกกำลังกายที่ช่วยผ่อนคลาย หรือบำบัดด้วยวิธีอื่นๆ เช่น อะโรมาเทอราพี (Aromatherapy) ซึ่งหากหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นเหล่านี้ และปรับพฤติกรรมแล้วแต่ก็ยังไม่ได้ผล แนะนำให้มาแพทย์เพื่อรักษาต่อไป
แต่หากแพทย์พบว่าสาเหตุของใจสั่นมาจากภาวะทางร่างกายหรือโรคประจำตัว แพทย์ก็จะรักษาและแก้ไขภาวะหรือโรคนั้นๆ รวมไปถึงขั้นตอนที่ใช้รักษาภาวะผิดปกติที่เกิดขึ้นกับหัวใจโดยตรง เช่น
- การใช้ยาควบคุมการเต้นของหัวใจ สามารถลดความถี่และความรุนแรงของการได้
- การจี้ด้วยไฟฟ้าผ่านคลื่นเสียงความถี่สูง (Electro Physiologic Study and Radiofrequency Ablation) เป็นการรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะโดยไม่ต้องผ่าตัด ด้วยการใช้สายสวนหัวใจผ่านทางหลอดเลือดที่บริเวณขาหนีบ ไปยังตำแหน่งต่างๆ ของหัวใจ เพื่อหาตำแหน่งของวงจรไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติ แพทย์จะปล่อยคลื่นวิทยุความถี่สูงเป็นจุดเล็กๆ เพื่อทำลายเนื้อเยื่อหัวใจที่เป็นสาเหตุของหัวใจเต้นผิดจังหวะนั้น
- การใช้ไฟฟ้ากระตุกเพื่อปรับการเต้นของหัวใจ โดยใช้กระแสไฟฟ้าจากเครื่องส่งภายนอกร่างกาย ซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นแปะที่หน้าอกของผู้ป่วยเพื่อปรับจังหวะการเต้นของหัวใจใหม่
ทั้งนี้ อาการใจสั่นซึ่งหากหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นดังกล่าว และปรับพฤติกรรมแล้วแต่ก็ยังไม่ได้ผล แนะนำให้มาทำการตรวจวินิจฉัย หรือหากมีอาการที่ผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น เจ็บหน้าอก แน่นหายใจไม่ออก ควรเข้าพบแพทย์ทันที
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์หัวใจ