การหลงลืม เรื่องปกติของผู้สูงอายุ ใช่หรือไม่

ศูนย์ : บริการทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ, ศูนย์อายุรกรรม

บทความโดย : นพ. ภาณุวัฒก์ ว่องตระกูลเรือง

ผู้สูงอายุจำลูกหลานไม่ได้ ลืมว่าทำอะไรไปแล้วบ้าง ลืมว่าวางของที่ใช้เป็นประจำไว้ตรงไหน จำไม่ได้เลยว่ามีเหตุการณ์นั้นๆ เกิดขึ้น อาการแบบนี้ใช่ “อัลไซเมอร์” หรือเปล่า อะไรเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะหลงลืม มีผลกระทบอย่างไร ต้องดูแลผู้สูงอายุอย่างไร ไปหาคำตอบกันกับ นพ. ภาณุวัฒก์ ว่องตระกูลเรือง แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์ผู้สูงอายุ


การหลงลืม เรื่องปกติของผู้สูงอายุใช่หรือไม่

การหลงลืมในผู้สูงอายุ เป็นได้ทั้งแบบที่ปกติและไม่ปกติ

  1. การหลงลืมแบบปกติ – เนื่องจากการทำอะไรหลายอย่างในเวลาเดียวกัน (Multitasking) ผู้สูงอายุจะทำได้ไม่ดีเท่าคนวัยหนุ่มสาว และด้วยช่วงวัยจึงทำให้สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างช้าลง (Slow processing speed) คิดได้ช้า ทำได้ช้า เพราะฉะนั้น เมื่อเราถามคำถามกับผู้สูงอายุ อาจจะใช้เวลาในการคิดนาน แต่ถ้าหากเขาสามารถตอบได้ จริงๆ ก็คือภาวะปกติ ที่มีการทำงานช้าลง แต่ไม่ใช่ภาวะหลงลืม
  2. การหลงลืมแบบผิดปกติ เกิดได้จากหลายสาเหตุ แบ่งได้เป็น
    • สาเหตุที่ไม่เกี่ยวข้องกับสมอง ปัจจัยทางเรื่องอารมณ์มักมีผลอย่างมาก ผู้สูงอายุบางคนมีภาวะซึมเศร้า ภาวะวิตกกังวล ทำให้เสียสมาธิ จนเป็นเหตุให้ลืมนั่นลืมนี่ได้
    • สาเหตุที่เกี่ยวข้องกับสมอง ที่เจอบ่อยที่สุดก็คือกลุ่ม อัลไซเมอร์ กลุ่มที่เกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต กลุ่มที่ขาดวิตามินต่างๆ หรือผู้ที่มีการติดเชื้อต่างๆ ในสมอง

สัญญาณเตือนภาวะอัลไซเมอร์

สัญญาณเตือนที่บ่งบอกได้บ่อยที่สุด และเจอได้บ่อยที่สุดในผู้ป่วยสมองเสื่อม ก็คือมักจจะมีอาการหลงลืมเกี่ยวกับเรื่องความจำ ความจำในระยะสั้น เช่น เมื่อเช้าทานอะไรจำไม่ได้ ลืมปิดน้ำ ปิดไฟ ปิดแก๊ส ลืมของวางทิ้งไว้แล้วนึกไม่ออกว่าอยู่ตรงไหน แล้วคนกลุ่มนี้จะมีการแต่งเติม เช่น ทำของหายแล้วเริ่มโทษว่าลูกขโมยไป แต่จริงๆ ตัวเองอาจจะลืมไปเอง ซึ่งการแต่งเติมเข้าไป เป็นภาวะปกติของกลุ่มที่เป็นภาวะอัลไซเมอร์


ผลกระทบจากการหลงลืมของผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุมักจะไม่ค่อยรู้ตัวเรื่องหลงลืม ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ดูแล หรือ Caregiver มากกว่า เนื่องจากผู้สูงอายุกลุ่มนี้จะเริ่มมีภาวะพึ่งพิงมากขึ้น หลงลืมความจำ และความสามารถในการจัดการต่างๆ เช่น

  • เริ่มจัดยาผิดจัดยาถูก หรือกินยาไม่ค่อยถูก
  • การทำงานบ้านที่เคยทำได้ เริ่มทำไม่ได้
  • การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มือถือ ไอแพด สมาร์ทโฟนต่างๆ เริ่มใช้ไม่ได้
  • สูญเสียการจัดการทางการเงิน ต้องให้ผู้อื่นเข้ามาช่วย ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการถูกมิจฉาชีพหลอกลวงได้

หลงลืมแบบไหนที่ผู้สูงอายุควรพบแพทย์

ประเด็นการหลงลืมของผู้สูงอายุ คือ ผู้สูงอายุมักไม่รู้ตัว อยากให้ญาติหรือผู้ดูแลประเมินอย่างนี้นะครับ หากเทียบเมื่อ 10 ปีที่แล้วกับปัจจุบัน ผู้สูงวัยที่อยู่ในบ้านของเรา มีอาการต่างๆ เหล่านี้หรือไม่

  • ภาวะสมองเปลี่ยนแปลง ความจำเขาเปลี่ยนไป
  • การแก้ไขปัญหาเปลี่ยนแปลงไป
  • การจัดการทางการเงิน การดูแลตนเองเปลี่ยนไป

ถ้าหากดูเปลี่ยนไป หรือค่อยๆ แย่ลง นั่นเป็นสัญญาณเตือนที่จะต้องมาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ


การดูแลผู้สูงอายุที่หลงลืม

เราจะให้ยึดการดูแลกิจวัตรประจำวันเป็นหลัก สิ่งเหล่านี้ที่ผู้สูงอายุเป็น ไม่ใช่เป็นการแกล้งกัน ผู้ดูแลจำเป็นที่จะต้องเข้าใจผู้สูงอายุมากๆ เนื่องจากเวลาที่เขาลืม คือเขาลืมจริงๆ บางครั้งที่เราสอนไป ให้เหตุผลไปแล้ว ผู้สูงอายุเขาก็จะลืมอีก เราก็ต้องสอนใหม่ สอนใหม่ไปเรื่อยๆ ไม่ควรไปหงุดหงิดหรือทะเลาะกับผู้สูงอายุ เพราะอาการเหล่านี้เป็นธรรมชาติของคนที่เป็นโรคนี้

โรคนี้มันจะเป็นภาวะที่เสื่อมลงเรื่อยๆ และพฤติกรรมจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ในแต่ละคน จะต้องมีการปรับตามบุคลิก ดูตามว่าผู้สูงอายุแต่ละคนนั้นอยู่ในระยะไหน มีสมองส่วนไหนเสียหาย แต่ละบุคลิก หรือนิสัยของแต่ละคน ก็จะมีการรับมือที่ไม่เหมือนกัน เหมือนการเลี้ยงลูก การดูแลผู้สูงอายุ เราก็ต้องปรับเป็นรายบุคคลไป ซึ่งต้องใช้ประสบการณ์ ความเข้าใจ และกาดูแลเอาใจใส่


ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

บทความทางการแพทย์บริการทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ, ศูนย์อายุรกรรม

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย