“เอคโคหัวใจ” (Echocardiogram) ... ทำไมต้องตรวจ?

ศูนย์ : ศูนย์หัวใจ

บทความโดย : นพ. ศิรพัชร์ พูนวุฒิกุล

“เอคโคหัวใจ” (Echocardiogram) ... ทำไมต้องตรวจ?

คนไข้ที่มีอาการหัวใจเต้นผิดปกติ และได้รับคำวินิจฉัยจากแพทย์ว่าให้ตรวจ “เอคโคหัวใจ” คงสงสัยว่าการตรวจที่ว่านี้เป็นอย่างไร ทำไมจึงต้องตรวจ ตรวจแล้วจะมีอาการเจ็บหรือไม่ อย่างไร ลองไปทำความรู้จักการการตรวจเอคโคให้มากขึ้นกันดีกว่า

“เอคโคหัวใจ” (Echocardiogram) หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “เอคโค” (Echo) เป็นการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้บ่อยในปัจจุบัน เพื่อดูประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ เช่น การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ขนาดของห้องหัวใจ การไหลเวียนเลือดในหัวใจ การทำงานของลิ้นหัวใจ และดูตำแหน่งของหลอดเลือดต่างๆ ที่เข้า-ออกจากหัวใจ

การตรวจที่ว่านี้ใช้หลักการสะท้อนกลับของคลื่นเสียงความถี่สูงที่เรียกว่า อัลตราซาวด์ (Ultrasound) หรือพูดง่ายๆ ว่าใช้หลักการเดียวกับการตรวจอัลตราซาวด์ทารกในครรภ์ทางสูตินรีเวช กล่าวคือ แพทย์จะใช้หัวอัลตราซาวด์ใส่เจล และถูบริเวณหน้าอกและใต้ราวนม (เป็นการตรวจแบบไม่ต้องเจ็บตัว ไม่มีอันตรายต่อร่างกาย) เมื่อคลื่นเสียงความถี่สูงผ่านอวัยวะต่างๆ จะเกิดสัญญาณสะท้อนกลับ ที่แตกต่างกันระหว่างน้ำและเนื่อเยื่อ คอมพิวเตอร์จะนำเอาสัญญาณเหล่านี้มาสร้างเป็นภาพ

ดังนั้นภาพที่เห็นคือ ภาพหัวใจของผู้ป่วย โดยจะชี้ให้เห็นถึงสิ่งเหล่านี้

  1. ขนาดของหัวใจแต่ละห้อง หรือผนังกล้ามเนื้อของหัวใจอาจมีการโตขึ้น ซึ่งเกิดจากลิ้นหัวใจที่ถูกทำลาย ความดันโลหิตสูง หรือโรคอื่นๆ
  2. ลิ้นหัวใจ การตรวจจะแสดงว่าลิ้นหัวใจมีรูปร่างปกติหรือไม่ เปิดและปิดเหมาะสมหรือไม่ หรือว่ามีการรั่วหรือเปล่า
  3. อันตรายที่เกิดกับกล้ามเนื้อหัวใจ หากเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคเส้นเลือดหัวใจ หรือโรคอื่นๆ อาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจถูกทำลายได้
  4. ความผิดปกติของหัวใจที่เกิดขึ้นภายในห้องหัวใจ การไหลเวียนเลือดจากหัวใจและเส้นเลือดใหญ่ที่ผิดปกติ และความผิดปกติของหัวใจแต่กำเนิดได้ทั้งหมด
  5. ความสามารถของหัวใจในการสูบฉีดเลือด เมื่อหัวใจไม่สามารถปั๊มเลือดออกไปได้ในปริมาณที่มากพอต่อความต้องการของร่างกาย จะทำให้เกิดหัวใจวายตามมาได้
  6. เปอร์เซนต์ของเลือดที่ถูกสูบฉีดออกจากห้องหัวใจเปรียบเทียบกับปริมาณเลือดในหัวใจห้องล่างในแต่ละครั้ง หรือที่เรียกว่า Ejection fraction และปริมาณเลือดที่ร่างกายสูบฉีดออกไปภายใน 1 นาที พูดง่ายๆ ว่าลิ่มเลือด เนื้องอก และก้อนการติดเชื้อก็สามารถมองเห็นได้จากการตรวจนี้นั่นเอง

ดังนั้น การตรวจเอคโคจึงมีประโยชน์คือ ช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรค ตรวจหาความรุนแรง ติดตามผลการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยวินิจฉัยโรคทางหัวใจได้อย่างแม่นยำ ซึ่งส่วนมากมักเป็นโรคที่เกี่ยวกับการทำงาน หรือการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ การทำงานของลิ้นหัวใจ การไหลเวียนของเลือดในหัวใจ การเกิดลิ่มเลือดในหัวใจ ขนาดของห้องหัวใจ และตำแหน่งหลอดเลือดต่างๆ ที่เข้าและออกจากหัวใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคหัวใจแต่กำเนิด โรคลิ้นหัวใจพิการ โรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการ และโรคของเยื่อหุ้มหัวใจ

เมื่อทราบกันแล้วว่าการตรวจเอคโคมีประโยชน์อย่างไร บางคนอาจสงสัยอีกว่า แล้วผู้ป่วยที่มีอาการแบบใด แพทย์จึงจะสั่งตรวจเอคโค? แม้ว่าการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง หรือการตรวจเอคโคนี้ จะมีความปลอดภัยและไม่เจ็บปวด แต่ในการสั่งตรวจเพื่อวินิจฉัย แพทย์จะสั่งตรวจในผู้ป่วยที่มีลักษณะเข้าข่ายดังต่อไปนี้

  1. เมื่อแพทย์ตรวจร่างกายแล้วพบว่ามีเสียงหัวใจผิดปกติ
  2. เมื่อผู้ป่วยไม่มีอาการใดๆ แต่มีเสียงหัวใจผิดปกติ และแพทย์สงสัยว่าเสียงที่ผิดปกตินี้อาจเกิดจากความผิดปกติทางโครงสร้างของหัวใจ
  3. เมื่อผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บหน้าอก และให้การรักษาอย่างอื่นแล้วไม่ดีขึ้น




ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย