ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะบ่อย ปวดหน่วง ส่องกล้องกระเพาะปัสสาวะตรวจหาต้นตอ รักษาได้
ศูนย์ : ศูนย์ศัลยกรรม
บทความโดย : นพ. นำชัย มานะบริบูรณ์
คุณมีอาการดังต่อไปนี้หรือไม่?
- ปัสสาวะเป็นเลือด
- ติดเชื้อเรื้อรังทางเดินปัสสาวะ
- ปัสสาวะบ่อยและปวดหน่วงเวลาถ่ายปัสสาวะ
ผู้ป่วยที่มีอาการปัสสาวะเป็นเลือด กระเพาะปัสสาวะอักเสบบ่อยเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง ปัสสาวะบ่อยมากผิดสังเกตหรือปวดหน่วงมากเวลาถ่ายปัสสาวะ ซึ่งอาการทั้งหลายเหล่านี้ที่เกิดขึ้นถือเป็น สัญญาณเตือนของร่างกายเราถึงภาวะผิดปกติทั้งจากโรคร้ายแรงและไม่ร้ายแรง ซึ่งถ้าตรวจพบอย่าง รวดเร็วจะสามารถทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ดังนั้นหากพบภาวะดังกล่าวควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย บางครั้งแพทย์ศัลยกรรมทางเดินปัสสาวะอาจจำเป็นต้องหาต้นตอ โดยการส่องกล้องกระเพาะปัสสาวะ (Cystoscopy) เพื่อดูลักษณะเยื่อบุและสิ่งผิดปกติภายในท่อปัสสาวะ และกระเพาะปัสสาวะ เพื่อช่วยในการวินิจฉัยในผู้ป่วยแต่ละรายได้แม่นยำขึ้น
สารบัญ
ปัสสาวะเป็นเลือดเป็นอย่างไร
ปัสสาวะเป็นเลือด ผู้ป่วยจะมีสีน้ำปัสสาวะเปลี่ยนไปเป็นสีแดง ชมพู หรือดำคล้ำคล้ายสีโค้ก และอาจมีอาการอื่นๆ ของปัสสาวะเป็นเลือดร่วมด้วย เช่น ปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น แต่ในบางรายอาจไม่มีอาการได้
สาเหตุที่ปัสสาวะเป็นเลือด
สาเหตุของการมีปัสสาวะเป็นเลือด อาจเกิดจากการที่มีรอยโรคใน เนื้อไต กรวยไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ ต่อมลูกหมากในผู้ชายและ ท่อปัสสาวะ ที่ทำให้มีอาการปัสสาวะเป็นเลือด เช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ กรวยไตอักเสบ โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ นิ่วในทางเดินปัสสาวะ ต่อมลูกหมากโต การได้รับบาดเจ็บบริเวณทางเดินปัสสาวะ โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ โรคไต โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ หรือโรคมะเร็งไต มะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น
ปัจจัยเสี่ยงปัสสาวะเป็นเลือด
- อายุที่มากขึ้น โดยมักพบในผู้ชายที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป จะมีความเสี่ยงต่อโรคต่อมลูกหมากโตสูงที่ทำให้เกิดอาการปัสสาวะเป็นเลือด
- การติดเชื้อทางระบบปัสสาวะ
- การใช้สารเสพติดบางชนิด
- การสูบบุหรี่ ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อกรเกิดมะเร็งในระบบทางเดินปัสสาวะ
- การเล่นกีฬาที่มีการปะทะกัน หรือ การวิ่งมาราธอน
การตรวจวินิจฉัยอาการปัสสาวะเป็นเลือด
นอกจากการซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียดแล้ว แพทย์อาจจะตรวจพิเศษ อื่น ๆ เช่น การตรวจปัสสาวะ และการเพาะเชื้อในปัสสาวะ การตรวจเลือดเพื่อตรวจหาการติดเชื้อที่ทำให้มีอาการปัสสาวะเป็นเลือด การทำอัลตราซาวด์ หรือ CT Scan รวมไปถึง การส่องกล้องกระเพาะปัสสาวะ (Cystoscopy) เพื่อดูลักษณะเยื่อบุและสิ่งผิดปกติภายในท่อปัสสาวะ และกระเพาะปัสสาวะ
การส่องกล้องกระเพาะปัสสาวะเป็นอย่างไร
การส่องกล้องกระเพาะปัสสาวะ (Cystoscopy) เป็นหัตถการเพื่อตรวจเยื่อบุภายในกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะ ด้วยการสอดผ่านท่อปัสสาวะเข้าไปยังกระเพาะปัสสาวะ ทำให้แพทย์สามารถมองเห็นเนื้อเยื่อที่อยู่ในกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะได้ โดยการส่องกล้องนี้จะใช้เครื่องมือที่เรียกว่า ซิสโตสโคป (Cystoscope) ซึ่งเป็นท่อยาวที่มีกล้องและไฟอยู่ที่ปลายท่อ เครื่องมือนี้มีทั้งแบบที่ยืดหยุ่น (Flexible Cystoscope) และแบบตรง (Rigid Cystoscope) ทั้งสองแบบจะมีช่องพิเศษที่สามารถใส่อุปกรณ์ชิ้นเล็ก เพื่อเข้าไปทำหัตถการภายใน เพื่อวินิจฉัย ติดตามและรักษาโรคหรือความผิดปกติของท่อปัสสาวะ และกระเพาะปัสสาวะได้อย่างชัดเจน
ประเภทของกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะ
กล้องซิสโตสโคป (Cystoscope) สามารถแบ่งได้ 2 แบบ ได้แก่
- กล้องซิสโตสโคปแบบอ่อนหรือแบบยืดหยุ่น (Flexible Cystoscope) เป็นกล้องส่องขนาดเล็ก ความหนาประมาณแท่งดินสอสอดผ่านทางท่อปัสสาวะ เข้าไปภายในกระเพาะปัสสาวะ เนื่องจากกล้องส่องแบบนี้มีลำกล้องที่อ่อน จึงผ่านไปตามส่วนโค้งของท่อปัสสาวะได้ง่ายส่วนปลายของกล้องสามารถขยับได้ จึงช่วยให้แพทย์สามารถตรวจดูภายในกระเพาะปัสสาวะได้โดยรอบและมองเห็นรูเปิดของท่อไตได้ รวมถึงสังเกตสีน้ำปัสสาวะที่ออกมาจากไตทั้ง 2 ข้าง
- กล้องซิสโตสโคปแบบแข็งหรือแบบตรง (Rigid Cystoscope) เป็นกล้องส่องที่มีขนาดสั้นกว่าและหนากว่ากล้องแบบอ่อนจึงสามารถสอดอุปกรณ์ต่างๆ เข้าไปตามช่องด้านข้างตัวกล้องได้ช่วยให้แพทย์สามารถตัดตัวอย่างเนื้อเยื่อหรือฉีดยาเข้าไปภายในกระเพาะปัสสาวะได้ บางครั้งอาจจำเป็นต้องมีการส่องกล้องซิสโตสโคปแบบแข็งภายหลังการส่องกล้องแบบอ่อนแล้ว
ทำไมต้องส่องกล้องกระเพาะปัสสาวะ
เมื่อมีข้อบ่งชี้สงสัย หรือมีอาการในความผิดปกติของกระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ แพทย์จะใช้การส่องกล้องกระเพาะปัสสาวะเพื่อช่วยในตรวจการวินิจฉัยโรค หรือหาสาเหตุของอาการต่างๆ อาทิ
- ตรวจหาสาเหตุของอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น เช่น ปัสสาวะมีเลือดปน กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะแสบขัด กระปริดกระปรอย ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน และอาการปวดขณะปัสสาวะ รวมถึงหาสาเหตุของการติดเชื้อบ่อยๆ ในระบบทางเดินปัสสาวะ
- วินิจฉัยโรคและภาวะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะ เช่น นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ตรวจว่ามีรูรั่วของกระเพาะปัสสาวะหรือท่อปัสสาวะ (fistula) ตรวจประเมินการบาดเจ็บต่อกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะ
- วินิจฉัยภาวะต่อมลูกหมากโตหรือท่อปัสสาวะตีบในผู้ชาย ซึ่งการส่องกล้องจะช่วยให้แพทย์มองเห็นการตีบแคบของท่อปัสสาวะซึ่งเป็นผลมาจากการเบียดทับของต่อมลูกหมากที่โตขึ้น หรือการตีบของท่อปัสสาวะที่เกิดจากพังผืดได้
- ส่องกล้องกระเพาะปัสสาวะตรวจและวินิจฉัยโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ รวมถึงใช้ติดตามรักษาหลังการส่องกล้องผ่าตัดไปแล้ว
- ส่องกล้องกระเพาะปัสสาวะรักษาเนื้องอกขนาดเล็กในกระเพาะปัสสาวะ โดยการนำชิ้นเนื้อไปตรวจวินิจฉัย
การเตรียมตัวก่อนทำการส่องกล้อง
- รับประทานยาประจำได้ตามปกติ ยกเว้นยาในกลุ่มยาละลายลิ่มเลือดหรือยาต้านเกร็ดเลือด ให้หยุดรับประทานก่อนส่องตรวจ เช่น แอสไพริน และวาฟาร์ริน เป็นต้น โดยจำนวนวันก็หยุดก่อนการส่องกล้องซึ่งเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์
- แจ้งแพทย์และพยาบาลให้ทราบ หากมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ
- แจ้งประวัติการแพ้ยา หรือเคยได้รับยาละลายลิ่มเลือดและยาต้านเกร็ดเลือ
- ผู้ป่วยอาจได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากการส่องกล้อง
- ผู้ป่วยบางรายอาจมีการส่งตรวจปัสสาวะก่อนเข้ารับการส่องกล้อง เพื่อประเมินการทำงานของไตและวางแผนการรักษา
- ถ่ายปัสสาวะก่อนเข้าห้องส่องตรวจเพื่อดูจำนวนปัสสาวะเหลือค้าง และให้กระเพาะปัสสาวะว่างสามารถลดความรู้สึกปวดถ่ายปัสสาวะขณะแพทย์ส่องตรวจลงได้
- แพทย์อาจให้ดมยาสลบหรือให้ยาชาเฉพาะที่ ทาบริเวณท่อปัสสาวะขึ้นอยู่กับชนิดของกล้องที่ใช้ วัตถุประสงค์ของการตรวจ และดุลยพินิจของแพทย์
ขั้นตอนการส่องกล้องกระเพาะปัสสาวะ
แพทย์จะสอดเครื่องมือที่มีลักษณะเป็นท่อยาวขนาดเล็ก เรียกว่า ซิสโตสโคป (Cystoscope) ผ่านท่อปัสสาวะเข้าไปยังกระเพาะปัสสาวะที่ปลายท่อจะมีกล้องที่ทำหน้าที่ขยายภาพพร้อมไฟส่อง โดยแพทย์จะใช้น้ำเกลือหรือสารละลายปลอดเชื้อเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะเพื่อให้โป่งออกและสามารถเห็นภาพภายในได้อย่างชัดเจน ผู้ป่วยอาจจะรู้สึกแสบและปวดเล็กน้อย จะรู้สึกอยากถ่ายปัสสาวะอยู่ตลอดเวลา แต่ต้องรอจนกว่าการตรวจจะแล้วเสร็จ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 5-15 นาที
โดยระหว่างการส่องกล้องกระเพาะปัสสาวะ แพทย์อาจตัดชิ้นเนื้อในกระเพาะปัสสาวะออกมาส่งตรวจทางพยาธิวิทยาหรือทำหัตถการอื่นๆ เพิ่มเติมได้
การปฏิบัติตัวภายหลังส่องกล้องกระเพาะปัสสาวะ
หลังจากส่องกล้องกระเพาะปัสสาวะเสร็จสิ้นแล้ว ผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ และควรดื่มน้ำให้มากเพื่อลดการระคายเคืองในท่อปัสสาวะ
ทั้งนี้การส่องกล้องกระเพาะปัสสาวะ เป็นโปรแกรมการตรวจและรักษาที่มีความเสี่ยงต่ำและภาวะแทรกซ้อนน้อย แต่ผู้ป่วยอาจมีความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนได้บ้าง อาทิ
- อาการแสบขัด ปวดบริเวณท่อปัสสาวะ ปัสสาวะมีสีแดงจางๆ และปัสสาวะบ่อย ซึ่งอาการเหล่านี้ถือเป็นอาการปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งจะหายได้เองภายใน 2-3 วัน
- อาจมีอาการปวดหน่วงๆ ในช่องท้อง ในช่วง 1-2 วันหลังการส่องกล้อง
- สำหรับอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่เกิดขึ้นได้น้อยมาก และควรมาพบแพทย์ ได้แก่ มีอาการปวดและแสบขัดมากขึ้น ร่วมกับมีปัสสาวะออกเป็นลิ่มเลือด หรือปัสสาวะไม่ออก และมีไข้สูง
ดังนั้น ควรหมั่นสังเกตลักษณะของปัสสาวะ และอาการทางระบบทางเดินปัสสาวะที่อาจเกี่ยวข้อง หากพบปัญหา มีอาการ หรือสงสัยว่าจะเป็นโรคในระบบทางเดินปัสสาวะ อย่างนิ่งนอนใจ ควรรีบมาพบแพทย์ตรวจหาสาเหตุที่ชัดเจน หากมีความผิดปกติจะได้สามารถแก้ไขตั้งแต่เนิ่นๆ ได้
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์ศัลยกรรม