หากใครสักคนเดินมาบอกคุณว่า “มันรู้สึกใจหวิวๆ วูบๆ อย่างบอกไม่ถูก”, “เหมือนตกจากที่สูง ตกจากสะพานบางครั้งก็รู้สึกวาบๆ สักพักก็หายไป” โปรดอย่าคิดไปไกล เขาอาจไม่ได้กำลังบอกรักหรือบอกชอบคุณ แต่เขาอาจกำลังมีอาการ “ใจสั่น” อยู่ก็ได้! แล้วอาการที่ว่านี้เป็นอย่างไร ร้ายแรงไหม จะรักษาได้อย่างไร ไปหาคำตอบจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจกันได้เลย
สารบัญ
อาการใจสั่น เป็นอย่างไร?
- ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- โครงสร้างหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด พันธุกรรม
- กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ห้องหัวใจโต
- โรคลิ้นหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย
- ภาวะผิดปกติจากระบบอื่นๆ เช่น ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ภาวะซีดเลือดจาง ความผิดปกติของเกลือแร่
- ความเครียด และสารเคมีบางชนิด เช่น ยา แอลกอฮอล์
หากคุณมีอาการใจสั่น ขอให้ลองสังเกตตนเองดังนี้
- อาการใจสั่นเกิดขึ้นทันทีทันใดหรือไม่ มีสิ่งใดเป็นตัวกระตุ้น
- อัตราการเต้นของหัวใจขณะที่มีอาการ เต้นประมาณกี่ครั้งต่อนาที เต้นสม่ำเสมอหรือไม่
- ตอนที่มีอาการมีการอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เช่น อาการเจ็บหน้าอก แน่นหายใจไม่ออก หรือว่าวูบเป็นลม หน้ามืด
- อาการเป็นอยู่ประมาณกี่นาที เป็นบ่อยแค่ไหน
- ตอนหายเป็นปกตินั้น อาการค่อยๆ ดีขึ้นหรือหายทันทีทันใดเลย มีสิ่งใดหรือทำอะไรแล้วอาการจะดีขึ้น
การตรวจวินิจฉัยอาการหัวใจสั่น
หากจะให้หาสาเหตุของอาการใจสั่น จำเป็นต้องตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การทำอัลตราซาวด์หัวใจ (Echocardiogram) การติดเครื่องติดตามการเต้นของหัวใจ 24 ชั่วโมง (Holter monitoring) การวิ่งสายพาน (Exercise stress test) การฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ (Coronary angiogram) เพื่อประเมินภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบ หรือแม้กระทั่งการใส่อุปกรณ์พิเศษเข้าไปในห้องหัวใจ เพื่อประเมินและหาความผิดปกติ (Electrophysiology Study)
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้วิทยาการจะก้าวหน้าไปมาก แต่ประวัติที่ได้จากคนไข้และการตรวจร่างกายก็ยังเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้อยู่ดี บางครั้งลำพังเพียงประวัติคนไข้และข้อมูลที่ครบถ้วนเพียงอย่างเดียวก็นำไปสู่การวินิจฉัยได้แล้ว
อาการใจสั่นที่เกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ
อาการใจสั่นที่เกิดจากหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ อาจแบ่งได้เป็น 2 ชนิดตามตำแหน่งที่เกิดขึ้น คือ
- หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะที่หัวใจห้องบน เกิดจากทางเดินของกระแสไฟฟ้าหัวใจเพิ่มขึ้นจากปกติ ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจรและไปกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วจากภาวะปกติ พบมากในคนสูงอายุ ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง หรือผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจบางชนิด เป็นต้น
- หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะที่หัวใจห้องล่าง เกิดจากความผิดพลาดของคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่หัวใจห้องล่าง ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น เมื่อหัวใจเต้นเร็วมากก็ทำให้ไม่สามารถสูบฉีดไปยังส่วนต่างๆ ในร่างกายได้ เมื่อหัวใจเต้นเร็วเกินไปจะทำให้มีเวลารับเลือดไม่พอ และถ้าเต้นไม่สม่ำเสมอ จะทำให้ไม่สามารถบีบตัวเพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การรักษาอาการใจสั่น
ผู้ป่วยหลายคนอาจกังวลว่า อาการใจสั่นจะรักษาได้ไหม? จริงๆ แล้วการรักษาอาการใจสั่นจะรักษาตามเหตุ โดยส่วนใหญ่หากมีอาการไม่มากก็มักจะหายไปได้เองโดยที่แพทย์ไม่สามารถหาสาเหตุได้ ซึ่งกรณีนี้ไม่จำเป็นต้องรักษา แต่แพทย์จะแนะนำให้หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการ เช่น งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน หยุดสูบบุหรี่ หยุดใช้ยาที่มีสารกระตุ้นบางชนิด เช่น ยาแก้ไอ ยาแก้หวัด ใบกระท่อม น้ำมันกัญชา สมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ผ่อนคลายความเครียดหรือความวิตกกังวลด้วยการออกกำลังกายที่ช่วยผ่อนคลาย หรือบำบัดด้วยวิธีอื่นๆ เช่น อะโรมาเทอราพี (Aromatherapy) ซึ่งหากหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นเหล่านี้ และปรับพฤติกรรมแล้วแต่ก็ยังไม่ได้ผล แนะนำให้มาแพทย์เพื่อรักษาต่อไป
แต่หากแพทย์พบว่าสาเหตุของใจสั่นมาจากภาวะทางร่างกายหรือโรคประจำตัว แพทย์ก็จะรักษาและแก้ไขภาวะหรือโรคนั้นๆ รวมไปถึงขั้นตอนที่ใช้รักษาภาวะผิดปกติที่เกิดขึ้นกับหัวใจโดยตรง เช่น
- การใช้ยาควบคุมการเต้นของหัวใจ สามารถลดความถี่และความรุนแรงของการได้
- การจี้ด้วยไฟฟ้าผ่านคลื่นเสียงความถี่สูง (Electro Physiologic Study and Radiofrequency Ablation) เป็นการรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะโดยไม่ต้องผ่าตัด ด้วยการใช้สายสวนหัวใจผ่านทางหลอดเลือดที่บริเวณขาหนีบ ไปยังตำแหน่งต่างๆ ของหัวใจ เพื่อหาตำแหน่งของวงจรไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติ แพทย์จะปล่อยคลื่นวิทยุความถี่สูงเป็นจุดเล็กๆ เพื่อทำลายเนื้อเยื่อหัวใจที่เป็นสาเหตุของหัวใจเต้นผิดจังหวะนั้น
- การใช้ไฟฟ้ากระตุกเพื่อปรับการเต้นของหัวใจ โดยใช้กระแสไฟฟ้าจากเครื่องส่งภายนอกร่างกาย ซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นแปะที่หน้าอกของผู้ป่วยเพื่อปรับจังหวะการเต้นของหัวใจใหม่
ทั้งนี้ อาการใจสั่นซึ่งหากหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นดังกล่าว และปรับพฤติกรรมแล้วแต่ก็ยังไม่ได้ผล แนะนำให้มาทำการตรวจวินิจฉัย หรือหากมีอาการที่ผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น เจ็บหน้าอก แน่นหายใจไม่ออก ควรเข้าพบแพทย์ทันที
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์หัวใจ