ไซนัสอักเสบ โรคใกล้ตัวที่น่ารำคาญ ไม่รักษาเสี่ยงเรื้อรัง
ศูนย์ : ศูนย์โสต ศอ นาสิก
บทความโดย : พญ. จุฑามาส สุวัฒนภักดี
ไซนัสอักเสบ เป็นโรคที่พบบ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งสามารถพบได้ทุกฤดูกาลตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงที่มีอากาศชื้น อาการของไซนัสอักเสบมักมีความคล้ายกับไข้หวัด คัดจมูกไม่หาย มีน้ำมูกข้นๆ ไอเสมหะตลอดเวลา ผู้ป่วยจึงไม่ระวังและปล่อยไว้นาน เพราะคิดว่าเป็นหวัดธรรมดาไม่รักษา เมื่อมาพบแพทย์ก็ตรวจพบว่าเป็นไซนัสอักเสบเรื้อรังไปแล้ว หากมีอาการดังกล่าวร่วมกับมีความรู้สึกปวดแน่นบริเวณใบหน้า ไม่ควรนิ่งนอนใจควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้าน หู คอ จมูก เพื่อตรวจรักษาอย่างถูกต้อง
ไซนัสอักเสบ เป็นอย่างไร?
ไซนัส คือ ช่องว่างหรือโพรงอากาศที่อยู่ภายในกะโหลกศีรษะบริเวณใบหน้า มีด้วยกัน 4 คู่ คือ บริเวณโหนกแก้มข้างจมูก บริเวณหัวคิ้วระหว่างลูกตา บริเวณหน้าผากและส่วนกลางกะโหลกศีรษะ แม้โพรงอากาศนี้จะเป็นทีว่างเปล่าแต่ถูกบุด้วยเยื่อเมือกบางๆ ชนิดเดียวกับเยื่อบุโพรงจมูก ในกรณีมีการอักเสบติดเชื้อเกิดขึ้น เนื้อเยื่อบุไซนัสจะบวมมากขึ้น และรูเปิดไซนัสจะบวมและปิดลงทำให้ระบายอากาศไม่ได้
โรคไซนัสอักเสบ เป็นการอักเสบและการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรียของเยื่อบุจมูกและไซนัส เมื่อเกิดการติดเชื้อเนื้อเยื่อในโพรงไซนัสจะมีอาการบวม และร่างกายจะผลิตสารคัดหลั่งเมือกเหลวขึ้นมามาก จนเกิดการอุดตันจนกลายเป็นหนองอักเสบหรือน้ำมูกเขียวข้น
ผู้ป่วยโรคไซนัสอักเสบมักจะมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ปวดบริเวณไซนัสที่อักเสบ บางครั้งมีอาการมึนศีรษะร่วมกับอาการปวด คัดจมูกหรือแน่นจมูกโดยมีอาการตลอดเวลาแม้จะทานยาแล้วก็ตาม มีน้ำมูกและเสมหะสีเหลืองหรือเขียว บางครั้งน้ำมูกไหลออกมาเองโดยไม่รู้ตัว บางรายมีอาการมากถึงมีกลิ่นเหม็นในจมูก ซึ่งสามารถรู้ได้ด้วยตนเอง มีไข้ หรือไข้สูงจนหนาวสั่น ไอเรื้องรัง และมีเสมหะ อาการปวดไซนัสจะเป็นมากขึ้นเวลาเช้าหลังตื่นนอน เนื่องจากขณะนอนหลับจะเกิดการคั่งค้างของหนองภายในโพรงไซนัส และมีการคั่งของหลอดเลือดจากภาวะการนอน ทำให้การถ่ายเทอากาศในโพรงไซนัสไม่ดีจนเกิดการสะสมของของเหลวจำนวนมาก
ประเภทของไซนัสอักเสบ
ไซนัสอักเสบ แบ่งประเภทเป็น 3 แบบ โดยอาศัยระยะเวลาของการมีอาการ ได้แก่
1. โรคไซนัสอักเสบเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการไม่เกิน 12 สัปดาห์ โดยมีสาเหตุจากการติดเชื้อ ได้แก่
- โรคไซนัสอักเสบเฉียบพลันเกิดจากเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักมีอาการไม่เกิน 10 วัน และมักจะหายได้เอง
- โรคไซนัสอักเสบเฉียบพลันเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักมีอาการของหวัดหรือการติดเชื้อในระบบ ทางเดินหายใจส่วนบนมากกว่า 10 วันหรือมีอาการดีขึ้นแล้วกลับแย่ลง
2. โรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยมีอาการอักเสบเกิดขึ้นต่อเนื่องราว 12 สัปดาห์ขึ้นไป มักพบในผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้
สาเหตุของไซนัสอักเสบ
โรคไซนัสอักเสบ สามารถเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ เช่น
- การเป็นหวัด จะทำให้เกิดการบวมของเยื่อบุภายในช่องจมูกและไซนัส ถ้าเป็นหวัดนานเกิน 7-10 วัน แล้วไม่หายสนิท ก็อาจทำให้เกิดไซนัสอักเสบได้
- การติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบน เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของไซนัสอักเสบชนิดเฉียบพลัน
- โรคภูมิแพ้ ทำให้เยื่อบุภายในช่องจมูกและไซนัสบวม เป็นๆ หายๆ ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จึงเป็นสาเหตุให้เกิดอาการไซนัสอักเสบได้
- ความผิดปกติในช่องจมูก เช่น ผนังกั้นจมูกคด หรือ กระดูกที่ผนังด้านข้างโพรงจมูกมีขนาดใหญ่มาก จนไปอุดตันรูเปิดของไซนัส
- ความผิดปกติเกี่ยวกับฟัน เช่น ฟันผุ จำทำให้กระดูกที่คั่นระหว่างฟันกับไซนัสบางมาก การติดเชื้อที่รากฟันที่ผุ โดยเฉพาะฟันซี่ด้านใน อาจทำให้การติดเชื้อนั้นเข้าสู่ไซนัสบริเวณแก้มได้ง่าย
- ปัจจัยด้านอื่นๆ เช่น ผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจทางจมูก หรือต้องคาสายให้อาหารในโพรงจมูกเป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะขณะมีการติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบน และในเด็กเล็กอาจมีต่อมแอดีนอยด์โต หรือมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในจมูกเป็นเวลานาน เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนจากไซนัสอักเสบ
- มีผลต่อเยื่อบุทางเดินหายใจส่วนบนและล่าง เกิดการอักเสบในหูชั้นกลางทำให้หูอื้อ เยื่อบุลำคออักเสบ กล่องเสียงอักเสบเรื้อรัง หลอดลมอักเสบเรื้อรัง และหอบหืด
- มีผลทางตา ทำให้เนื้อเยื่อรอบๆ ตาอักเสบ เช่น ตาบวม เจ็บตา กลอกตาแล้วเจ็บ มองเห็นภาพซ้อนหรือ เห็นภาพไม่ชัด เป็นต้น
- มีผลต่อสมอง โดยมีอาการปวดศีรษะและใบหน้าหรือมีไข้ แต่เมื่อมีการอักเสบมากขึ้น ผู้ป่วยจะมีไข้สูงขึ้น อาจเกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือลามไปเนื้อสมองเป็นฝีในสมอง
การตรวจและวินิจฉัยไซนัสอักเสบ
การตรวจและวินิจฉัยอาศัยจากการซักประวัติ การตรวจร่างกาย และการตรวจโพรงจมูกในรายที่เป็นไซนัสอักเสบเฉียบพลัน ในกรณีที่เป็นไซนัสอักเสบเรื้อรังที่ยากต่อการวินิจฉัย อาจจำเป็นต้องมีการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม เช่น การส่องกล้องเข้าไปในโพรงจมูก หรือการตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ร่วมด้วย
ไซนัสอักเสบรักษาได้อย่างไร?
การรักษาโรคไซนัสอักเสบ เบื้องต้นผู้ป่วยจะได้รับยาบรรเทาอาการปวด คำแนะนำให้ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ หรือให้ยากิน ยาพ่นจมูกลดความบวม ถ้าพบว่าผู้ป่วยมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย ก็ต้องรับยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียเพิ่ม รวมทั้งการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดไซนัส Functional Endoscopic Sinus Surgery (FESS) เป็นการผ่าตัดผ่านทางจมูกโดยใช้กล้องเอ็นโดสโคป ทำให้เห็นภาพ บริเวณที่ทำผ่าตัดได้ชัดเจนขึ้น และยังสามารถมองเห็นและทำผ่าตัดในบริเวณที่อยู่ด้านข้างได้ ซึ่งการผ่าตัดจะเป็นขั้นตอนในการรักษาวิธีสุดท้ายเมื่อใช้วิธีการรักษาเบื้องต้นแล้วไม่ดีขึ้น หรือมีริดสีดวงจมูก หรือผู้ป่วยเริ่มมีอาการแทรกซ้อนทางตา หรือสมอง เช่น ตามัวลง ปวดศีรษะมาก อาเจียนบ่อยๆ
หากคุณเป็นหวัดนานเกิน 7-10 วัน แล้วยังไม่หาย อาจเป็นสัญญาณที่บอกว่าคุณได้เริ่มเป็นไซนัสอักเสบแล้ว หรือหากว่าเป็นหวัดมา 3-4 วัน แทนที่จะดีขึ้นกลับมีอาการแย่ลง รวมทั้งมีไข้ขึ้นร่วมกับปวดใบหน้า หัวตา หน้าผาก หรือแก้ม แน่นจมูกมาก น้ำมูกเขียวข้น ก็มีแนวโน้มสูงว่า คุณน่าจะเป็นไซนัสอักเสบเช่นกัน ดังนั้นหากคุณมีอาการดังกล่าวไม่ควรละเลย ให้รีบเข้ามาปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านหู คอ จมูก เพื่อทำการรักษาก่อนกลายเป็นเรื้อรังได้
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์โสต ศอ นาสิก