รู้หรือไม่ตรวจมะเร็ง แค่เลือดก็สามารถหาสารบ่งชี้มะเร็งได้
ศูนย์ : ศูนย์มะเร็ง
มะเร็ง เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย และแน่นอนว่าไม่มีใครอยากเป็นโรคมะเร็ง เราสามารถตรวจมะเร็งโดยการตรวจเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็ง หรือที่เรียกว่า Tumor Marker เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้พบความเสี่ยงของโรคได้ตั้งแต่ยังไม่แสดงอาการ โดยมะเร็งแต่ละชนิดและระยะความรุนแรงโรคจะมีความจำเพาะกับสารบ่งชี้ที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม สารบ่งชี้มะเร็งมีข้อจำกัดในการแปลผลค่อนข้างมาก ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทำการตรวจทุกครั้ง
สารบัญ
ตรวจมะเร็ง สารบ่งชี้มะเร็ง (Tumor Marker) คืออะไร
สารบ่งชี้มะเร็ง Tumor Marker คือ สารชีวโมเลกุลที่ถูกสร้างจากเซลล์มะเร็งเอง และหลั่งออกมาในกระแสเลือดหรือสารคัดหลั่งอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ปัสสาวะ น้ำในช่องปอด น้ำในไขสันหลังหรือเนื้อเยื่อมะเร็งของผู้ป่วยรายนั้นๆ มักตรวจมะเร็งเพื่อหาแนวโน้มหรือความเสี่ยงที่อาจจะเป็นมะเร็ง มักตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งก่อนการรักษา ในช่วงระหว่างการรักษา ตรวจเพื่อติดตามการรักษา และบางครั้งตรวจเพื่อดูการกำเริบของโรคมะเร็งหลังการรักษาเสร็จสิ้นไปนานแล้ว โดยแนวโน้มของระดับสารบ่งชี้มะเร็งที่เพิ่มขี้นหรือลดลง มีส่วนสำคัญในการพิจารณาการตอบสนองต่อการรักษา หรือการกำเริบของโรคมะเร็งแก่
ข้อควรรู้เกี่ยวกับสารบ่งชี้มะเร็ง (Tumor Maker)
- โรคมะเร็งบางชนิด ก็ไม่สามารถทำการตรวจสารบ่งชี้มะเร็งได้
- ระดับสารบ่งชี้ Tumor Maker บางชนิดอาจพบว่ามีค่าสูงได้ในโรคบางชนิด แต่ไม่ใช่มะเร็ง เช่น ภาวะอักเสบหรือติดเชื้อ
- มะเร็งหลายชนิด สามารถสร้างสารบ่งชี้มะเร็ง Tumor Marker ที่เหมือนกันได้
- อาจตรวจพบระดับ Tumor marker ในปริมาณต่ำ ๆ ได้ในคนปกติ และ/หรือ ผู้ป่วยที่มีการอักเสบ และ/หรือ มีพยาธิสภาพอื่นๆ ที่ไม่ใช่มะเร็ง
- การตรวจพบระดับ Tumor marker สูงกว่าปกติเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถบอกได้ว่าผู้ป่วยรายนั้นเป็นมะเร็งอย่างแน่นอน แต่จำเป็นต้องพิจารณาร่วมไปกับผลการตรวจทางคลินิกและผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ และจำเป็นต้องมีการตรวจซ้ำเป็นระยะเพื่อดูระดับของสารบ่งชี้มะเร็งดังกล่าวมีแนวโน้มเป็นเช่นไร หากตรวจซ้ำแล้วพบว่ามีระดับสูงขึ้น จะเป็นข้อบ่งชี้ให้สงสัยว่าเป็นโรคมะเร็งมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าตรวจซ้ำแล้วระดับลดลง อาจบ่งชี้ว่าผู้ป่วยไม่ได้เป็นโรคมะเร็ง
ประโยชน์ของการตรวจสารบ่งชี้มะเร็งในทางการแพทย์
- ช่วยวินิจฉัยโรคมะเร็งบางชนิด โดยต้องพิจารณาร่วมไปกับประวัติ การตรวจร่างกาย การตรวจทางห้องปฏิบัติการ และการตรวจทางการแพทย์อื่นๆ ร่วมด้วย ซึ่งจะมีสารบ่งชี้มะเร็งบางชนิดเท่านั้นที่ช่วยในการวินิจฉัยโรคมะเร็ง เช่น การพบ Alpha-fetoprotein (AFP) ที่สูง และมะเร็งตับในบริเวณที่มีการระบาดของไวรัสตับอักเสบบี ถึงแม้ว่าไม่มีผลการตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยาเพื่อยืนยันว่าเป็นมะเร็ง ก็สามารถวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งชนิดดังกล่าวได้
- ช่วยคัดกรองโรคมะเร็งบางชนิดในคนที่มีความเสี่ยงสูง โดยปัจจุบันนี้มีสารบ่งชี้มะเร็งเพียง 2 ชนิดท่านั้นที่สามารถคัดกรองได้ ได้แก่ Alpha-fetoprotein (AFP) เพื่อตรวจคัดกรองภาวะมะเร็งตับ และ Prostate Specific Antigen (PSA) เพื่อตรวจกรองภาวะมะเร็งต่อมลูกหมาก
- การพยากรณ์โรค โดยสามารถบอกความรุนแรงของโรค ระยะของโรคและเป็นตัวช่วยในการเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม
- ติดตามการรักษาโรค ค่าของสารบ่งชี้มะเร็งที่ลดลงหลังการรักษา สามารถบอกถึงการตอบสนองต่อการรักษาหรือการหายของโรค
- การสืบค้นโอกาสที่โรคจะเป็นซ้ำและการกระจายของโรค การตรวจติดตามสารบ่งชี้แล้วพบค่าที่เพิ่มขึ้นหลังจากที่อยู่ในเกณฑ์ปกติหลังการรักษา เป็นสิ่งบ่งชี้ว่ามีโอกาสที่โรคจะเป็นซ้ำและลุกลามได้อีก
ตรวจมะเร็ง โดยสารบ่งชี้มะเร็ง (tumor marker) ที่ตรวจมีอะไรบ้าง
- CA19-9 สารบ่งชี้มะเร็งตับอ่อน มะเร็งตับอ่อน มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งถุงน้ำดี หรือค่าสูงจากภาวะโรคอย่างอื่น เช่น ตับอ่อนอักเสบ ตับแข็ง นิ่วในถุงน้ำดี ถุงน้ำดีอักเสบ
- AFP (Alpha-Fetoprotein) สารบ่งชี้มะเร็งตับ มะเร็งลูกอัณฑะ
- CEA (Carcinormbryonic Antigen) สารบ่งชี้มะเร็งลำไส้ใหญ่ (CEA)
- HCG (Human Chorionic Gonadotropin) สารบ่งชี้มะเร็งมดลูก
- CA-15-3 สารบ่งชี้มะเร็งเต้านม โดยเฉพาะมะเร็งเต้านมที่แพร่กระจายแล้ว
- Free PSA สารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก และควรตรวจกับ Total PSA
- CA125 สารบ่งชี้มะเร็งรังไข่
- PIVKA-II & AFP (GAAD Score) การตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งชนิดใหม่ ด้วยการตรวจโปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า พิฟก้าทู (PIVKA-II) ที่มีความถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น โดยตรวจพร้อมกับ AFP (Alpha-Fetoprotein) โดยจะนำค่า PIVKA-II และ AFP ร่วมกับเพศ และอายุมาคำนวณค่า GAAD Score เพื่อช่วยในการวินิจฉัยมะเร็งเซลล์ตับ Hepatocellular carcinoma (HCC)
- Total PSA เป็นการตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก โดยตรวจโปรตีน PSA (Prostate-Specific Antigen) ที่มักจะเพิ่มสูงกว่าปกติในผู้ที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก
การตรวจมะเร็งโดยการตรวจเลือดหาสารบ่งชี้มะเร็งอาจมีความแม่นยำไม่สูงมากนัก แต่สามารถช่วยแพทย์ในการตรวจหามะเร็งบางกรณีได้ หากพบมีการเปลี่ยนแปลงระดับต่อเนื่องในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง หรืออาจใช้ช่วยติดตามการรักษา หรือบอกการพยากรณ์โรคได้ ทั้งนี้การป้องกันก่อนการเกิดโรคมะเร็งโดยหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ การตรวจทางร่างกายประจำปีและตรวจเลือดหาสารบ่งชี้มะเร็ง (Tumor marker) ตามคำแนะนำและความเสี่ยง รวมทั้งการตรวจพิเศษต่างๆ เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคในระยะแรกมีบทบาทสำคัญซึ่งช่วยให้แพทย์รักษาได้อย่างรวดเร็วและอาจมีผลต่อการหายขาดจากโรคมะเร็งได้
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์มะเร็ง