โรคหัวใจในเด็ก ดูแลอย่างไร ให้หัวใจดวงน้อยกลับมาเต้นเป็นปกติ
ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพเด็ก
บทความโดย : นพ. สรนนท์ ไตรติลานันท์
โรคหัวใจพิการตั้งแต่กำเนิดสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ซึ่งมีผลทำให้เสียชีวิตตั้งแต่ยังไม่คลอดออกมา หรือคลอดออกมาแล้วแสดงอาการทันทีซึ่งถือเป็นกลุ่มอาการรุนแรง ส่วนโรคหัวใจในเด็กที่มีความรุนแรงน้อยกว่า อาจสังเกตอาการได้ว่าดูดนมแล้วเหนื่อย หรือเหนื่อยขณะวิ่งเล่น เมื่อคุณพ่อคุณแม่รู้ว่าลูกเป็นโรคหัวใจ สิ่งที่ควรปฏิบัติคือ พยายามให้ลูกได้รับประทานอาหารที่ครบถ้วนสมบูรณ์ รับพลังงานที่เพียงพอ เพื่อให้มีการเจริญเติบโตที่ปกติ รวมทั้งดูแลสุขภาพไม่ให้เจ็บป่วย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อโรคหัวใจที่ลูกเป็นอยู่ได้
การดูแลโรคหัวใจในเด็ก
เด็กที่ป่วยเป็นโรคหัวใจไม่ว่าจะเป็นชนิดเป็นแต่กำเนิด เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ชนิดที่เป็นเมื่อโตแล้ว หรือเกิดขึ้นในภายหลังจากการติดเชื้อ เช่น โรคคาวาซากิ โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เป็นต้น อาจแบ่งตามอาการออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
1. โรคหัวใจในเด็กชนิดไม่มีอาการ แบ่งเป็น
1.1 กลุ่มเด็กที่เป็นโรคหัวใจผิดปกติไม่รุนแรง
เด็กกลุ่มนี้จะมีความผิดปกติที่หัวใจ เมื่อได้รับการวินิจฉัยจากกุมารแพทย์โรคหัวใจ หากเป็นโรคหัวใจชนิดใดก็ตามส่วนใหญ่การผิดปกติของหัวใจมักไม่รุนแรง ไม่จำเป็นต้องให้การรักษาทางยาหรือผ่าตัด การดำเนินชีวิตกิจกรรมต่างๆ มักเป็นไปตามปกติเหมือนเด็กทั่วไป ไม่มีข้อจำกัดใดๆ ในเรื่องการรับประทานอาหาร สามารถออกกำลังกายอย่างเหมาะสม แต่ต้องดูแลสุขภาพช่องปากและฟันเด็กให้สะอาดอยู่เสมอ พบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียที่ลิ้นหัวใจหรือผนังหัวใจ พร้อมเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคโดยการไปรับวัคซีนต่างๆ
การพบแพทย์ในเด็กโรคหัวใจกลุ่มนี้ ควรพาไปพบกุมารแพทย์โรคหัวใจอย่างสม่ำเสมอ เพื่อประเมินถึงความรุนแรงของโรคหัวใจที่เป็นอยู่ ว่ามีความรุนแรงเพิ่มขึ้น หรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ หรือไม่ เพราะโรคหัวใจในเด็กบางชนิดการรุนแรงของโรคอาจเพิ่มมากขึ้นได้ตามอายุ
1.2 กลุ่มเด็กที่เป็นโรคหัวใจจากการติดเชื้อ
เด็กกลุ่มนี้เป็นโรคหัวใจจากการติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือ การเป็นโรคต่างๆ เช่น โรคคาวาซากิ ที่ทำให้เกิดการอักเสบของหัวใจและหลอดเลือดที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ โรคไข้รูมาติกซึ่งมีการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจ และลิ้นหัวใจ เป็นต้น โดยเฉพาะเด็กที่มีภาวะลิ้นหัวใจผิดปกติซึ่งเมื่อรักษาหายแล้วยังคงเหลือร่องรอยอยู่ ทำให้ลิ้นหัวใจรั่วหรือตีบได้ แม้เด็กจะหายจากโรคเหล่านี้แล้ว ก็จำเป็นจะต้องเข้ามาตรวจคลื่นเสียงสะท้อนภาพหัวใจเป็นระยะ เพื่อประเมินความรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้
2. โรคหัวใจในเด็กชนิดมีอาการ แบ่งเป็น
2.1 กลุ่มโรคหัวใจชนิดเขียว เด็กกลุ่มนี้อาการเขียวอาจเป็นตั้งแต่แรกเกิดหรือค่อยๆ เป็นมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาร้องไห้บางรายอาจมีอาการเขียวคล้ำ หายใจหอบลึก และอาจมีอาการตัวเกร็งเป็นลมหมดสติได้ ส่วนใหญ่มักจะเกิดในเด็กเล็กๆ ก่อนอายุ 2 ปี มักมีอาการในตอนเช้า หรือหลังร้องไห้ เมื่อโตขึ้นเด็กกลุ่มนี้จะตัวเล็ก หอบ เหนื่อยง่ายเวลาออกกำลังกายหรือเดินนานๆ เด็กกลุ่มนี้ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเท่านั้น ซึ่งการดูแลนั้นสามารถปฏิบัติได้ดังนี้
- ดูแลเช่นเด็กปกติ รับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ ควรให้อาหารที่มีธาตุเหล็กเพิ่ม เช่น เนื้อสัตว์ เพื่อให้ร่างกายสร้างฮีโมโกลบินได้พอเพียงกับปริมาณของเม็ดเลือดแดง เพื่อป้องกันการเกิดอาการทางสมอง
- ฉีดวัคซีนตามปกติ พร้อมดูแลสุขภาพช่องปากให้สะอาดอยู่เสมอ และให้ยาปฏิชีวนะก่อนทำฟัน เพื่อไม่ให้มีการติดเชื้อในหัวใจหรือเป็นฝีในสมอง
- การออกกำลังกาย ควรปรึกษาขอคำแนะนำจากกุมารแพทย์โรคหัวใจให้ชัดเจนว่าสามารถออกกำลังกายได้แค่ไหน เล่นกีฬาแข่งขันได้หรือไม่ ในกลุ่มเด็กที่มีอาการส่วนใหญ่เด็กมักจะจำกัดตัวเองอยู่แล้วก็ควรปล่อยไปตามธรรมชาติ แต่ก็ต้องไม่ให้เด็กหักโหมจนเกินไป
- ดูแลให้เด็กรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
- เมื่อเด็กมีอาการเขียวคล้ำหายใจหอบลึก คุณพ่อคุณแม่ควรพยายามทำให้เด็กสงบหยุดร้องไห้ ชันเข่าเด็กงอชิดหน้าอกหรืออุ้มพาดบ่า และรีบพาเด็กไปโรงพยาบาล เพราะการเกิดอาการนี้นานๆ อาจมีผลทางสมองเกิดขึ้นได้เช่นกัน
- หากมีอาการไข้ต่ำๆ เป็นสัปดาห์หรือเดือน เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย น้ำหนักลด มีอาการปวดข้อ ซึมลง หรือมีจุดเลือดตามตัว ให้รีบพามาพบแพทย์ทันที
2.1 กลุ่มที่มีอาการหัวใจวาย จะมีอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง น้ำหนักน้อย ดูดนมแล้วเหนื่อย รับประทานอาหารได้น้อย ต้องพักเหนื่อยระหว่างรับประทาน บางครั้งมีพัฒนาการช้า และบางรายก็มีอาการบวมร่วมด้วย หรือป่วยเป็นปอดบวมบ่อยๆ เด็กกลุ่มนี้จำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ตั้งแต่แรกๆ ส่วนใหญ่เด็กกลุ่มนี้จะได้รับการผ่าตัดเมื่อถึงเวลาอันสมควร ซึ่งการดูแลเด็กกลุ่มนี้ของคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองนั้นสามารถปฏิบัติได้ดังนี้
- ดูแลสุขภาพทั่วไป และให้ภูมิคุ้มกัน ฉีดวัคซีนเหมือนเด็กปกติทั่วไป
- ด้านโภชนาการ รับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ ลดอาหารเค็มจัด
- หลีกเลี่ยงการไปที่แออัดเพื่อไม่ให้เด็กป่วยเป็นหวัด เพราะจะทำให้มีโรคแทรกซ้อนได้ เช่น ปอดอักเสบหรือปอดบวมเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
- เด็กกลุ่มนี้มักจะได้รับยาหลายชนิดเพื่อรักษาภาวะหัวใจวาย คุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจในการให้ยาเหล่านี้เป็นอย่างดี เพื่อป้องกันการผิดพลาดในการให้ยา เพราะหากให้เกินขนาดจะเกิดอันตรายแก่เด็กได้ หรือหากได้รับยาขนาดน้อยเกินไปก็จะไม่เกิดประโยชน์
- การออกกำลังกาย ต้องไม่หักโหม ไม่ควรเล่นกีฬาแข่งขัน เพราะจะทำให้อาการหัวใจวายแย่ลง
- หลังจากการผ่าตัด ในช่วงระยะเวลาแรกๆ จำเป็นที่จะต้องดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดเช่นเดิม เพื่อมิให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดในการดูแลเด็กที่เป็นโรคหัวใจผู้ปกครอง คุณพ่อคุณแม่ จะต้องเข้าใจถึงการดำเนินของโรคชนิดนั้นๆ อย่างแท้จริง ตลอดจนความเข้าใจเรื่องการให้ยา การเฝ้าระวังโรคแทรกซ้อนและให้การรักษาอย่างทันท่วงที รวมไปถึงการได้รับการตรวจและรับคำแนะนำจากกุมารแพทย์โรคหัวใจอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้เด็กหายจากโรคหัวใจ และสามารถดำเนินชีวิตอย่างปกติทั่วไป
บทความทางการแพทย์ศูนย์สุขภาพเด็ก