มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ พบมากเป็นอันดับ 6 ของมะเร็งที่พบบ่อยในผู้ชาย
ศูนย์ : ศูนย์มะเร็ง
มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยสุดในกลุ่มของมะเร็งทางเดินปัสสาวะ และพบได้มากเป็นอันดับ 6 ของโรคมะเร็งที่พบบ่อยในผู้ชายรองจากโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก สามารถพบเกิดได้ในทุกเพศทุกวัยแต่ส่วนใหญ่จะพบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 3-4 เท่า และพบได้มากในช่วงอายุ 50-70 ปี โดยสาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมาพบแพทย์ด้วยเรื่องปัสสาวะเป็นเลือด และส่วนใหญ่มักไม่มีอาการปวดร่วมด้วย บางรายมีปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะขัดร่วมด้วย ถ้าผู้ป่วยมาด้วยเรื่องปัสสาวะมีเลือดปนจะต้องรีบทำการสืบค้นหาสาเหตุที่แท้จริง หากตรวจพบโรคได้เร็วก็จะมีโอกาสหายได้มาก
มะเร็งกระเพาะปัสสาวะเกิดจากสาเหตุใด
มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ (Bladder cancer) เป็น โรคที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในกระเพาะปัสสาวะที่มีการเจริญเติบโต แบ่งตัวเพื่อเพิ่มจำนวนเซลล์อย่างรวดเร็วและมากผิดปกติจนกลายเป็นก้อนเนื้องอกขึ้นมา และก้อนเนื้องอกนี้สามารถเจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จากนั้นจะลุกลามไปยังอวัยวะและต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง และแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดไปยังอวัยวะอื่นได้
โดยสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้องทำให้เกิดมะเร็ง ได้แก่
- การสูบบุหรี่หรือได้รับควันบุหรี่ เนื่องจากควันบุหรี่มีสารก่อมะเร็งที่สามารถดูดซึมสู่กระแสเลือด และขับถ่ายออกทางกระเพาะปัสสาวะได้ การสูบบุหรี่จึงทำให้กระเพาะปัสสาวะสัมผัสกับสารก่อมะเร็งโดยตรง
- การได้รับสารเคมีที่อันตรายบางชนิด เช่น สารอะนีลิน หรือไฮโดรคาร์บอน เช่น สีย้อมผ้า น้ำยาย้อมผ้า อุตสาหกรรมเสื้อผ้า
- การได้ยาเคมีบำบัด เช่น Cyclophosphamide (ไซโคลฟอสฟาไมด์)
- การติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะแบบเรื้อรัง เช่น นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
- การติดเชื้อพยาธิ schistosomiasis
อาการของมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
- ปัสสาวะเป็นเลือด โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มาพบแพทย์ด้วยอาการนี้ และอาจมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ โดยไม่มีอาการปวดอื่นๆ ร่วมด้วย หรือบางรายอาจมีเพียงอาการเลือดหยดออกมาตอนปัสสาวะสุด
- บางครั้งอาจมีอาการคล้ายกระเพาะปัสสาวะอักเสบ คือ ปัสสาวะบ่อย แสบ หรือขัดเนื่องจากเลือดที่ออกมาจับเป็นลิ่มในกระเพาะปัสสาวะ
- หากเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะในระยะลุกลามแล้ว ผู้ป่วยมักมีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง อาจคลำได้ก้อนที่บริเวณหัวหน่าว และมีอาการแสดงของภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้แก่
- ภาวะซีด ปวดหลัง หรือเกิดโรคไตเรื้อรัง หรือภาวะไตวาย ซึ่งเกิดจากการลุกลามของโรคมะเร็งไปอุดตันท่อไต
- เมื่อก้อนมะเร็งไปกดเบียดทับลำไส้ใหญ่ จะเกิดอาการท้องผูก
- เมื่อโรคแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง จะคลำต่อมน้ำเหลืองได้ที่ขาหนีบหรือเหนือไหปลาร้า
- เมื่อโรคแพร่กระจายไปที่ปอด จะมีอาการไอ หายใจลำบาก
- เมื่อโรคแพร่กระจายไปที่กระดูก จะมีอาการปวดกระดูก
การตรวจวินิจฉัยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
เบื้องต้นแพทย์ซักประวัติและตรวจร่างกาย พร้อมเก็บปัสสาวะตรวจทางห้องปฏิบัติการ และเมื่อพบเม็ดเลือดหรือเซลล์มะเร็งปนอยู่ แพทย์จะทำการส่งตรวจพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติม ได้แก่
- การส่องกล้องเพื่อตรวจกระเพาะปัสสาวะ (Cystoscopy) เป็นการตรวจที่สำคัญที่สุดในการวินิจฉัยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ที่สามารถตรวจหาตำแหน่ง ขนาด จำนวน และรูปร่างของเนื้องอก โดยทั่วไปการตรวจมักบอกได้ค่อนข้างแน่ชัดว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ และในกรณีสงสัยแพทย์จะตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคมะเร็ง
- บางรายอาจมีการตรวจหาเซลล์มะเร็งในน้ำปัสสาวะ (Urine cytology) การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) อก/ช่องท้อง และการตรวจ PEI-CT เพื่อดูว่ามีการกระจายของมะเร็งไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายหรือไม่
ระยะของโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
ระยะของโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะมีความสำคัญในการพิจารณาเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม โดยแบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่
- ระยะที่ 1
- ระยะที่ 2 มะเร็งมีการลุกลามเข้าสู่ชั้นกล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะ
- ระยะที่ 3 มะเร็งมีการลุกลามไปยังชั้นไขมันรอบกระเพาะปัสสาวะหรือต่อมน้ำเหลืองในเชิงกราน
- ระยะที่ 4 มะเร็งมีการกระจายไปยังอวัยวะข้างเคียง ต่อมน้ำเหลืองนอกเชิงกราน หรืออวัยวะอื่นๆ
การรักษาโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
การรักษาจะขึ้นอยู่กับระยะของโรค โดยแนวทางการรักษาได้แก่
- การรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะระยะไม่ลุกลาม จะรักษาด้วยการส่องกล้องผ่าตัดทางท่อปัสสาวะ โดยตัดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะออกได้หมด นอกจากนี้ยังมีการใส่ยาเคมีบำบัด หรือยาที่ป้องกันการกลับมาเป็นช้ำของโรค หลังการตัดชิ้นเนื้อออก
- การรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะระยะลุกลาม ไปถึงผนังกระเพาะปัสสาวะและอวัยวะข้างเคียง การรักษาจะเป็นการผ่าตัดเอากระเพาะปัสสาวะพร้อมกับอวัยวะข้างเคียงส่วนที่มีโรคลุกลามออกไปจนหมดร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัดหลังการผ่าตัด ทั้งนี้แพทย์จะนำเอาบางส่วนของลำไส้มาดัดแปลงเป็นกระเพาะปัสสาวะให้ใหม่ ซึ่งผู้ป่วยจะยังคงถ่ายปัสสาวะทางท่อปัสสาวะได้ตามปกติ แต่บางรายจำเป็นต้องมีปัสสาวะออกทางปลายลำไส้ที่นำมาเปิดออกทางหน้าท้อง โดยขึ้นอยู่กับระยะของโรคและสภาวะการทำงานของไตของผู้ป่วย
- การรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะโดยการให้เคมีบำบัด ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) ยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) และการใช้รังสีรักษา ขึ้นอยู่กับระยะของโรค ปัจจัยของผู้ป่วยและการตรวจตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ
มะเร็งกระเพาะปัสสาวะป้องกันได้อย่างไร
สามารถป้องกันการเกิดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะได้ ด้วยการหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ โดยเฉพาะการสูบบุหรี่ก่อนนอน เพราะจะมีการคั่งค้างขอสารก่อมะเร็งอยู่ในกระเพาะปัสสาวะเป็นเวลานาน และหากปฏิบัติงานในโรงงานอุตสาหกรรมสี สายไฟฟ้า และพลาสติก ควรระวังขณะรับประทานอาหาร เพราะสีอาจติดมือปะปนอยู่ในอาหารได้ ฉะนั้นจึงควรล้างมือให้ สะอาดก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง
ทั้งนี้ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะตั้งแต่ยังไม่มีอาการ หากมีอาการผิดปกติ โดยเฉพาะเมื่อมีเลือดปนออกมากับปัสสาวะ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาแต่เนิ่น ๆ
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์มะเร็ง