ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ คือ ภาวะที่ต่อมไทรอยด์ทำงานมากกว่าปกติ ทำให้มีปริมาณฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ในกระแสเลือดสูง และเกิดอาการต่างๆ เช่น เหนื่อยง่าย ใจสั่น น้ำหนักลด ร้อนง่าย หงุดหงิด ถ่ายอุจจาระบ่อย นอนไม่หลับ ฯลฯ บางรายอาจมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับการทำงานของหัวใจร่วมด้วย
วิธีการรักษามีการรักษาได้ 3 วิธี คือ
- การกินยาเม็ดต้านฤทธิ์ไทรอยด์
- การผ่าตัด
- การให้ไอโอดีนรังสี
การรักษาต่อมไทรอยด์เป็นพิษด้วยไอโอดีนรังสี
การรักษาต่อมไทรอยด์เป็นพิษด้วยไอโอดีนรังสี-131 (I 131)ในประเทศไทยเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2500 นับเป็นวิธีการรักษาด้วยสารกัมมันตรังสีที่ได้รับการยอมรับ และแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่การรักษาต่อมไทรอยด์เป็นพิษ มักเริ่มด้วยการให้ยาเม็ดต้านฤทธิ์ไทรอยด์ ซึ่งจะเห็นผลการรักษาได้ค่อนข้างเร็ว ส่วนการรักษาด้วยไอโอดีนรังสีแม้ว่าจะได้ผลช้ากว่า แต่ก็มีข้อดีหลายประการ เช่น ราคาไม่แพง มีความปลอดภัย สามารถบริหารได้แม้กระทั่งในผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้อาหารทะเล
ไอโอดีนรังสี เป็นสารกัมมันตรังสีในรูปของน้ำใส ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส การให้ไอโอดีนรังสีแก่ผู้ป่วยทำได้สะดวก โดยการกิน ไอโอดีนรังสีถูกดูดซึมได้ดี และเข้าไปสะสมอยู่ในต่อมไทรอยด์ได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากเซลล์ของต่อมไทรอยด์ไม่สามารถแยกไอโอดีนรังสีออกจากไอโอดีนธรรมชาติ ดังนั้น จึงนำไอโอดีนรังสีเข้าสู่ขบวนการสร้างฮอร์โมนในต่อมไทรอยด์
รังสีเบตาที่ใช้ในการรักษา ซึ่งได้จากการสลายตัวของไอโอดีนรังสีจะเดินทางเป็นระยะทางสั้นๆ น้อยกว่า 2 มม. ทำให้ออกฤทธิ์เฉพาะต่อต่อมไทรอยด์โดยไม่มีผลต่อเนื้อเยื่อปกติที่อยู่ข้างเคียง รังสีจะมีผลทำให้ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยลง ระดับฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์จึงลดต่ำลง
ขั้นตอนการรักษาด้วยไอโอดีนรังสี
ถ้าท่านยังคงได้รับการรักษาด้วยยาต้านฤทธิ์ไทรอยด์อยู่ แพทย์จะให้ท่านหยุดยาอย่างน้อย 4-7 วัน ก่อนมาตรวจความสามารถในการจับไอโอดีนรังสีของต่อมไทรอยด์ โดยจะให้ท่านทานไอโอดีนรังสีปริมาณน้อยๆ และนัดให้มาตรวจด้วยเครื่องนับวัดรังสีแกมมาขนาดเล็กในวันรุ่งขึ้น ถ้าผลการตรวจแสดงว่าต่อมไทรอยด์สามารถจับรังสีได้ดี แพทย์จะให้ท่านทานไอโอดีนรังสีในขนาดรักษา รวมระยะเวลาในการตรวจรักษา 2 วันในผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจให้เริ่มทานยาต้านฤทธิ์ไทรอยด์ที่ 1 สัปดาห์หลังได้รับการรักษาด้วยไอโอดีนรังสี
ปัญหาภายหลังการรักษา
- ภาวะขาดฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ อาจเป็นผลจากภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ซึ่งไอโอดีนรังสีอาจเร่งให้เกิดเร็วขึ้น
- ผู้ป่วยบางรายอาจรู้สึกเจ็บตึงที่บริเวณต่อมไทรอยด์ในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังรักษา ซึ่งอาการจะหายได้เอง หรือท่านสามารถทานยาแก้ปวดเพื่อลดอาการได้
- มีอาการไทรอยด์เป็นพิษรุนแรงขึ้นในช่วง 1-2 สัปดาห์หลังรักษา แต่มีโอกาสเกิดน้อย
- ไอโอดีนรังสีไม่ทำให้เป็นหมัน และไม่ทำให้เกิดความผิดปกติ แต่กำเนิดในบุตรที่เกิดหลังจากบิดา/มารดาได้รับการรักษาด้วยไอโอดีนรังสี
การปฏิบัติตัวภายหลังได้รับไอโอดีนรังสี
โปรดรำลึกเสมอว่า ขณะนี้ในตัวท่านมีรังสีอยู่ แม้ว่าจะมีปริมาณไม่มากนักก็ตาม ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยต่อบุคคลข้างเคียง ท่านควรปฏิบัติตัวดังนี้
รักษาในช่วงสัปดาห์แรกหลังรักษา
- หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับสตรีมีครรภ์ทารกและเด็กเล็ก
- ควรแยกเตียงนอนเพียงลำพัง
- ไม่ควรชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์หรือรับประทานอาหารในภัตตาคาร
- ไม่ควรเดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง ถ้าต้องใช้เวลาเดินทางนานกว่า 2 ชั่วโมง
- ภายหลังการรักษาด้วยไอโอดีนรังสี ไม่จำเป็นต้องหยุดงานยกเว้นในบางกรณี
- ควรแยกใช้ภาชนะในการรับประทานอาหารจากบุคคลอื่นๆ ในครอบครัว
การมีบุตรในผู้ป่วยวัยเจริญพันธุ์ ภายหลังได้รับการรักษาด้วยไอโอดีนรังสีควรคุมกำเนิดเป็นเวลาอย่างน้อย 4 เดือน
การตอบสนองต่อไอโอดีนรังสี อาจแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละรายผู้ป่วยบางราย อาจทานไอโอดีนรังสีเพียงครั้งเดียว โรคก็หายหรือบางรายอาจต้องทานมากกว่า 1 ครั้ง ภายหลังการรักษาด้วยไอโอดีนรังสี แพทย์จะนัดผู้ป่วยมาตรวจเพื่อดูผลการรักษาควรมาตรวจตามนัด เพื่อประโยชน์ต่อตัวท่านเอง
การตรวจติดตามผล เมื่อไอโอดีนรังสีรักษาโรคของท่านจนอาการต่างๆ หายแล้วก็ตาม ท่านควรมาพบแพทย์อย่างน้อยปีละครั้ง เพราะในระยะยาวแล้วต่อมไทรอยด์ของผู้ป่วยบางรายอาจทำงานน้อยลง ทำให้ระดับฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ในกระแสเลือดลดต่ำกว่าปกติ แพทย์สามารถตรวจวินิจฉัย และให้การรักษาภาวะที่มีการขาดฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของตัวท่าน
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญต่อผลการรักษาอย่างหนึ่ง คือ “สุขภาพใจ” ควรทำจิตใจให้แจ่มใสร่าเริง พักผ่อนให้มาก อย่าเครียดหรือวิตกกังวล เพราะความเครียด อาจมีผลให้อาการของโรคเป็นมากขึ้น หรือกลับมามีอาการเดิมอีกได้
บทความทางการแพทย์ศูนย์อายุรกรรม