การพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ ปัญหาที่ต้องระวัง
ศูนย์ : ศูนย์อายุรกรรม, บริการทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ
บทความโดย : นพ. ภาณุวัฒก์ ว่องตระกูลเรือง
ความเสื่อมของร่างกายและโรคเรื้อรังต่างๆ ในผู้สูงอายุ ส่งผลให้ร่างกายไม่แข็งแรงและการทรงตัวได้ไม่ดีพอ จึงทำให้เสี่ยงต่อการพลัดตก หกล้มได้ง่ายกว่าวัยอื่นๆ หลายเท่าตัว บางรายอาจมีแค่อาการบาดเจ็บเล็กน้อยหลังหกล้ม แต่บางรายกลับเกิดการบาดเจ็บรุนแรง เช่น กระดูกหัก ภาวะเลือดคั่งในสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต และรุนแรงที่สุดคือเสียชีวิต แต่ปัญหาดังกล่าวสามารถป้องกันและแก้ไขได้หากเข้าใจถึงความเสี่ยงและการดูแลที่เหมาะสม
สารบัญ
อุบัติเหตุในผู้สูงอายุ
อุบัติเหตุการหกล้มในผู้สูงอายุเกิดจากการสูญเสียการทรงตัว เช่น ลื่นล้มในห้องน้ำ การตกเตียง ตกบันได ฯลฯ มักเกิดกับผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ส่งผลให้อวัยวะต่างๆ เช่น แขน ขา ศีรษะ ฯลฯ เกิดการกระแทก และมีอาการบาดเจ็บตามมา เช่น การหักของกระดูกสะโพก ที่พบบ่อยเมื่อเกิดการพลัดตก หกล้มในผู้สูงอายุ เป็นสาเหตุทำให้มีอัตราความพิการ อัมพฤกษ์ อัมพาต และอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง เนื่องจากผู้สูงอายุมักจะมีภาวะกระดูกบางหรือกระดูกพรุน เมื่อหกล้มกระดูกจึงเกิดการแตกหรือหักได้ง่าย และการบาดเจ็บที่ศีรษะ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการเลือดคั่งในสมอง นอกจากการบาดเจ็บแล้ว อุบัติเหตุพลัด ตกหกล้มในผู้สูงอายุยังส่งผลกระทบทางด้านจิตใจ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่เคยหกล้มไปแล้ว จะยิ่งกลัวมากขึ้นจนกังวลและขาดความมั่นใจที่จะเดิน จนเกิดภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุได้
ปัจจัยเสี่ยงการหกล้มในผู้สูงอายุ
ปัจจัยเสี่ยงต่อการพลัดตก หกล้มในผู้สูงอายุ สามารถแบ่งออกเป็น 3 แบบดังนี้
- ปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพร่างกาย และความสามารถที่ลดลง เช่น การมองเห็นไม่ชัด สายตาผิดปกติ เดินเซ เคลื่อนไหวลำบาก มีการรับรู้ที่ช้า โรคประจำตัว หรือโรคเรื้อรัง เช่น เช่น โรคหลอดเลือด โรคพาร์กินสัน รวมทั้งมีการใช้ยาที่เสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม เช่น ยานอนหลับ ยาลดความดันโลหิต ยาต้านอาการซึมเศร้า หรือมีประวัติการใช้ยามากกว่า 4 ชนิดขึ้นไป
- ปัจจัยเสี่ยงทางพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ขาดการออกกำลังกาย เป็นต้น
- ปัจจัยเสี่ยงจากสิ่งแวดล้อม เช่น พื้นบ้าน พื้นบันได พื้นห้องน้ำลื่นหรือมีสิ่งกีดขวาง แสงสว่างไม่เพียงพอ บันไดไม่มีราวจับ ขั้นบันไดที่สูงชันหรือแคบ รองเท้าของผู้สูงอายุที่ไม่เหมาะสม ไม่สามารถยึดเกาะพื้นได้ดี เป็นต้น
แนวทางป้องกันพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ
แม้ว่าปัญหาอุบัติเหตุการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุจะเกิดขึ้นได้บ่อย แต่ปัญหาเหล่านี้สามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น หรือเสี่ยงที่จะเกิดน้อยลงได้ 7 แนวทาง ดังนี้
- ฝึกการเดิน การทรงตัว และออกกำลังกาย เพื่อเพิ่มความแข็งแรง ของกล้ามเนื้อ เช่น ท่ายืนเขย่งปลายเท้าสลับยืนบนส้นเท้า ทำสลับกัน 10 ครั้ง ท่ายืนงอเข่า ทำสลับกันข้างละ 10 ครั้ง และท่านั่งเหยียดขา ทำสลับกันข้างละ 10 ครั้ง เป็นต้น
- ควรเปลี่ยนท่าช้าๆ เพื่อป้องกันภาวะความดันตกในท่ายืน หน้ามืด วิงเวียน ขณะลุกนั่งหรือยืนทุกครั้ง
- หากการเดินหรือทรงตัวไม่มั่นคง ควรใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน เช่น ไม้เท้า โครงเหล็กช่วยเดิน เป็นต้น
- สวมใส่เสื้อผ้า รองเท้าที่มีขนาดพอดี รองเท้าควรเป็นรองเท้าส้นเตี้ย ขอบมน มีหน้ากว้าง และเป็นแบบหุ้มส้น พื้นรองเท้าควรมีดอกยาง ไม่ลื่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่จำเป็น และปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง
- คนในครอบครัว หรือผู้ดูแลใกล้ชิด หมั่นสังเกตอาการและความผิดปกติทางด้านการรับรู้ เช่น สับสน หลงลืมเกี่ยวกับ วัน เวลา สถานที่ และบุคคล หรือการตอบสนองได้ช้าลงหรือไม่
- ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวควรเข้ารับการประเมินความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม เช่น เช็คความผิดปกติของการมองเห็น ความผิดปกติของการเดิน การทรงตัว เป็นต้น รวมทั้งปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ เพื่อขอรับคำแนะนำ เกี่ยวกับ การใช้ยา ความผิดปกติในการมองเห็น การเดิน การทรงตัวและการเคลื่อนไหว
ออกแบบบ้านเพื่อป้องกันการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ
พักอาศัย และการออกแบบทางด้านสถาปัตยกรรมสิ่งแวดล้อมต่างๆ มีส่วนช่วยในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุได้ ฉะนั้น เราต้องหมั่นคอยประเมินสภาพบ้านที่อยู่อาศัย ทั้งในบ้านและบริเวณบ้าน ปรับสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัยกับการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุ เพื่อลดความเสี่ยงเหล่านี้ ได้แก่
- ผู้สูงอายุควรอยู่บ้านชั้นเดียว กรณีบ้าน 2 ชั้น ควรจัดให้ผู้สูงอายุอยู่ชั้นล่าง
- มีราวจับหรือราวช่วยพยุงตัวภายในบ้าน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 เซนติเมตร
- มีแสงสว่างเพียงพอ สวิทซ์ไฟควรอยู่สูงจากพื้น 120 เซนติเมตร และปลั๊กไฟสูงระหว่าง 35 - 90 เซนติเมตร
- พื้นเรียบเสมอกัน ไม่ลื่น ไม่ควรมีธรณีประตู ไม่มีสิ่งกีดขวางบริเวณทางเดิน และจัดวางสิ่งของในบ้านให้เป็นระเบียบ
- ลูกบิดหรือมือจับประตูเป็นแบบก้านโยก สูงจากพื้น 100 - 120 เซนติเมตร สำหรับบันไดบ้าน (ถ้ามี) ลูกตั้งควรสูงไม่เกิน 15 เซนติเมตร ลูกนอนความกว้าง ไม่น้อยกว่า 28 เซนติเมตร และมีราวจับสูงจากพื้น 80 เซนติเมตร
นพ.ภาณุวัฒก์ ว่องตระกูลเรือง
อายุรศาสตร์ผู้สูงอายุ
บริการทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์อายุรกรรม, บริการทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ