โรคมะเร็งทางนรีเวชที่พบบ่อย ภัยร้ายของผู้หญิงที่ต้องระวัง
ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพสตรี
บทความโดย : พญ. จุฑาภรณ์ อุทัยแสน
มะเร็งทางนรีเวช หรือ มะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์ผู้หญิง เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของผู้หญิง โดยปัจจัยสำคัญมากจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต หรือประวัติการเป็นมะเร็งของคนในครอบครัว ที่ทำให้ผู้หญิงไทยเป็นโรคมะเร็งนรีเวชกันมากขึ้น โดย 3 อันดับที่พบบ่อย ได้แก่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก และมะเร็งรังไข่ แต่จริงๆ แล้วสามารถพบได้ทุกอวัยวะ ไม่ว่าจะเป็น มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งช่องคลอด มะเร็งกล้ามเนื้อมดลูก มะเร็งเนื้อรก แต่ส่วนนี้จะพบได้น้อย ทั้งนี้มะเร็งทางนรีเวชสามารถเป็นได้ทุกช่วงอายุ ดังนั้นผู้หญิงทุกคนควรหมั่นสังเกตตัวเอง หากพบว่ามีอาการผิดปกติควรรีบมาพบแพทย์เฉพาะทาง และเพื่อให้รู้เท่าทันไปทำความรู้จักกับ 3 มะเร็งทางนรีเวชที่พบบ่อยกันดีกว่า
สารบัญ
ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดมะเร็งทางนรีเวชแต่ละชนิด
- มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับ 2 ของมะเร็งในผู้หญิง มักพบในผู้หญิงที่มีช่วงอายุ 35-55 ปี ตัวก่อมะเร็งที่ชัดเจน คือ เชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV: Human Papillomavirus) เชื้อไวรัสที่แพร่กระจายได้ง่ายผ่านการสัมผัสกับเชื้อโดยตรง หรือการมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนั้นก็จะเป็นพฤติกรรมต่างๆ เช่น การสูบบุหรี่ การมีคู่นอนหลายคน หรือกรรมพันธุ์ซึ่งอาจจะไม่ค่อยมีส่วนเกี่ยว ส่วนใหญ่จะเป็นการติดเชื้อ HPV แต่ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นเชื้อ HPV เท่านั้น
- มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มักพบในผู้หญิงที่อายุ 60 ปีขึ้นไป เกิดจากการทานตัวยาบางอย่าง และได้รับฮอร์โมนที่เกินขนาด อาจจะเป็นยาฮอร์โมนที่ซื้อทานเอง ยาฮอร์โมนในวัยทองที่ได้รับมานานเกินไป หรือว่าการทานยาบางอย่าง เช่น ทาม็อกซิเฟน (Tamoxifen) ที่ใช้รักษาโรคมะเร็งเต้านม และมาจากร่างกายที่มีน้ำหนักเยอะ หรือประจำเดือนไม่ค่อยมา
- มะเร็งรังไข่ มักพบได้บ่อยในช่วงอายุ 55-64 ปี ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดมะเร็งรังไข่อย่างแน่ชัด แต่สันนิษฐานได้ว่าเกิดจากการผิดปกติที่ถ่ายทอดของพันธุกรรม โดยจะพบมากในกลุ่มครอบครัวที่มีประวัติเป็นมะเร็งรังไข่ รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงในกลุ่มสตรีที่ใช้ยากระตุ้นการตกไข่
อาการของมะเร็งทางนรีเวชแต่ละชนิด
- มะเร็งปากมดลูก ถ้ารอให้มีอาการแสดงว่าก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้นแล้ว มะเร็งปากมดลูกยังมีข้อดีอยู่ตรงที่ก้อนมะเร็งจะค่อยๆ โตขึ้น โตช้า แต่ว่าจะมีขั้นตอนการตรวจที่ชัดเจน คือ จะสามารถตรวจจับได้ตั้งแต่เซลล์ก่อนเป็นมะเร็ง โดยมะเร็งปากมดลูกระยะแรกจะไม่มีอาการ พบได้จากจากตรวจเท่านั้น ถ้ามีอาการจะมีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ เลือดออกไม่เป็นรอบ กระปริบกระปรอย หรือตกขาวเหม็นไม่หายเรื้อรัง แต่ถ้ามีอาการก็จะพบเป็นก้อน 3-4 เซนติเมตร
- มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก จะแยกระหว่างวัยหมดประจำเดือนและวัยยังไม่หมดประจำเดือน ถ้าในวัยหมดประจำเดือน การกลับมามีเลือดออกอีกจะเป็นอาการเริ่มต้น แต่ในส่วนวัยก่อนหมดประจำเดือน จะมีอาการประจำเดือนมาผิดปกติ มามากขึ้น หรือมาไม่เป็นรอบ ซึ่งมะเร็งชนิดนี้ไม่มีการตรวจคัดกรอง
- มะเร็งรังไข่ ค่อนข้างจะไม่มีอาการก่อนเริ่มเป็น ถ้ามีอาการก็ คือ เป็นมากแล้วในระยะ 3-4 อาการจะค่อนข้างกำกวมกับโรคทางเดินอาหาร เช่น บวมๆ ท้อง กินไม่ได้ รู้สึกท้องตึงหน่อยๆ รู้สึกขึ้นคลื่นไส้อาเจียน จะไม่มีอาการเลือดออกใดๆ ถ้าจะพบก็ คือ บังเอิญเจอจากการตรวจสุขภาพประจำปี หรือจากการอัลตราซาวด์ด้วยสาเหตุอื่นๆ จึงบังเอิญพบเนื้องอกรังไข่
การตรวจวินิจฉัย แต่ละชนิดตรวจอย่างไรบ้าง
โดยส่วนใหญ่ต้องได้ชิ้นเนื้อไม่ว่ามะเร็งอะไร
- มะเร็งปากมดลูก จะคัดกรองร่วมกับ การหาเชื้อ HPV (HPV DNA testing) หากสงสัยก็จะตัดชิ้นเนื้อนำไปวินิจฉัยต่อในห้องปฏิบัติการ
- มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก จะวินิจฉัยด้วยการดูด ขูด หรือส่องกล้องโพรงมดลูก เพื่อเอาชิ้นเนื้อไปวินิจฉัยต่อในห้องปฏิบัติการ
- มะเร็งรังไข่ จะตรวจตามการวัดค่าต่างๆ เช่น การตรวจเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็งร่วมกับการอัลตราซาวด์ ตรวจด้วยรังสีวินิจฉัยการส่องกล้องแลปพาโรสโคปเก็บตัวอย่างของเนื้องอกเพื่อนำไปวินิจฉัยทางพยาธิวิทยา โดยนำอายุ และค่าอื่นๆ มาคิดคำนวณค่าเป็นเปอร์เซ็นต์ หากค่ามากให้สงสัยว่าเป็นมะเร็ง และส่งพบแพทย์มะเร็ง
แนวทางการรักษามะเร็งทางนรีเวชแต่ละชนิด
การรักษามะเร็งทั้ง 3 ชนิด มีอยู่ 3 วิธีหลักๆ ดังนี้ การผ่าตัด การใช้รังสีรักษาหรือการฉายแสง และเคมีบำบัด รวมถึงการให้ยามุ่งเป้า ซึ่งรายละเอียดจะต่างกัน เช่น
- มะเร็งปากมดลูก ในระยะเริ่มแรกก่อนเป็นมะเร็ง จะใช้การตัดปากมดลูกออก (LEEP) ซึ่งมะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มต้นจะใช้การผ่าตัด เพราะมะเร็งปากมดลูกในระยะแรก เซลล์มะเร็งจำกัดอยู่เฉพาะที่ปากมดลูก ยังไม่แพร่ไปอวัยวะใกล้เคียง แต่เมื่อผู้ป่วยอยู่ระยะลุกลาม เซลล์มะเร็งแพร่ไปยังอวัยวะใกล้เคียงแล้ว เช่น ตัวมดลูก รังไข่ ต่อมน้ำเหลือง กระเพาะปัสสาวะ ท่อไต ลำไส้ใหญ่ ตลอดจนเยื่อบุช่องท้อง การรักษาในระยะนี้จะใช้รังสีรักษาเป็นหลัก อาจร่วมกับการให้เคมีบำบัดด้วย
- มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก จะรักษาด้วยการผ่าตัด จากนั้นจะใช้รังสีรักษาหรือการฉายแสง หากเป็นระยะลุกลามจะมีเคมีบำบัดร่วมด้วย ซึ่งอยู่ที่ดุลยพินิจของแพทย์
- มะเร็งรังไข่การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดจะเป็นวิธีหลักของมะเร็งรังไข่ด้วยการผ่าตัดมดลูก และรังไข่ทั้ง 2 ข้าง พร้อมทั้งเลาะต่อมน้ำเหลืองและเยื่อบุช่องท้องตามตำแหน่งที่มะเร็งมักแพร่กระจายไป หรือเอาก้อนมะเร็งออกให้มากที่สุด และผู้ป่วยส่วนใหญ่จะได้รับยาเคมีบำบัดเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ
การป้องกันโรคมะเร็งทางนรีเวช
- มะเร็งปากมดลูกป้องกันได้โดยการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ เช่น มีเพศสัมพันธ์เร็ว มีคู่เพศสัมพันธ์หลายคน เป็นต้น การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกสม่ำเสมอเพื่อตรวจหาเซลล์ผิดปกติ หรือรอยโรคมะเร็งก่อนที่จะเกิดเซลล์ลุกลาม นอกจากนี้ควรฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกหรือวัคซีนเอชพีวี ได้ตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไป
- มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกสามารถลดโอกาสเกิดมะเร็งชนิดนี้ได้โดยการควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี รวมทั้งการเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทางเมื่อเกิดความผิดปกติ เช่น ประจำเดือนขาดต่อเนื่อง มีประจำเดือนมาไม่ตรงรอบ หรือมีเลือดออกผิดปกติหลังเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน เป็นต้น
- มะเร็งรังไข่เข้ารับการตรวจสุขภาพ รวมทั้งการตรวจภายในและพบสูตินรีแพทย์เป็นประจำทุกปี เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งรังไข่ โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวหรือญาติสายตรงเป็นมะเร็งรังไข่ตั้งแต่อายุยังน้อย
อย่างไรก็ตามการรักษามะเร็งทางนรีเวชแต่ละชนิดนั้น ความสำเร็จจากการรักษาจะขึ้นอยู่กับระยะของโรคมะเร็ง ขนาดก้อนมะเร็ง สุขภาพของผู้ป่วย ซึ่งแพทย์จะพิจารณาการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยในแต่ละราย ทั้งนี้หากคุณมีอาการผิดปกติดังกล่าว หรือสงสัยว่าตัวเองมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็ง ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อเข้ารับคำแนะนำและการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด เพราะหากตรวจพบได้เร็ว รักษาได้ทันท่วงที จะยิ่งเพิ่มโอกาสและประสิทธิภาพในการรักษามากยิ่งขึ้น
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์สุขภาพสตรี