บริเวณจุดเสี่ยงที่ต้องระวัง เมื่อมีผู้สูงอายุในบ้าน
ศูนย์ : ศูนย์อายุรกรรม, บริการทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ
บทความโดย : นพ. ภาณุวัฒก์ ว่องตระกูลเรือง
ครอบครัวที่มีผู้สูงอายุอยู่ภายในบ้านจะต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิด เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายก็ค่อยๆ เสื่อมถอยลง สายตาพร่ามัว มีปัญหาโรคกระดูกและข้อ ทำให้การทรงตัวและการเคลื่อนไหวที่ไม่มั่นคง ส่งผลให้การใช้ชีวิตของผู้สูงอายุในทุกอิริยาบถเป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้น ปัจจัยด้านร่างกายเหล่านี้ของผู้สูงอายุทำให้หกล้มได้ง่าย ทำให้ต้องคอยระวังสิ่งเล็กๆ น้อยๆ รอบตัว เพราะอุบัติเหตุอาจเกิดขึ้นได้ทุกที่และตลอดเวลา
จุดเสี่ยง! ภายในบ้าน ที่อาจทำให้ผู้สูงอายุได้รับอันตราย
บ้านที่มีผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยอาศัยอยู่ด้วย ยิ่งต้องเพิ่มความปลอดภัยมากเป็นพิเศษ เราจึงได้รวบรวมจุดอันตรายในบ้านที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ และบริเวณไหนบ้างที่เราควรระวังกัน
- พื้นบ้าน อุบัติเหตุส่วนใหญ่ของผู้สูงอายุเกิดจากการลื่นหกล้ม สาเหตุมาจากพื้นบ้านที่ลื่น มันวาว จุดนี้จะเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุในบ้านได้ ควรเลือกพื้นกระเบื้องที่ไม่ลื่น ไม่มันวาว พื้นต้องมีความหนืด หากมีน้ำหกลงพื้นอย่าปล่อยทิ้งไว้เด็ดขาดให้รีบหาผ้ามาเช็ดทำความสะอาดทันที รวมไปถึงการมีพื้นบ้านต่างระดับ การจัดวางของที่ไม่เป็นระเบียบ เพราะฉะนั้นควรจัดวางของอย่างเป็นระเบียบ จะได้มีพื้นที่ในการเดินได้อย่างไม่มีสะดุด
- ห้องน้ำ อีกหนึ่งจุดเสี่ยงที่ผู้สูงอายุเกิดอุบัติเหตุ เพราะพื้นห้องน้ำเปียกอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้เสี่ยงต่อการลื่นล้ม นอกจากการเลือกพื้นกระเบื้องที่ไม่ลื่นแล้ว แนะนำให้แบ่งโซนห้องน้ำเป็น 2 โซน คือโซนเปียกและโซนแห้ง แนะนำให้ทำพื้นที่เรียบเสมอกันไม่มีพื้นต่างระดับ ประตูห้องน้ำควรเป็นแบบเลื่อนง่ายต่อการเปิดปิด ติดราวจับเอาไว้ในห้องน้ำเพื่อให้ผู้สูงอายุเอาไว้พยุงเดินจะได้ไม่เกิดการลื่นล้ม
- บันได หากห้องนอนของผู้สูงอายุอยู่ชั้น 2 หรือต้องเดินขึ้นลงบันไดอยู่ตลอดเวลา บันไดควรติดยางกันลื่นที่ขอบบันไดเพื่อกันลื่น ปิดมุมแหลมคมๆ ของบันได และมีราวจับบันไดทุกขั้น เพิ่มแสงสว่างบริเวณบันไดหรือติดสติ๊กเกอร์เรืองแสงไว้ที่ขั้นบันไดหรือพื้นที่ต่างระดับให้มองเห็นได้ชัด แต่ควรจัดห้องนอนผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยไว้ชั้นล่างเพื่อสะดวกในใช้ชีวิตและไม่จำเป็นต้องขึ้นบันได เพื่อลดความเสี่ยงที่ผู้สูงอายุเกิดอุบัติเหตุพลัดตกหกล้มได้
- พื้นห้องครัว ห้องครัวเป็นบริเวณบ้านที่ผู้สูงอายุจะเข้าไปบ่อย เป็นพื้นที่สำหรับประกอบอาหาร ทำให้พื้นกระเบื้องมีความมันและเสี่ยงต่อเกิดลื่นล้มได้ง่าย หรืออุบัติเหตุที่ร้ายแรงได้ เพราะฉะนั้นควรหมั่นทำความสะอาดคราบมันบริเวณพื้นกระเบื้องให้สะอาด ที่สำคัญควรเก็บของมีคมให้อยู่ในระยะที่ปลอดภัยเช่นกัน
- เครื่องใช้ไฟฟ้าหรือสายไฟ เครื่องไฟฟ้าที่ใช้ในบ้านควรเลือกที่ได้รับมาตรฐาน ในบริเวณที่มีเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือสายไฟ มีความเสี่ยงไฟฟ้าลัดวงจรได้ ควรตรวจเช็คสภาพอุปกรณ์ หมั่นสังเกตว่าปลั๊กไฟไม่มีรอยขาดหรือชำรุดอย่างสม่ำเสมอ และถอดปลั๊กไฟทุกครั้งหลังจากใช้งานเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ภายในบ้านควรติดตั้งระบบตัดไฟฉุกเฉิน และติดตั้งสายดินเพื่อป้องกันอันตรายจากไฟฟ้ารั่ว
- บริเวณที่ใช้บานกระจกใสขนาดใหญ่ ทั้งในส่วนของประตูบานเลื่อน ประตูบานเปิด ช่องแสงขนาดใหญ่ และฉากกั้นที่เป็นกระจกใสในห้องน้ำ ควรหลีกเลี่ยงการใช้บานกระจกใสขนาดใหญ่ เนื่องจากผู้สูงอายุที่สายตาไม่ดีหรือพร่ามัวเข้าใจผิดคิดว่าเป็นพื้นที่โล่งและอาจเดินชนได้ หากมีควรติดแผ่นพลาสติก หรือสติกเกอร์แบบขุ่น แบบลวดลายที่สามารถมองเห็นได้ง่ายเพิ่มเติมเข้าไป
- บ่อน้ำหรือสระว่ายน้ำ หากมีบ่อน้ำหรือสระว่ายน้ำบริเวณบ้าน ควรติดตั้งอุปกรณ์หรือราวกันตกในบริเวณทางเดินหรือทางสัญจรที่อยู่ใกล้กับบ่อน้ำหรือสระว่ายน้ำ เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุพลัดตกลงไปได้
- พื้นที่รอบบ้าน ควรมีการดูแลจัดการพื้นที่รอบๆ บ้าน ให้เอื้อต่อการสัญจรไปมาของผู้สูงอายุ เช่น ทางเข้าบ้านควรมีระดับเดียวกับพื้นภายนอก พื้นทางเดินเรียบสม่ำเสมอ ทำจากวัสดุที่ไม่ลื่นเมื่อเปียกน้ำหรือฝน มีแสงสว่างรอบบ้านและตามทางเดินเพียงพอ และหากพื้นมีความต่างระดับกันเกิน 2 เซนติเมตร ควรทำทางลาดระหว่างพื้นที่ต่างระดับ เป็นต้น
การจัดสภาพแวดล้อมรอบตัวผู้สูงอายุให้มีความปลอดภัย และเอื้อต่อการดำเนินชีวิตประจำวันจะมีส่วนช่วยลดความเสี่ยง หรือป้องกันการเกิดอุบัติเหตุการลื่นล้ม หรือพลัดตกหกล้มที่อาจทำให้ผู้สูงอายุบาดเจ็บ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิตได้
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์อายุรกรรม, บริการทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ