โรคมะเร็ง เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย แต่ก็มีผู้ป่วยมะเร็งหลายคนมีอาการดีขึ้น และมีโรคมะเร็งหลายชนิดที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ รวมไปถึงมีผู้รอดชีวิตจากโรคมะเร็งจำนวนมาก จากการเข้ามารับการตรวจโรคมะเร็ง หรือตรวจคัดกรองโรคมะเร็งตั้งแต่เนิ่น ๆ บวกกับความก้าวหน้าของเครื่องมือในการตรวจโรคมะเร็งต่าง ๆ เช่น สารบ่งชี้มะเร็ง การตรวจยีน เป็นต้น ซึ่งหากตรวจพบได้ไว และเข้าสู่กระบวนการรักษาเร็ว ก็มีโอกาสสูงในการรักษาให้หายขาด ลดอัตราการเสียชีวิตได้
สารบัญ
ใครบ้างควรตรวจโรคมะเร็ง (ตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง)
1. กลุ่มความเสี่ยงสูง เป็นกลุ่มที่ควรตรวจมากที่สุด เช่น
1.1 มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งมากกว่า 1 รุ่น โดยเฉพาะโรคมะเร็งชนิดเดียวกัน หรือเป็นมะเร็งตั้งแต่อายุน้อย
1.2 ผู้ที่มีอายุ 45-50 ปีขึ้นไป เนื่องจากโรคมะเร็งเป็นโรคที่พบบ่อยในช่วงวัยดังกล่าว ตัวอย่างมะเร็งที่พบบ่อยและควรคัดกรอง ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ มะเร็งต่อมลูกหมาก
1.3 ผู้ที่มีประวัติสัมผัสสารก่อมะเร็ง เช่น
- สูบบุหรี่เป็นประจำ
- อาชีพที่สัมผัสมลพิษ สารเคมีเป็นประจำ
- มีโรคประจำตัวบางอย่าง ได้แก่ โรคไวรัสตับอักเสบ โรคตับแข็ง
- มีเพศสัมพันธ์แบบเสี่ยงที่ไม่ได้ป้องกัน
2. กลุ่มความเสี่ยงทั่วไป แม้ไม่มีประวัติครอบครัวเรื่องโรคมะเร็ง ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ทุกคนก็เสี่ยงต่อการเกิดโรงมะเร็งได้ การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งในผู้ที่มีความเสี่ยงปกติ โดยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย เพื่อค้นหาความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงดังกล่าวและตรวจคัดกรองตามคำแนะนำของสมาคมมะเร้ง โดยเป้นการตรวจคัดกรองตามช่วงวัยที่เหมาะสม อย่างไรก็ตามผู้ป่วยสามารถพูดคุยปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองเพิ่มเติมภายหลังจากทราบข้อดี ข้อเสียของการตรวจแต่ละชนิด
ตรวจโรคมะเร็งไม่ยุ่งยาก ทำได้หลายวิธี
- ตรวจโรคมะเร็ง หาสารบ่งชี้มะเร็ง (Tumor Marker)
ตรวจคัดกรองโรคมะเร็งหาสารบ่งชี้มะเร็ง (Tumor Marker) เป็น การตรวจสารชีวโมเลกุลที่ถูกสร้างจากเซลล์มะเร็งเอง และหลั่งออกมาในกระแสเลือดหรือสารคัดหลั่งอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ปัสสาวะ น้ำในช่องปอด น้ำในไขสันหลังหรือเนื้อเยื่อมะเร็งของผู้ป่วยรายนั้นๆ มักตรวจโรคมะเร็งเพื่อหาแนวโน้มหรือความเสี่ยงที่อาจจะเป็นมะเร็ง การตรวจด้วยวิธีจะเป็นการตรวจจากเลือด ที่ช่วยวินิจฉัยโรคมะเร็งบางชนิด โดยต้องพิจารณาร่วมไปกับประวัติ การตรวจร่างกาย การตรวจทางห้องปฏิบัติการ และการตรวจทางการแพทย์อื่นๆ ร่วมด้วย โดยสารบ่งชี้มะเร็ง (tumor marker) ที่ตรวจได้ เช่น
- AFP สารบ่งชี้มะเร็งตับ
- CEA สารบ่งชี้มะเร็งลำไส้ใหญ่
- PSA สารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก
- CA-15-3 สารบ่งชี้มะเร็งเต้านม
- CA125 สารบ่งชี้มะเร็งรังไข่
- ตรวจโรคมะเร็ง ด้วยการตรวจยีนวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมมะเร็ง
การตรวจคัดกรองหาความเสี่ยงโรคมะเร็งจากยีน หรือ พันธุกรรม ถือว่าเป็นการตรวจหาความผิดปกติชิงรุกของยีนในร่างกายลงลึกถึงระดับดีเอ็นเอ สามารถตรวจหาความเปลี่ยนแปลงหรือการกลายพันธุ์ของยีนได้อย่างแม่นยำ สามารถวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมของยีน 61 ยีน ที่สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งต่างๆ เช่น ยีน BRCA1, BRCA2 ที่สัมพันธ์กับโรคมะเร็งเต้านมและ มะเร็งรังไข่ ยีน APC ที่สัมพันธ์กับโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น จะใช้วิธีการเก็บเซลล์จากกระพุ้งแก้ม หรือตรวจจากเลือด
โดยสามารถหาความเสี่ยงจากมะเร็งชนิดที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ถึง 10 ชนิด ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ มะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งรังไข่ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งไต มะเร็งไทรอยด์ และมะเร็งโพรงมดลูก
- ตรวจโรคมะเร็ง (ตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง) โดยเครื่องมือพิเศษขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง
เป็นการตรวจโรคมะเร็งด้วยเครื่องมือพิเศษหรือการตรวจพิเศษที่ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง เช่น
- การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ Low-Dose CT (Low-Dose Computerized Tomography) โดยใช้ในการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดตั้งแต่เริ่มต้น ช่วยให้แพทย์พบจุดหรือก้อนเนื้อที่อยู่ในปอดได้ แม้จุดในปอดนั้นเล็กเกินกว่าที่จะมองเห็นด้วยการเอกซเรย์ธรรมดา
- การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) เป็นการตรวจโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งหากพบว่ามีก้อนเนื้องอก แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้องอกนั้นมาวินิจฉัยว่าเป็นก้อนมะเร็งหรือไม่
- การส่องกล้องระบบทางเดินอาหารส่วนต้น (Gastroscopy) หรือการส่องกล้องกระเพาะอาหาร เพื่อทำการตรวจประเมินรอยโรคภายในกระเพาะอาหาร หากตรวจพบสิ่งผิดปกติหรือสิ่งที่น่าสงสัยสามารถตัดชิ้นเนื้อเพื่อนำไปตรวจสอบทำให้สามารถวินิจฉัยมะเร็งกระเพาะในระยะแรกได้
- การตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรม (Mammogram) เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการตรวจโรคมะเร็งเต้านม ทำในผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 35 ปี โดยสามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่มได้
- ตรวจโรคมะเร็ง ด้วยตัวบ่งชี้ทางชีวภาพสำหรับโรคมะเร็ง (Cancer Biomarker)
การตรวจตัวบ่งชี้ทางชีวภาพสำหรับโรคมะเร็ง (Cancer Biomarker) เป็นการตรวจเพื่อดูการดำเนินของโรคมะเร็ง สามารถบอกได้ว่าผู้ป่วยมะเร็งรายใดมีความเสี่ยงสูง หรือต่ำ จากสารพันธุกรรม ดีเอ็นเอ (DNA) อาร์เอ็นเอ (RNA) หรือโปรตีนที่มีการกลายพันธุ์ และ/หรือมีการแสดงออกในเซลล์มะเร็งที่มากกว่าเซลล์ปกติ เพื่อช่วยวินิจฉัยโรคในระยะเริ่มต้น ทั้งนี้ผู้ป่วยมะเร็งอาจจะไม่จำเป็นต้องตรวจทุกราย และควรปรึกษาแพทย์ผู้ให้การรักษาก่อนตรวจทุกครั้ง
การตรวจโรคมะเร็ง ในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงหรือมีความกังวลว่าจะเป็นมะเร็งนั้นนับว่ามีความสำคัญอันดับแรก ที่จะช่วยป้องกันการเกิดโรค ขณะเดียวกันหากตรวจพบมะเร็งระยะเริ่มแรก ทำให้การรักษาเป็นไปได้อย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ และทันท่วงที อย่างไรก็ตามสามารถพูดคุยปรึกษาแพทย์ได้ที่รพ. หรือสามารถปรึกษาแพทย์ออนไลน์ได้
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์มะเร็ง