โรคไข้ซิกา อีกโรคติดเชื้อที่มาจากยุงลายที่ต้องระวัง
ศูนย์ : ศูนย์อายุรกรรม
บทความโดย : พญ. อรพิน เลิศวรรณวิทย์
โรคไข้ซิกา เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซิกา (Zika virus: ZIKV) ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งไวรัสซิกาเป็นอาร์เอ็นเอสายเดี่ยว (single-stranded RNA) อยู่ในตระกูลฟลาวิไวรัส (Flavivirus) จำพวกเดียวกับ ไวรัสไข้เหลือง ไวรัสเดงกี ไวรัสเวสต์ไนล์ และไวรัสไข้สมองอักเสบเจอี โรคนี้ส่วนใหญ่ป่วยแล้วหายเองได้ อาการโรคไม่รุนแรง ยกเว้นผู้ติดเชื้อเป็นหญิงตั้งครรภ์ที่ส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้ ฉะนั้นมาทำความรู้จักโรคไข้ซิกากันดีกว่า พร้อมเรียนรู้วิธีป้องกันจากโรค ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด
สารบัญ
โรคไข้ซิกาแพร่ระบาดได้อย่างไร
การแพร่ระบาดของไวรัสซิกาเกิดจากการโดนยุงลายที่มีเชื้อไวรัสซิกากัดโดยตรง ทำให้ติดเชื้อได้ และช่องทางอื่นๆ ที่อาจเป็นไปได้ เช่น
- การแพร่ผ่านทางเลือด โดยการถ่ายเลือด
- การแพร่จากมารดาสู่ทารกในครรภ์
- การแพร่โดยการติดต่อทางเพสสัมพันธ์กับผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสซิกา
อาการโรคไข้ซิกาเป็นอย่างไร
เมื่อมีการติดเชื้อ จะมีระยะฟักตัวประมาณ 4-7 วัน หลังโดนยุงกัด ซึ่งสามารถแสดงอาการได้เร็วที่สุด 3 วัน และช้าที่สุด 12 วัน โดยคนทั่วไปปกติแล้วอาการเหล่านี้จะเป็นเพียงเล็กน้อย ไม่รุนแรง และเป็นอยู่ประมาณ 2-7 วัน ซึ่งอาการที่พบบ่อย ได้แก่
- ปวดศีรษะ มีไข้ อ่อนเพลีย
- มีผื่นแดงจ้ำขึ้นตามตัว
- เยื่อบุตาอักเสบ ตาแดง
- ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ
- แต่ผู้ติดเชื้อที่เป็นหญิงตั้งครรภ์อาจส่งผลต่อเด็กทารก หรือมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ได้ โดยทารกที่คลอดจากมารดาที่ติดเชื้อไวรัสซิกาจะพบการเกิด ภาวะศีรษะเล็ก (Microcephaly)
- บางรายมีภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท มีอาการอักเสบของเส้นประสาท GBS (Guillain-Barre syndrome)
การวินิจฉัยโรคไข้ซิกา
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ และการตรวจร่างกาย พร้อมกับการตรวจสารพันธุกรรมไวรัสซิกา ด้วยวิธี Real time PCT ได้แก่ ภายใน 7 วัน นับจากวันที่เริ่มป่วยเก็บเลือดและปัสสาวะส่งตรวจ ตั้งแต่ 7 วัน - 1 เดือน นับจากวันเริ่มป่วย หรือไม่ทราบวันเริ่มป่วย ให้เก็บปัสสาวะส่งตรวจ สำหรับทารกศีรษะเล็กและมารดาเก็บเลือดและปัสสาวะ เพื่อตรวจ Real time PCT และส่งตรวจแอนติบอดีต่อไวรัสวิกา ชนิด IgM เพิ่มในตัวอย่างเลือด
การรักษาโรคไข้ซิกา
ปัจจุบันยังไม่มียาหรือวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสซิกาโดยเฉพาะ สำหรับการรักษาผู้ได้รับเชื้อจะรักษาตามอาการ พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ หากต้องใช้ยาลดไข้ หรือยาบรรเทาอาการปวด แนะนำให้ใช้ยาพาราเซตามอล เนื่องจากมีอาการคล้ายคลึงกับไข้เลือดออก อาจจะแยกโรคยากในช่วงแรก จึงมีข้อควรระวังคือ ห้ามรับประทานยาแอสไพรินหรือกลุ่มลดการอักเสบก็ไม่ใช่สเตียรอยด์(NSAIDs) เนื่องจากรบกวนการทำงานของเกล็ดเลือด และเสี่ยงต่อการมีเลือดออกง่าย
หัวใจสำคัญคือการป้องกัน
- สวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว เพื่อป้องกันไม่ให้โดนยุงกัด
- นอนในมุ้ง และทายากันยุง ป้องกันไม่ให้โดนยุงกัน
- การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย หรือ การครอบฝาภาชนะบรรจุน้ำหนาดใหญ่ เช่น โอ่ง กระถางต้นไม้ เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการสะสมของขยะ เก็บขยะในภาชนะที่ปิดสนิท
- ปิดกั้นท่อระบายน้ำเพื่อไม่ให้เกิดน้ำขัง
- หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่ หรือ ประเทศที่มีการระบาด หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนจะเดินทางไปยังประเทศนั้นๆ หรือไปในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ
ทั้งนี้ หากมีอาการไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ หรืออาการที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคไข้ซิกา โดยเฉพาะสตรีตั้งครรภ์ให้เข้าพบแพทย์โดยทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถปรึกษาออนไลน์ได้โดยส่งข้อมูลด้านล่างได้เลย
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์อายุรกรรม