การดูแลเส้นฟอกเลือดที่ใช้สำหรับฟอกเลือดในผู้ป่วยไตเทียม
ศูนย์ : ศูนย์อายุรกรรม, แผนกไตเทียม
บทความโดย : พญ. เศรษฐพร เศรษฐการุณย์
ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ที่เลือกวิธีการรักษาโดยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม จำเป็นต้องมีเส้นที่ใช้ในการฟอกเลือด โดยเส้นฟอกเลือดที่เหมาะสมที่สุด คือ เส้นฟอกเลือดที่แขนชนิดเส้นเลือดจริง (Arteriovenous fistula หรือ AV Fistula) หากทำไม่ได้แนะนำเส้นฟอกเลือดที่แขนชนิดเส้นเลือดเทียม (Arteriovenous graft หรือ AV Graft) และสายสวนหลอดเลือดระยะยาว (Permanent catheter) ตามลำดับ ซึ่งเส้นฟอกเลือดจำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นอย่างดี มิเช่นนั้นจะเกิดการติดเชื้อ ส่งผลให้เส้นเลือดดำในช่องอกตีบ มีอาการบวมได้
เส้นฟอกเลือดคืออะไร?
เส้นฟอกเลือดสำหรับฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม หรือที่เรียกว่า “เส้นฟอกเลือด” (Vascular access) คือเส้นทางเพื่อนำเลือดออกจากร่างกายของผู้ป่วยไปยังตัวกรองเลือดแล้วนำเลือดที่ฟอกแล้วกลับเข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วย จึงมีบางคนเปรียบว่าเส้นฟอกเลือดเป็นเหมือน “เส้นชีวิต” ของผู้ป่วยโรคไตวายระยะสุดท้าย ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะที่ 4 ที่เลือกวิธีการทดแทนไตด้วยการฟอกเลือด จำเป็นต้องพบศัลยแพทย์ที่มีความชำนาญในการทำเส้นฟอกเลือดเพื่อรับการประเมินและดูแลเส้นเลือดดำที่แขนทั้ง 2 ข้าง
คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่ใส่สายฟอกเลือกชั่วคราวที่คอและขาหนีบ
- ระมัดระวังความสะอาดบริเวณผิวหนังรอบสาย และแผลทางออกของสาย (Exit site)
- ระวังไม่ให้แผลเปียกน้ำ ถ้าเปียกต้องรีบมาโรงพยาบาลหรือคลินิกใกล้บ้านเพื่อเปลี่ยนผ้าที่ปิดแผลทันที
- ผู้ป่วยที่ใส่สายที่ขาหนีบ ควรหลีกเลี่ยงการงอที่ต้นขาเพราะอาจจะทำให้สายหักพับงอเกิดลิ่มเลือดอุดตันภายในสายฟอกเลือด
- หากมีอาการเจ็บ ปวด บวม บริเวณผิวหนังรอบสายหรือ ตัวร้อน มีไข้ หรือพบว่าสายเลื่อนหลุดออกมา ควรรีบปรึกษาแพทย์
คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยระยะหลังผ่าตัด ที่ทำการตัดต่อเส้นเลือดที่แขนทั้งชนิดเส้นเลือดจริง (AV Fistula) และเส้นเลือดเทียม (AV Graff)
- ควรสังเกตว่า หลังผ่าตัดมีเลือดออกมากผิดปกติหรือไม่ ถ้าผิวหนังบริเวณผ่าตัดบวมโป่งหรือมีเลือดซึมไม่หยุด ควรปรึกษาแพทย์
- ในช่วงเวลา 7 วันแรกของการผ่าตัด ถ้ามีอาการบวมแดงร้อนกดเจ็บพร้อมกับมีไข้ แผลอาจมีการติดเชื้อ ควรรีบปรึกษาแพทย์
- ควรยกแขนสูงโดยเฉพาะ 2-3 วันแรกหลังผ่าตัด เพื่อป้องกันไม่ให้มีเลือดหรือน้ำเหลืองคั่งใต้ผิวหนังรอบๆ แผลผ่าตัด
- ควรออกกำลังฝ่ามือ แขน โดยวิธีกำลูกเทนนิส หรือ ลูกบอลลูกเล็กๆ เป็นจังหวะ (กำ-เกร็ง-ปล่อย) ประมาณ 400 ครั้ง/วัน
- ระวังอย่าให้แผลที่ผ่าตัดไปกระทบกระแทกของแข็งหรือของมีคม ระวังการทำกิจกรรมต่างๆ ที่อาจส่งผลกดทับเส้นเลือด
- ห้ามเจาะเลือด ห้ามวัดความดัน และห้ามแทงเข็ม เพื่อให้น้ำเกลือหรือยาบริเวณแขนข้างที่ทำการผ่าตัด
การดูแลเส้นฟอกเลือดในช่วงระยะที่ใช้งานแล้ว
- ควรออกกำลังกายฝ่ามือและแขนอย่างน้อย 400 ครั้ง/วัน โดยวิธีกำลูกเทนนิสหรือลุกบอลลูกเล็กๆ เป็นจังหวะ (กำ-เกร็ง-ปล่อย)
- ดูแลแขนข้างที่ทำเส้นให้สะอาดอยู่เสมอ
- ห้ามเจาะเลือด วัดความดัน แทงเข็มให้เลือดหรือยาทางหลอดเลือดแขนข้างที่ทำเส้น
- ไม่นอนทับแขน ไม่งอแขน ไม่ใส่นาฬิกา กำไล แขนข้างที่ทำเส้น
- ไม่ใช้แขนข้างที่ทำเส้นยกของหนัก
- ห้ามแกะ เกา รอยสะเก็ดบริเวณที่แทงเข็ม เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้
- พลาสเตอร์ปิดบริเวณแทงเข็ม ถ้าเปียกน้ำให้เปลี่ยนใหม่ และแกะออกหลังฟอกเลือด 6 ชั่วโมง
- ถ้าเกิดอาการบวมเขียวช้ำบริเวณที่แทงเข็ม 24 ชั่วโมงแรก ให้ประคบด้วยความเย็น หลังจากนั้นประคบด้วยความร้อน
- คลำการสั่นของเส้น (Thrill) ถ้าพบว่าการสั่นเบาลงหรือคลำไม่พบกรุณาพบแพทย์
- กรณีหลังฟอกเลือดพบว่ามีเลือดออกที่รูเข็มที่แทงให้ใช้ผ้าก๊อซหรือผ้าสะอาดกดด้วยน้ำหนักที่พอเหมาะนาน 10 นาที จนกระทั่งเลือดหยุด ถ้านานเกิน 10 นาทีแล้วเลือดไม่หยุด กรุณาโทรปรึกษาแพทย์หรือพยาบาลห้องไตเทียม
- สังเกตลักษณะเส้นเลือดที่ตัดต่อไว้ ถ้าพบว่ามีการบวมแดงร้อนหรือมีหนองบริเวณแนวเส้น ให้รีบมาโรงพยาบาลโดยเร็ว
การออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยที่ทำการตัดต่อเส้นเลือดชนิดเส้นเลือดจริง (AV Fistula) และเส้นเลือดเทียม (AV Graff)
ผู้ป่วยสามารออกกำลังกายได้ตามปกติ เช่น การเดิน การวิ่ง ส่วนการเล่นกีฬาหักโหมและเสี่ยงอันตราย เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล วอลเลย์บอล อาจเป็นอันตรายโดยเฉพาะการออกกำลังกายหลังการฟอกเลือด เนื่องจากมีฤทธิ์ของสารกันเลือด (Heparin) ที่ให้ระหว่างการฟอกเลือด นอกจากนี้ผู้ป่วยที่มักเป็นตะคริวง่าย ไม่ควรว่ายน้ำ
การดูแลรักษาความสะอาดของร่างกายสำหรับผู้ที่ทำการตัดต่อเส้นเลือด
ควรทำความสะอาดร่างกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดการติดเชื้อ โดยเฉพาะการทำความสะอาดหลังการขับถ่าย มิฉะนั้นอาจเกิดปัญหาเรื่องการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้ และควรมีการทำความสะอาดแขนข้างที่ทำเส้นเป็นประจำและสม่ำเสมอ
การรับประทานยาในผู้ป่วยที่ฟอกเลือด
- ในผู้ป่วยบางรายควรงดยาความดันวันที่ฟอกเลือด เนื่องจากขณะฟอกเลือด อาจทำให้มีปัญหาความดันต่ำได้ แต่ในผู้ป่วยบางรายความดันอาจจะสูงในระหว่างฟอกเลือด จึงควรรับประทานตามที่แพทย์สั่งเท่านั้น
- ในผู้ป่วยเบาหวานบางราย ยาฉีดอินซูลินอาจงดในวันฟอกเลือด หรือบางรายอาจฉีดมาวันฟอกเลือด เพื่อป้องกันการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ที่ดูแล
- กรณีเลือดออกที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย มีรอยช้ำง่าย มีประจำเดือน ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อปรับสารกันเลือดแข็งตัว
- ยาธาตุเหล็ก (FBC และ Ferrous Sulfate) ควรรับประทานขณะท้องว่าง เพื่อให้ร่างกายมีการดูดซึมธาตุเหล็กได้ กรณีมีอาการคลื่นไส้อาเจียนควรรับประทานหลังอาหารประมาณ 30 นาที-1 ซม.
- ยาแคลเซียม (Calcium Carbonate-CaCO3) ควรรับประทานพร้อมอาหาร หรือพร้อมอาหารคำแรกหรือหลังอาหารทันทีเพื่อให้จับกับฟอสฟอรัสในทางเดินอาหารได้ดี โดยเคี้ยวยาให้ละเอียดก่อนค่อยๆ กลืน สำหรับ CaCO3 กับยาธาตุเหล็ก ไม่ควรรับประทานพร้อมกันและไม่ควรรับประทานพร้อมนมหรือยาลดกรด จะทำให้ไม่ได้รับประสิทธิภาพที่ได้จากยาทั้ง 2 ชนิด
- การฉีดฮอร์โมนเพิ่มเม็ดเลือด (Erythropoietin หรือ EPO) อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงได้ ดังนั้น จึงควรวัดความดันโลหิตในวันที่ไม่ฟอกเลือด และบันทึกเพื่อแจ้งแพทย์เพื่อปรับยาต่อไป สำหรับการเก็บฮอร์โมนเพิ่มเม็ดเลือด ควรเก็บไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดา และเมื่อนำออกมาจากตู้เย็น ควรแช่น้ำแข็งทุกครั้งเพื่อป้องกันยาเสื่อมคุณภาพ
การผ่าตัดเปลี่ยนไต
ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย จะมีอาการจากภาวะของเสียคั่ง (Uremic Symptom) ร่างกายทรุดโทรมและมีการเปลี่ยนแปลงของสารเคมี หรือเกลือแร่ในร่างกายค่อนข้างมาก ในระยะนี้สภาพร่างกายของผู้ป่วยไม่สามารถทนต่อการผ่าตัดได้ ดังนั้น ผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย ส่วนใหญ่ต้องผ่านขั้นตอนการล้างไต เพื่อเตรียมสภาพร่างกายและเลือดให้ดีก่อนพิจารณาทำการผ่าตัดเปลี่ยนไต ส่วนระยะเวลาที่ต้องล้างไตก่อนการผ่าตัด นานเท่าใด ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย ระดับของเสียในเลือด และความผิดปกติของระดับเกลือแร่ในเลือดของผู้ป่วย
สำหรับผู้ป่วยที่การทำหน้าที่ของไตลดลงมากจนใกล้ถึงไตวายระยะสุดท้าย แต่ระดับของเสียในเลือดไม่มาก ไม่มีอาการจากภาวะคั่งของของเสีย อาจเริ่มเตรียมการผ่าตัดเปลี่ยนไตได้เลย
ทั้งนี้ ขณะรับการรักษาด้วยการล้างไตด้วยการฟอกเลือด ผู้ป่วยหญิงสามารถตั้งครรภ์ได้ แต่พบน้อย เพราะโดยปกติภาวะไตวายและการล้างไตจะมีผลต่อการมีรอบเดือน ทำให้การตั้งครรภ์ยากขึ้น เมื่อตั้งครรภ์แล้วมักเกิดการแท้งบ่อยๆ ความเสี่ยวในการตั้งครรภ์สูง ดังนั้น เมื่อผู้ป่วยมีการตั้งครรภ์ขึ้น จึงจำเป็นต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
บทความทางการแพทย์ศูนย์อายุรกรรม, แผนกไตเทียม