ภาวะหมดไฟในผู้ดูแลผู้สูงอายุ ปัญหาที่ต้องรีบแก้ไข
ศูนย์ : ศูนย์อายุรกรรม, บริการทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ
บทความโดย : นพ. ภาณุวัฒก์ ว่องตระกูลเรือง
คุณรู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนแรง อ่อนเพลียอยู่ตลอดเวลาหรือเปล่า รู้สึกเป็นคนอกตัญญูไม่ยอมดูแลพ่อแม่ ไม่อดทน และ รู้สึกเหมือนกำลังรับผิดชอบทุกสิ่งทุกอย่างอยู่เพียงคนเดียวอยู่หรือเปล่า หากมีอาการเหล่านี้คุณอาจจะกำลังเผชิญภาวะหมดไฟในผู้ดูแลผู้สูงอายุ (caregiver burnout) อยู่ก็ได้ อาจเป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญว่ากำลังต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งก็อาจจะถึงเวลาที่ควรจะดูแล และแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน
ภาวะหมดไฟในผู้ดูแลผู้สูงอายุเป็นอย่างไร
ภาวะหมดไฟในผู้ดูแลผู้สูงอายุ (caregiver burnout) เป็นภาวะที่ร่างกายเกิดความเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย และมีภาวะเครียดจากการให้การดูแลต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน จนทำให้ไม่สามารถดูแลให้ออกมาดีได้ เริ่มส่งผลกระทบต่อตัวผู้ให้การดูแลเองด้านร่างกาย จิตใจ สังคม เกิดภาวะเหนื่อยล้าจนทำให้การดูแลตนเองลดลง เกิดปัญหาเรื่องการนอน นอนไม่หลับ เกิดความเครียด ความวิตกกังวล เป็นโรคซึมเศร้าได้มากขึ้น และมักทำให้มองการให้การดูแลจากด้านบวกเป็นด้านลบ
ปัจจัยที่เสี่ยงเกิดภาวะเหนื่อยล้าของผู้ดูแลผู้สูงอายุ
- ระดับความรุนแรงของภาวะทุพพลภาพ และความสามารถในการช่วยเหลือตนเองของผู้สูงอายุ
- ปัญหาสุขภาพของตัวผู้ดูแลเอง
- แหล่งให้ความช่วยเหลืออื่นๆ
- บทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบด้านอื่นๆ ของผู้ดูแล
อาการที่บ่งบอกว่ากำลังจะหมดไฟในการดูแล
ภาวะหมดไฟจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจของผู้ดูแล จนทำให้ไม่สามารถดูแลผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาการบ่งชี้ของภาวะหมดไฟในผู้ดูแลผู้สูงอายุ ได้แก่
- มีอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย พักผ่อนเท่าไหร่ก็ไม่เพียงพอ
- นอนน้อย หรือ นอนเยอะมากขึ้นกว่าปกติ
- มีอาการปวดหลัง หรือปวดศีรษะเรื้อรัง
- เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน
- รู้สึกเครียดและวิตกกังวลตลอดเวลา
- รู้สึกเหมือนกำลังรับผิดชอบทุกสิ่งทุกอย่างอยู่เพียงคนเดียว
- กิจวัตรประจำวันช่างยุ่งเหยิง และวุ่นวายสับสนไปหมด
- ไม่มีเวลาได้ออกไปข้างนอก เข้าสังคม หรือทำธุระส่วนตัว
- ไม่มีสมาธิจดจำสิ่งต่างๆ หลงลืมแม้แต่สิ่งสำคัญ
- หงุดหงิดกับทุกสิ่งอยู่ตลอดเวลา
แนวทางการรับมือภาวะหมดไฟในการดูแลผู้สูงอายุ
- ผู้ดูแลต้องมีความรู้ในการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งจะช่วยลดความเครียดและความกังวลในการดูแลได้ โดยควรถามจากแพทย์ จากผู้มีประสบการณ์ หรือ อ่านหนังสือเพิ่มเติม เพราะการที่เรามีความเข้าใจธรรมชาติ หรือโรคที่ผู้สูงอายุเป็นจะทำให้เรามีความกังวลน้อยลง
- ผู้ดูแลต้องพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยในหนึ่งวันควรมีเวลานอนให้ได้ 7-8 ชั่วโมง และในหนึ่งอาทิตย์ควรมีวันหยุด 1 วันเป็นอย่างน้อย โดยแจ้งคนในครอบครัว หากไม่มีใครสะดวก ก็ควรจ้างผู้ดูแลมืออาชีพเข้าไปช่วย
- ไม่ควรเก็บอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดจากการดูแลผู้สูงอายุไว้แต่เพียงผู้เดียว
- ใช้เวลาดูแลผู้สูงอายุสลับกับการทำกิจกรรมที่ชอบหรือทำแล้วรู้สึกผ่อนคลาย เช่น ดูโทรทัศน์ อ่านหนังสือ ฟังเพลง ช้อปปิ้ง ฯลฯ หรือใช้เวลาร่วมกับครอบครัวและเพื่อนฝูงบ้าง เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะจำเจที่กระตุ้นให้เกิดความเครียด
- หมั่นรายงานความเป็นไปของอาการ รวมทั้งปรึกษาและระบายปัญหาให้ญาติพี่น้องทุกคนรับรู้เสมอ เพื่อให้เกิดความเห็นอกเห็นใจและมีความเข้าใจอันดีต่อกัน
- แบ่งหน้าที่ด้านต่างๆ ให้คนอื่นในครอบครัวได้มีส่วนรับผิดชอบร่วมกัน เช่น ภาระค่าใช้จ่ายในบ้าน การทำความสะอาดบ้าน หรือหน้าที่พาผู้สูงอายุมาโรงพยาบาล
นอกจากการบรรเทาความเครียดแล้ว ต้องดูแลรักษาสุขภาพกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ และก็ต้องหมั่นเติมกำลังใจซึ่งกันและกันทั้งผู้ดูแล คนในครอบครอบ และผู้สูงอายุ ก็จะลดปัญหาภาวะหมดไฟในการดูแลผู้สูงอายุลงไปได้
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์อายุรกรรม, บริการทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ