คนอ้วน-เครียด-ไขมันสูง ฟังไว้! แพทย์เตือนเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ

ศูนย์ : ศูนย์หัวใจ

บทความโดย :

คนอ้วน-เครียด-ไขมันสูง ฟังไว้! แพทย์เตือนเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ

ด้วยไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของคนในยุคนี้ที่มักโหยหาแต่การกินอาหารแบบบุฟเฟต์ กินอาหารปิ้งย่างที่มีไขมันสูง ประกอบกับการทำงานในแต่ละวันที่ก่อให้เกิดความเครียดสะสม อีกทั้งยังไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ทำให้อ้วนได้ง่ายๆ บอกเลยว่าถ้าขืนยังใช้ชีวิตแบบนี้อยู่ละก็ คุณอาจเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจได้! ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคดังกล่าวเราจึงควรมาทำความรู้จักกับโรคนี้ให้มากขึ้น


โรคหลอดเลือดหัวใจ

โรคหลอดเลือดหัวใจ (coronary artery disease) หมายถึง โรคที่เกิดจากหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ (coronary artery) ตีบหรือตัน โดยสาเหตุเกิดจากไขมันสะสมในผนังหลอดเลือด ทำให้เนื้อเยื่อผนังหลอดเลือดชั้นในหนาตัวเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้หลอดเลือดตีบแคบลง ส่งผลให้เลือดไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอ จนเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ซึ่งจะทำให้มีอาการเจ็บหน้าอกเฉียบพลัน หากคราบไขมันที่จะสะสมอยู่ที่ผนังหลอดเลือดชั้นในแตกออกจะกลายเป็นลิ่มเลือด จะเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันทำให้เสียชีวิตกะทันหันได้

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ แบ่งได้ดังนี้

  1. ปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ อันได้แก่
    • พันธุกรรม - บุคคลในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหัวใจ เช่น พ่อและแม่
    • อายุ - ความเสี่ยงของโรคจะเพิ่มขึ้นตามอายุ
    • เพศ - เพศชายมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจมากกว่าเพศหญิง
  2. ปัจจัยที่สามารถควบคุมได้
    • น้ำหนักเกิน (ภาวะอ้วน) - คนที่มีค่า BMI มากกว่า 30 มีอัตราเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ
    • ภาวะความดันโลหิตสูง - การปล่อยให้ความดันโลหิตสูงอยู่นานๆ
    • ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง - เบาหวานจะทำให้หลอดเลือดต่างๆ เสื่อมลง จึงจำเป็นต้องควบคุมน้ำตาลให้มากที่สุด
    • ภาวะไขมันในหลอดเลือดผิดปกติ - ผู้ที่มี LDL สูง จะมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจสูงขึ้น
    • ไม่ออกกำลังกาย ความเครียด
    • การสูบบุหรี่ - บุคคลที่สูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจมากกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ 2-4 เท่า

อาการที่บ่งชี้ว่าผู้ป่วยควรมาพบแพทย์

  1. อาการเจ็บหน้าอกเหมือนมีอะไรมากดทับหรือรัดกลางหน้าอก อาจมีร้าวไปคอไหล่ กรามและแขนทั้งสองข้าง เป็นมากขึ้นเมื่อออกแรง
  2. มีอาการเหนื่อย หายใจหอบ นอนราบไม่ได้ แน่นอึดอัด หายใจไม่เต็มปอด มีอาการเจ็บหน้าอกร่วมด้วย อาจเกิดขึ้นเฉียบพลันหรือเป็นๆ หายๆ มาเป็นเวลานาน
  3. มีอาการเวียนศีรษะ เหมือนจะเป็นลม ร่วมกับแน่นหน้าอก เหงื่อออก
  4. อาการหมดสติ หัวใจหยุดเต้น

การตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจ

  1. ตรวจร่างกายและซักประวัติ
  2. ตรวจผลเลือด
  3. ตรวจพิเศษ ได้แก่ การตรวจกราฟไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram) การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram) การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise stress test)
  4. ตรวจวินิจฉัยโรคด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (CTA) การสวนหัวใจ ( cardiac catheterization angiogram)

แนวทางการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ

  • แนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่อาจทำให้เกิดปัจจัยเสี่ยง เช่น การเลิกบุหรี่ ออกกำลังกาย ควบคุมอาหาร
  • รักษาด้วยยา คือ รับประทานยาลดการต้านเกล็ดเลือด และยาควบคุมการเต้นของหัวใจ ยาลดไขมัน ยาลดความดันโลหิต
  • รักษาด้วยการขยายหลอดเลือดหัวใจ โดยการใช้บอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจบริเวณที่ตีบตันและใช้ขดลวดค้ำยันผนังหลอดเลือด
  • การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือด (coronary artery bypass grafting (CABG))

ดังนั้น เพื่อไม่ให้ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ เราจึงควรปรับพฤติกรรมการบริโภคอาหาร หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ หยุดสูบบุหรี่ และลดความเครียดลงบ้างก็จะเป็นการดี


Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย