กลืนลำบาก สำลักบ่อย หนึ่งในปัญหาของผู้สูงอายุที่พบบ่อย

ศูนย์ : ศูนย์อายุรกรรม, บริการทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ

บทความโดย : นพ. ภาณุวัฒก์ ว่องตระกูลเรือง

กลืนลำบาก สำลักบ่อย หนึ่งในปัญหาของผู้สูงอายุที่พบบ่อย

ผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างทั้งทางกายภาพและระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกาย และหนึ่งในปัญหาของผู้สูงอายุที่พบบ่อย คือ ความสามารถในการกลืนอาหารและน้ำนั้นลดลง และทำให้เกิดการสำลักตามมาได้ สาเหตุเบื้องต้นเกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างและหน้าที่การทำงานของช่องปาก คอหอย หลอดอาหาร และกลไกของระบบประสาทที่ควบคุมการกลืน ส่งผลให้ความสามารถในการกลืนอาหารลดลง ทำให้ผู้สูงอายุเกิดภาวะกลืนลำบากมากยิ่งขึ้น


ภาวะกลืนลำบากในผู้สูงอายุคืออะไร

การกลืนลำบากมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ

  1. กลืนติด มักจะใช้กับสิ่งที่เป็นของแข็งมากกว่า เช่น กินข้าวแล้วติดคอ
  2. กลืนสำลัก จะเป็นพวกอาหารเหลว น้ำ กลืนแล้วก็มีการสำลัก หรือไอออกมา

สาเหตุสำคัญการกลืนลำบาก

ภาวะกลืนลำบากเริ่มตั้งแต่ในช่องปาก บางคนฟันไม่มี ต้องใส่ฟันปลอม บางคนเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ปากเบี้ยว ลิ้นแข็ง หรือป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน ทำให้การรับรู้ต่างๆ ของหลอดอาหารผิดปกติไป ทำให้เกิดภาวะสำลัก หรือสำลักเงียบได้ หรือการมีเนื้องอก มีก้อนเนื้อต่างๆ อยู่ตามหลอดอาหาร หรือยาวไปจนถึงกระเพาะอาหาร ทำเกิดการกลืนติด กลืนลำบากได้ ซึ่งแต่ละสาเหตุต้องแยกกัน โดยภาวะกลืนติด กลืนลำบากของแต่ละสาเหตุนั้น จะแสดงออกมาไม่เหมือนกัน บางสาเหตุมักจะกลืนติดของแข็งก่อน บางสาเหตุก็อาจจะกลืนติดของเหลวก่อน ซึ่งแพทย์จะประเมินหาสาเหตุ แล้วจึงหาทางรักษาแก้ไข


สำลักเงียบอันตรายอย่างไร

ในคนหนุ่มสาวมักจะไม่ค่อยเจอ แต่จะเจอบ่อยในผู้สูงอายุ เช่น บางคนกินลูกชิ้นเข้าไปหรือกินน้ำเข้าไป พอกลืนเข้าไป ร่างกายจะมีปฏิกิริยาตอบโต้อยู่ที่คอ มีระบบรับรู้ความรู้สึกอยู่ที่คอ ร่างกายจะไอขับออกมา เพื่อไม่ให้สิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นลงไปที่หลอดลมหรือไปอุดกลั้นทางเดินหายใจ แต่ในผู้สูงอายุหลายๆ กลุ่มที่เป็นโรคบางอย่างนั้น พอระบบรับรู้ความรู้สึกเหล่านี้สูญเสียไป บางคนกินลูกชิ้นเข้าไป ลูกชิ้นหลุดเข้าไปในหลอดลมแล้วยังไม่รู้ตัวเลย ไม่มีการไอออก ไม่มีการสำลักออก ซึ่งเสี่ยงมากต่อการเสียชีวิต


สังเกตอาการผู้สูงอายุกลืนลำบาก

คนในครอบครัว ผู้ใกล้ชิด หรือผู้ดูแล ควรต้องสังเกตพฤติกรรมในการรับประทานอาหารของผู้สูงอายุ เนื่องจากผู้สูงอายุจะไม่ค่อยบอกว่ามีปัญหาเรื่องการกลืน ถ้าผู้ดูแลสังเกตเห็นอาการเหล่านี้ได้ ถือเป็นสัญญาณเตือนที่ควรจะมาพบแพทย์ เช่น

  • มีอาการไอหรือสำลักเวลากลืนอาหาร หรือดื่มน้ำ
  • มีพฤติกรรมในการตัดแบ่งอาหารให้มีขนาดเล็กลง เพื่อให้สามารถกลืนได้ตามปกติ
  • มีเสียงแหบ เสียงพร่า หลังจากกลืนอาหารลงไป
  • เมื่อรับประทานอาหารเข้าไปแล้ว รู้สึกว่ามีอาหารติดอยู่ในลำคอหรือหน้าอก
  • น้ำหนักตัวลดลงผิดปกติ
  • พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

ปัญหากลืนลำบาก ส่งผลต่อผู้สูงอายุอย่างไร

ผู้สูงอายุที่มีภาวะกลืนลำบากจะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ทั้งทางร่างกาย และจิตใจ ได้แก่

  • ปัญหาทางด้านร่างกาย ผู้สูงอายุอาจมีภาวะขาดน้ำ ขาดอาหาร น้ำนักลดได้ เนื่องจากผู้สูงอายุจะหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารเพราะกลัวการสำลักหรือรู้สึกว่ากลืนลำบาก ส่งผลให้เกิดให้ร่างกายอ่อนแอมากยิ่งขึ้น ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะภาวะติดเชื้อในปอดและระบบทางเดินหายใจจากการสำลักน้ำหรืออาหาร บางรายถึงขั้นเสียชีวิต
  • ปัญหาทางสังคมและจิตใจ เมื่อผู้สูงอายุที่มีภาวะกลืนลำบาก สำลักบ่อย ทำให้เกิดความกังวลในการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น ทำให้ออกห่างจากสังคมเริ่มรับประทานอาหารคนเดียว นำไปสู่ภาวะซึมเศร้า มีผลทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง ไม่อยากอาหาร ยิ่งส่งผลให้สุขภาพโดยรวมทรุดโทรมลงไปอีก

การประเมินภาวะกลืนลำบาก

การประเมินที่ครอบคลุมทำให้ได้การวินิจฉัยที่แม่นยำ และสามารถวางแผนในเรื่องการรักษาและฟื้นฟูการกลืนได้อย่างเหมาะสม โดยแพทย์ ด้วยการซักประวัติ และการตรวจร่างกาย เช่น ความสามารถในการกลืนทั้งก่อนเกิดโรคและขณะปัจจุบัน อาการของภาวะกลืนลำบาก ประวัติโรคทางกายที่มีผลต่อความสามารถในการกลืน ตรวจร่างกายทางระบบประสาทที่สัมพันธ์กับตัวโรคของผู้ป่วย เป็นต้น

นอกจากนี้ อาจมีการตรวจประเมินการกลืน เป็นการคัดกรองเบื้องต้นเพื่อดูความสามารถในการกลืน และเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเกี่ยวกับการกลืนที่ปลอดภัย เช่น การกลืนน้ำลาย การกลืนน้ำปริมาณน้อย และการกลืนน้ำปริมาณมาก รวมทั้งควรสังเกตอาการและอาการแสดงอื่นที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการสำลักอาหารเข้าหลอดลม เช่น มีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ สายเสียงปิดไม่สนิท ความสามารถในการไอไม่เพียงพอ สมรรถภาพสมองลดลง หากสงสัยว่ามีการสำลักอาจส่งตรวจเพิ่มเติมโดยการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ต่อไป


การรักษาภาวะกลืนลำบาก

เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในผู้สูงอายุทำให้เกิดภาวะกลืนลำบาก ผู้สูงอายุบางรายอาจมีอาการของภาวะกลืนลำบากเป็นครั้งคราว แต่หากอาการเหล่านี้มีมากจนมีภาวะแทรกซ้อน เช่น น้ำหนักลด มีภาวะขาดอาหารหรือขาดน้ำ รวมทั้งมีภาวะแทรกซ้อนในเรื่องปอดอักเสบ หรือความสามารถในการช่วยเหลือตนเองลดลง ผู้ป่วยเหล่านี้ควรได้รับการประเมินความสามารถในการกลืน รวมทั้งให้การรักษาที่เหมาะสม


เป้าหมายของการรักษาภาวะกลืนลำบาก

  • กลืนอาหารและน้ำได้อย่างปลอดภัย
  • ได้รับอาหารและน้ำอย่างเพียงพอ
  • ป้องกันภาวะปอดอักเสบจากการสำลัก

แนวทางการรักษาภาวะกลืนลำบาก

  1. รักษาโรคที่เป็นสาเหตุของภาวะกลืนลำบาก
  2. ป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากภาวะกลืนลำบาก
  3. รักษาและฟื้นฟูความสามารถในการกลืน
  4. ใช้เทคนิคชดเชยเพิ่มความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการกลืน
  5. ปรับสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการรับประทานอาหารและการกลืนให้เหมาะสมและปลอดภัย

ข้อปฏิบัติเมื่อมีปัญหาเรื่องการกลืน

  1. ต้องมีสมาธิ เวลากินอาหารอย่าทำอะไรหลายๆ อย่างพร้อมกัน เช่น ดูทีวีไปด้วย พูดคุยไปด้วย เพราะผู้สูงอายุต้องใช้เวลาและสมาธิพอสมควรในการเคี้ยวและกลืนอาหาร การที่ทำหลายๆ อย่างพร้อมกันจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการสำลักหรือกลืนติดได้
  2. อย่ารับประทานข้าวคำ น้ำคำ เวลาผู้สูงอายุรับประทานอาหาร อย่ารับประทานข้าวคำ น้ำคำ เพราะลำคอจะปรับสภาพไม่ได้ เช่น เดี๋ยวดื่มน้ำ เดี๋ยวรับประทานข้าว พอปรับสภาพไม่ได้ก็เกิดการสำลักเกิดขึ้น
  3. ปรับสภาพอาหารให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุแต่ละคน ผู้สูงอายุบางคนดื่มน้ำแล้วสำลัก เพราะดื่มเข้าไปแล้วมันลงไปเร็วเกิน พอผู้สูงอายุกลืนไม่ทันก็ไหลลงหลอดลม ดังนั้นจึงควรทำอาหารให้หนืดขึ้น ส่วนเรื่องอุปกรณ์ในการดื่มน้ำ แทนที่จะใช้แบบยกดื่มก็ลองเปลี่ยนเป็นหลอดเล็กๆ ให้ดูด ก็จะลดโอกาสสำลักของผู้สูงอายุได้

หากพบว่าผู้สูงอายุมีอาการรับประทานอาหารไม่ค่อยลง น้ำหนักลด หรือรับประทานอาหารเหลือ เพราะรับประทานอาหารแข็งๆ ไม่ได้ ควรมาพบแพทย์หาสาเหตุ สำหรับอาการสำลัก ส่วนใหญ่จะเป็นน้ำ พอรับประทานน้ำหรืออาหารเหลวๆ แล้วเริ่มไอ ถือเป็นสัญญาณเตือนที่ควรจะมาพบแพทย์เช่นกัน





ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

บทความทางการแพทย์ศูนย์อายุรกรรม, บริการทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย